วันศุกร์, กันยายน 20, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightเช้าเปิดตลาดค่าเงินบาทอ่อนลงเล็กน้อย หลังดอลลาร์แข็ง-เกาะติด'ประชุมบีโอเจ'
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เช้าเปิดตลาดค่าเงินบาทอ่อนลงเล็กน้อย หลังดอลลาร์แข็ง-เกาะติด’ประชุมบีโอเจ’

ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 33.13 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” หลังดอลลาร์แข็งค่า-บอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้น เกาะติดประชุมบีโอเจ คาดตรึงดอกเบี้ย

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า  ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.13 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.09 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนพอสมควร ในกรอบ sideways (กรอบการเคลื่อนไหว 33.07-33.27 บาทต่อดอลลาร์)

โดยแม้ว่า ในช่วงแรกเงินบาทจะพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าขึ้นบ้าง หลังเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อย ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) หลังธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00% ด้วยมติ 8-1 (มีกรรมการเห็นชอบให้คงอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน)

อย่างไรก็ดี ภาพดังกล่าวก็เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว โดยเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงเข้าใกล้โซนแนวต้าน 33.30 บาทต่อดอลลาร์ ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังแนวโน้มการเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินทั้งฝั่งยุโรปและสหรัฐฯ ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น กดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลง พร้อมกับกดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงเช่นกัน

ทั้งนี้เงินบาทยังไม่สามารถอ่อนค่าลงได้ต่อเนื่องทะลุแนวต้าน 33.30 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ หลังผู้เล่นในตลาดอาศัยจังหวะเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในการทยอยปรับสถานะถือครอง ก่อนที่จะรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันศุกร์นี้ ส่วนราคาทองคำก็รีบาวด์ขึ้น กลับมาสู่ระดับก่อนรับรู้ผลการประชุม BOE ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงคาดหวังต่อแนวโน้มการเดินหน้าลดดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลัก รวมถึงความต้องการถือทองคำในช่วงที่สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง

บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงอีกครั้ง ท่ามกลางความหวังว่า แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดจะช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงแบบ Soft Landing และรอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ ซึ่งภาพดังกล่าวก็ได้แรงหนุนจากรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ล่าสุดที่ออกมาดีกว่าคาดเช่นกัน ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.70% ทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +1.38% ท่ามกลางบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินที่ได้แรงหนุนจากการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด ทำให้บรรดาหุ้นสไตล์ Growth และหุ้นกลุ่มเทคฯ ต่างปรับตัวขึ้น อาทิ ASML +4.6% ขณะเดียวกัน หุ้นกลุ่มพลังงานและเหมืองแร่ ต่างก็ปรับตัวขึ้นเช่นกัน Shell +1.6%, Rio Tinto +3.1% หลังราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทยอยปรับตัวขึ้นหลังการประชุมเฟด

ในฝั่งตลาดบอนด์นั้นพบว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนใกล้โซน 3.72% โดยมีจังหวะปรับตัวขึ้นบ้างเข้าใกล้โซน 3.80% ก่อนที่จะย่อตัวลงบ้าง หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ใช้จังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว ซึ่งก็สอดคล้องกับ คำแนะนำของเราที่ยังคงมองว่า กลยุทธ์ “Buy on Dip” หรือรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น ในการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว จะสร้างความได้เปรียบให้กับผู้เล่นในตลาด เพราะแม้ว่าดอกเบี้ยนโยบายจะเข้าสู่ช่วงขาลงชัดเจนแล้ว ทว่า มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายอาจปรับเปลี่ยนไปได้ตลอด ตามการรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ทำให้บอนด์ยีลด์ยังเสี่ยงเผชิญความผันผวน Two-Way Volatility

ทางด้านตลาดค่าเงินนั้น เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นเร็วตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) มีจังหวะอ่อนค่าลงเข้าใกล้โซน 144 เยนต่อดอลลาร์ ทว่าการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ถูกกดดันโดยภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน รวมถึงการปรับสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาดก่อนที่จะรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถว 100.7 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 100.5-101.1 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ความผันผวนของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ส่งผลให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) เคลื่อนไหวผันผวนเช่นกัน

ทั้งนี้ผู้เล่นในตลาดยังคงรอเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ตามแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลาง รวมถึงความต้องการถือทองคำในช่วงที่สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง ทำให้ราคาทองคำยังทรงตัวแถว 2,611 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ห้ามพลาด คือ ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างไม่คาดหวังว่า BOJ จะสามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมได้อีก จนกระทั่งถึงราวกลางปี 2025 หลังการขึ้นดอกเบี้ยของ BOJ ในช่วงที่ผ่านมาได้สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงิน อย่างไรก็ดี แม้ว่าในการประชุมครั้งนี้ เราจะมองว่า BOJ อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% ตามเดิม แต่ต้องระวังการสื่อสารของ BOJ ที่อาจย้ำจุดยืน พร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องได้ หากสภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงินเอื้ออำนวย

โดยล่าสุดเช้านี้อัตราเงินเฟ้อ CPI ของญี่ปุ่น เดือนสิงหาคม ก็ยังคงอยู่ในระดับ 3.0% (อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI อยู่ที่ระดับ 2.8%) สูงกว่าเป้าหมายของ BOJ ที่ 2.0% โดยหาก BOJ ส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ ชัดเจน ก็อาจหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) มีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้พอสมควร

ส่วนในฝั่งยุโรปผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษ ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนสิงหาคม พร้อมทั้งรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB)

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรายอมรับว่า “Underestimate” แรงซื้อสินทรัพย์ไทยไปพอสมควร หลังบรรยากาศในตลาดการเงินอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) สวนทางกับที่ประเมินไว้ ทำให้เงินบาทในช่วงวันก่อนหน้าได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่า จากแรงซื้อสินทรัพย์ไทยของบรรดานักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ เงินบาทก็ยังได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ตามการรีบาวด์ขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำเช่นกัน

อย่างไรก็ดี สำหรับวันนี้ เรามองว่า เงินบาทจะเผชิญความผันผวน Two-Way Volatility ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะขึ้นอยู่กับผลการประชุม BOJ โดยหาก BOJ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยตามเดิม แต่ส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยที่ชัดเจน สวนทางกับที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่ ก็อาจหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) แข็งค่าขึ้น ทดสอบโซน 141 เยนต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก ซึ่งภาพดังกล่าวก็อาจกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง พร้อมช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้บ้าง ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็อาจจะขึ้นกับว่า จะมีโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) มากน้อยเพียงใด และการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์จะช่วยให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นได้ระดับไหน (ส่งผลต่อโฟลว์ธุรกรรมทองคำ)

ทั้งนี้คงมุมมองเดิมว่า หากจะเห็นเงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นเร็วและแรง เหมือนในช่วง Black Monday ที่ผ่านมา อาจจะต้องเห็นทั้งแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของ BOJ พร้อมกับความกลัวภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่รุนแรง ซึ่งจะยิ่งหนุนการ Unwind JPY-Carry Trade เพิ่มเติม หรือ เพิ่มการถือสถานะ Long JPY (มองเงินเยนแข็งค่า)

อนึ่ง เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าขึ้น ท่ามกลางบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ซึ่งอาจทำให้บรรดานักลงทุนต่างชาติบางส่วนอาจเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติมได้บ้าง โดยเรามองว่า มีโอกาสที่เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับสำคัญ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ (แนวรับถัดไป 32.80 บาทต่อดอลลาร์) ทั้งนี้ เราคงมองว่า หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลุดโซนดังกล่าว ก็จะเปิดโอกาสในการทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ที่น่าสนใจ (Buy on Dip) เนื่องจากในเชิง Valuation เงินบาทที่ระดับแข็งค่ากว่า 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ก็ถือว่าอยู่ในโซน Slightly Overvalued จนกว่าปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นชัดเจน หรือ มีการรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.85-33.30 บาทต่อดอลลาร์    

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img