วันเสาร์, กันยายน 21, 2024
spot_img
หน้าแรกNEWSท่องเที่ยวฟื้นหนุนรายได้ธุรกิจโรงแรมปีนี้แตะ 9 แสนล้าน-แนะ 3 แนวทางรับมือการแข่งขัน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ท่องเที่ยวฟื้นหนุนรายได้ธุรกิจโรงแรมปีนี้แตะ 9 แสนล้าน-แนะ 3 แนวทางรับมือการแข่งขัน

Krungthai COMPASS ประเมินรายได้ของธุรกิจโรงแรมในปี 2567 ประมาณ 9 แสนล้าน เผยอัตราเข้าพัก-ราคาห้องพักที่ขายของโรงแรมในภาคใต้มีการฟื้นตัวที่โดดเด่น แนะ 3 แนวทางรับมือการแข่งขัน

รายงานข่าวจาก Krungthai COMPASSระบุว่า รายได้ของธุรกิจโรงแรมในปี 2567 มีมูลค่าราว 9 แสนล้านบาท ปี 2568 มูลค่า 9.6 แสนล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฟื้นตัวชัดเจน และนักท่องเที่ยวไทยที่เติบโตขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยเริ่มทยอยปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยในครึ่งแรกของปี 2567 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศไทยกว่า 17.5 ล้านคน หรือฟื้นตัวได้ราว 88% เมื่อเทียบกับปี 2562

เห็นได้จากอัตราเข้าพัก (OR) ฟื้นตัวดีขึ้นในทุกภูมิภาค โดยมีค่าเฉลี่ยในระดับ 72.6% ขณะที่ราคาห้องพักที่ขายได้เฉลี่ย (ADR) ก็สูงขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดถึง 9% ที่ระดับราคาเฉลี่ย 1,920 บาทต่อห้อง สอดคล้องกับผลสำรวจของ ททท. ที่ระบุว่า ค่าใช้จ่ายในหมวดค่าที่พักของนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 ที่มีสัดส่วนมากที่สุดกว่า 35.9% เพิ่มขึ้นถึง 15.2% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด ซึ่งก็เป็นอีกภาพสะท้อนว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มใช้จ่ายด้านค่าที่พักสูงขึ้น ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวไทยก็เพิ่มขึ้นกว่า 136.2 ล้านคน กลับมาสูงกว่าช่วงก่อนโควิดแล้วถึง 21%

“อัตราเข้าพัก และราคาห้องพักที่ขายได้เฉลี่ย ADR ของโรงแรมในภาคใต้มีการฟื้นตัวที่โดดเด่น และเป็นภูมิภาคเดียวที่ OR กลับมาสูงกว่าช่วงก่อนโควิดแล้ว โดย ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ภาคใต้ราคาห้องพักที่ขายได้เฉลี่ย ADR 2,486 บาท/ห้อง สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโรงแรมโดยรวมเกือบ 30% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาคใต้มีสัดส่วนจำนวนโรงแรมและรีสอร์ตในระดับ Upscale และ Luxury ค่อนข้างสูง”

ข้อมูลดังกล่าวสอดรับกับเทรนด์การท่องเที่ยวในยุคหลังโควิดที่นักท่องเที่ยวนิยมเข้าพักโรงแรมระดับ 4-5 ดาวเป็นหลัก โดยเฉพาะจากสัดส่วนนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรปที่เดินทางเข้าพักเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราเข้าพัก ของภาคใต้มีแนวโน้มเติบโตค่อนข้างดี เนื่องจากนักท่องเที่ยวยุโรปมีระยะเวลาพำนักในไทยนานกว่า 16 วัน สูงกว่านักท่องเที่ยวจีนที่เคยเป็นตลาดหลักของโรงแรมในภาคใต้ช่วงปี 2562 กว่า 2 เท่าตัว

ทั้งนี้ Krungthai COMPASS คาดว่า ภาพรวม อัตราเข้าพัก ในปี 2567 จะอยู่ที่ราว 70.5% ซึ่งกลับมาสูงกว่าช่วงก่อนโควิดเล็กน้อย และมีโอกาสขยับขึ้นเป็น 71.9% ในปี 2568 ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ OR กลับมาสูงกว่าปี 2562 ได้ ทั้งๆ ที่เราคาดว่าทั้งปี 2567 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 36.5 ล้านคน ยังต่ำกว่าปี 2562 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 39.9 ล้านคน มาจากจำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวไทยในปี 2567 จะอยู่ที่ 271 ล้านคน สูงกว่าช่วงก่อนโควิด ราว 19%

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในแง่ของการปรับขึ้นราคาห้องพักและรายได้จากค่าที่พักโดยรวมคาดว่าโรงแรมระดับ 4-5 ดาว มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ก่อนโรงแรมทั่วไป เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในยุคหลังโควิด มีแนวโน้มใช้จ่ายด้านค่าที่พักสูงขึ้น และนิยมพักโรงแรมหรู ขณะที่โรงแรมในกลุ่ม 3 ดาวลงไป ยังต้องเผชิญการข่งขันรุนแรงจากจำนวนห้องพักที่ค่อนข้างล้นตลาด อีกทั้งกลุ่มลูกค้าหลักอย่างกลุ่ม Backpacker และกรุ๊ปทัวร์ ยังฟื้นตัวได้จำกัด นอกจากนี้ ในปัจจุบันผู้บริโภคยังมีทางเลือกใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เช่น Air BnB เป็นต้น

ประเทศไทยถือเป็นจุดหมายปลายด้านการท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก ทำให้ธุรกิจโรงแรมเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีศักยภาพในการดึงดูดนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติมาอย่างยาวนาน โดยข้อมูลจาก บจ. คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ชี้ว่า ในช่วงระยะเวลา 10 ปีก่อนเกิดโควิด (ปี 2552-2561) การซื้อขายโรงแรมในประเทศไทยมูลค่ารวมกว่า 1.2 แสนล้านบาท โดยเฉพาะในปี 2560-2561 ที่มีการซื้อขายโรงแรมเฉลี่ยถึง 2 หมื่นล้านบาท/ปี เนื่องจากเป็นช่วงที่ภาคการท่องเที่ยวไทยมีอัตราการเติบโตที่ก้าวกระโดด

ทั้งนี้ จากภาคการท่องเที่ยวไทยที่กลับมาคึกคักอีกครั้งหลังการคลี่คลายของโควิด ทำให้ภาพรวมการซื้อขายโรงแรมในประเทศไทยในช่วง H1/2567 มีมูลค่ารวมกว่า 5,671 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเมืองท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต กรุงเทพฯ เชียงใหม่ สมุย และยังมีโรงแรมอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อขายอีกจำนวนมาก โดยคาดว่าตลอดปี 2567 จะมีมูลค่าการซื้อขายโรงแรมราว 1.5 หมื่นล้านบาท สูงกว่าค่าเฉลี่ยในปี 2552-2561 ถึง 24%

เนื่องจากมีผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งนักลงทุนชาวไทยและต่างชาติ ยังคงมองหาโรงแรมเพื่อซื้อเข้า Portfolio และเตรียมที่จะปิดดีลภายในปีนี้ โดยโรงแรมส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวหลัก เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุย พัทยา เชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการซื้อมา Renovate หรือ ปรับปรุงใหม่ เพื่อเตรียมเปิดให้บริการอีกครั้งในอนาคต สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ระบุว่าในช่วงปี 2566-H1/2567 มีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI กว่า 17 โครงการ มูลค่ารวมเกือบ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิดแล้ว ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวของไทย ยังมีศักยภาพในการดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง

ในทางกลับกัน ที่ผ่านมาผู้ประกอบการโรงแรมกลุ่มที่มีศักยภาพของไทย ก็มีการขยายการลงทุนในตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงแรมของไทยเล็งเห็นโอกาสในการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ

โดยในช่วงปี 2565-Q1/2567 หลังจากสถานการณ์โควิดทุเลาลง มีเงินลงทุนโดยตรงจากไทยที่ไหลไปยังต่างประเทศในด้านที่พักแรมและบริการด้านอาหารสูงถึง 5.3 หมื่นล้านบาท โดยประเทศ Mauritius มีเงินลงทุนสูงสุดถึง 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งตัวอย่างผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปลงทุนใน Mauritius ได้แก่ กลุ่ม S Hotels & Resorts ที่ได้มีการลงทุนสร้างโรงแรมหรูอย่าง Outrigger Mauritius Beach Resort เป็นต้น

ขณะที่อันดับ 2 คือ U.A.E. ที่มีเงินลงทุนสูงถึง 2.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีผู้ประกอบการหลายกลุ่มในไทยที่เข้าไปลงทุนในตลาดนี้ เช่น Dusit Centel และกลุ่ม Minor เป็นต้น ทั้งนี้ จากภาคการท่องเที่ยวที่ยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ในระยะข้างหน้าผู้ประกอบการโรงแรมในไทยยังมีแนวโน้มที่จะขยายการลงทุนไปยังตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น ญี่ปุ่น มัลดีฟส์ ฟิลิปปินส์ รวมถึงยุโรป และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยยังต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทาย คือ 1.การแข่งขันในธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง 2.การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนที่ยังไม่เต็มที่ และ 3. ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่ยืนสูงยกแผง ซึ่งยังกดดันความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจโรงแรมในภาพรวม โดยเฉพาะโรงแรมในระดับไม่เกิน 3 ดาว ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่าโรงแรมระดับบน ดังนั้น เพื่อรับมือกับความท้าทายและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ผู้ประกอบการโรงแรมควร

1. ใช้กลยุทธ์การสร้างความแตกต่าง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับโรงแรมอื่นๆ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น การใช้ธีมเฉพาะที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ตัวอย่างเช่น โรงแรม Grande Centre Point Space Pattaya ที่มีการออกแบบในธีมโลกอวกาศ ซึ่งมีความแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร

2. มองหาลูกค้ากลุ่มใหม่ๆที่มีศักยภาพ เพื่อทดแทนลูกค้าจีน โดยเฉพาะกลุ่มกรุ๊ปทัวร์ที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ เช่น ลูกค้ากลุ่มรักษ์โลก ซึ่งมีการใช้จ่ายด้านที่พักสูงกว่าลูกค้าทั่วไป

3. นำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ เช่น โรงแรมในเครือ Four Seasons มีการใช้เทคโนโลยี AI ในการวิเคราะห์ข้อมูลการจอง และประวัติการเข้าพักของลูกค้า เพื่อกำหนดตารางเวลาของพนักงานให้เหมาะสมในแต่ละช่วง ส่งผลให้ต้นทุนแรงงานลดลงและประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานดีขึ้น

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img