‘ส.อ.ท.-หอการค้าไทย’ ประสานเสียง จี้ ‘กนง.’ ลดดอกเบี้ยตาม ‘เฟด’ หวังเงินบาทไม่แข็งค่าจนเกินไป เอื้อให้ผู้ส่งออกและภาคท่องเที่ยว-ลดภาระต้นทุนเงินกู้ยืมเพิ่มกำลังซื้อ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายารเงิน(กนง.) ควรปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง หลังธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดปรับลดดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา เพราะหากลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยลดภาระให้ผู้กู้ยืมเงินมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ส่วนภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอี จะมีสภาพคล่องต้นทุนทางการเงินดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมานโยบาย กนง.ปรับขึ้นลงตามอัตราดอกเบี้ยตามเฟด จึงต้องจับตาว่า ธปท. จะพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยลงเท่าไหร่
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เฟดตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกลงแบบเร็วและแรง 0.50% ทำให้อัตราดอกเบี้ยลงจาก 5.25-5.50% สู่อัตรา 4.75-5.00% ดังนั้น หอการค้าเห็นว่าถึงเวลาที่ กนง.ควรพิจารณาลดดอกเบี้ยให้อยู่ระดับที่เหมาะสม เพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทไม่แข็งค่าจนเกินไป ซึ่งจะช่วยเอื้อให้ผู้ส่งออกและภาคท่องเที่ยวแข่งขันได้ดีขึ้น
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยของเฟดสร้างแรงกดดันต่อนโยบายการเงินของหลายประเทศเช่นเดียวกับไทยที่อาจเผชิญแรงกดดันหนักขึ้น โดยล่าสุดอินโดนีเซียลดดอกเบี้ยลง 0.25% ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนมองว่าการดำเนินนโยบายการเงินของไทยอาจตามอัตราดอกเบี้ยในภูมิภาคหรือไม่ทั้งนี้หากสถานการณ์ข้างหน้า โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ธปท.อาจเผชิญแรงกดดันหนักขึ้นว่าอาจเป็นสาเหตุให้เงินบาทแข็งค่า
ทั้งนี้มองว่า กนง.อาจไม่เร่งลดดอกเบี้ยตามเฟดหรือประเทศในภูมิภาค เพราะส่วนใหญ่ กนง.ดูปัจจัยในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะจากแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่เห็นต่อเนื่อง โดยเฉพาะไตรมาส 4 คาดว่ามีโอกาสเห็นการโตของจีดีพี 4% จากการเร่งกระตุ้นภาครัฐ ดังนั้นความจำเป็นในการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอาจมีน้อยลงจากเดิมที่มองว่า กนง.มีโอกาสลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งสุดท้ายปีนี้ในเดือน ธ.ค.ที่ 0.25% หากเศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง