กรมสรรพากรวางแผนบังคับใช้กฏหมายจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลข้ามชาติขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 15% พร้อมแก้ไขกฎหมายการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามหลักถิ่นที่อยู่เมื่อพำนักในประเทศไทยเกิน 180 วัน
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมฯ มีแผนจัดทำนโยบายทางภาษีที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน อีก 2 เรื่อง ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมายจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) ตามหลักการ Pillar 2 ที่กำหนดให้กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติขนาดใหญ่เสียภาษีเงินได้ในอัตราภาษี ที่แท้จริงไม่น้อยกว่า 15% และการแก้ไขกฎหมายการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามหลักถิ่นที่อยู่ เมื่อพำนักในประเทศไทยเกิน 180 วัน บุคคลนั้นจะต้องมีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามหลักของ Wolrd Wide Income เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้อยู่อาศัยในประเทศทุกคนที่มีหน้าที่ยื่นแบบภาษี
ขณะเดียวกันยังมีภาษีที่เกี่ยวข้องหลายรายการ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ภาษีแบตเตอรี่ ภาษีคาร์บอน ตามนโยบายหัวข้อการสร้างโอกาสต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิม โดยรัฐบาลจะส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต (Future Mobility) ได้แก่ เครื่องยนต์แบตเตอรี่ไฟฟ้า ปลั๊กอินไฮบริด ไฮบริด และเซลล์เชื้อเพลิง เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศให้มาตั้งฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยจะเพิ่มสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local Content) และการถ่ายโอนเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้แก่ธุรกิจไทย ขณะที่ยังรักษาการจ้างงานควบคู่กัยการส่งเสริมพัฒนายกระดับทักษะและปรับทักษะของแรงงานไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง
ซึ่งในปีงบประมาณ 2568 สรรพากรประมาณเป้าการจัดเก็บรายได้ อยู่ที่ 2.3725 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% หรือราว 1 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับปีงบประมาณก่อน ตามกรอบวงเงินรายจ่ายงบประมาณปี 2568 ที่เพิ่มขึ้น
รายงานข่าวจากกรรมสรรพากรแจ้งว่า กรมฯ มีแผนจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการนำเข้าสินค้า Low-Value Goods มูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาทในปี 68 ซึ่งจะมีการพัฒนาระบบเพื่อให้แพลตฟอร์มที่มีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเป็นผู้นำส่ง VAT 7% คาดว่าจะจัดเก็บรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มราว 1,500 ล้านบาทต่อปี