“พาณิชย์” โชว์ตัวเลข 8 เดือน ต่างชาติลงทุนในไทย 100,062 ล้านบาท ญี่ปุ่นแชมป์อันดับหนึ่ง 136 ราย ลงทุน 53,176 ล้านบาท รองลงมาคือ สิงคโปร์ 82 ราย ลงทุน 8,438 ล้านบาท และอเมริกา 76 ราย ลงทุน 3,589 ล้านบาท
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-สิงหาคม) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 535 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 143 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 392 ราย เงินลงทุนรวม 100,062 ล้านบาท จ้างงานคนไทยจากนักลงทุนที่ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 2,505 คน โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่
1.ญี่ปุ่น 136 ราย คิดเป็นร้อยละ 25 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 53,176 ล้านบาท เช่น ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม โดยเป็นการออกแบบทางวิศวกรรมสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจบริการซ่อมแซมหินเจียร ใบหินตัด ใบเลื่อย เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีส่วนประกอบทำด้วยเพชร ธุรกิจบริการให้ใช้แอปพลิเคชันสำหรับส่งเสริมการรักษาสุขภาพ ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (อาทิ ผลิตชิ้นส่วนประกอบถุงลมนิรภัย, ชิ้นส่วนโลหะขึ้นรูป, ชิ้นส่วนยานพาหนะ)
2.สิงคโปร์ 82 ราย คิดเป็นร้อยละ 15 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 8,438 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิคสำหรับธุรกิจน้ำมันและก๊าซ เช่น การตรวจสอบ การทดสอบ และการวัด การรับรอง การสอบทาน การออกแบบทางวิศวกรรม การให้คำปรึกษาด้านเทคนิค และการฝึกอบรม เป็นต้น ธุรกิจโฆษณา โดยการให้ใช้พื้นที่บนเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน ธุรกิจบริการติดตั้งและทดสอบเกี่ยวกับการวางระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก ธุรกิจจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับสำรวจความคิดเห็นและวิเคราะห์ข้อมูล ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (อาทิ อุปกรณ์สำหรับเครื่องจักร ผลิตภัณฑ์โลหะและชิ้นส่วนโลหะ ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์แยกแสงสัญญาณพีแอลซี)
3.สหรัฐอเมริกา 76 ราย คิดเป็นร้อยละ 14 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 3,589 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมในการให้คำปรึกษาแนะนำทางเทคนิคและฝึกอบรมเกี่ยวกับการบำรุงรักษา การซ่อมแซม การเปลี่ยนอุปกรณ์เสริมและเครื่องยนต์ของเครื่องบินพาณิชย์ ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (อาทิ รถสกูตเตอร์ไฟฟ้าและยานพาหนะไฟฟ้า เครื่องมือส่งสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือแพทย์ เคมีภัณฑ์และยา) ธุรกิจโฆษณาธุรกิจบริการให้คำปรึกษาและแนะนำในการประกอบธุรกิจในด้านต่าง ๆธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (พวงมาลัยรถยนต์ / DRUM BRAKE ASSEMBLY)
4.จีน 68 ราย คิดเป็นร้อยละ 13 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 8,350 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการที่ให้แก่บริษัทในเครือ หรือบริษัทในกลุ่ม (บริการให้เช่าพื้นที่อาคารโรงงาน) ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วน สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือ ให้บริการ เช่น ระบบบริหารจัดการงานอีเว้นท์ แอปพลิเคชันค้นหาและสร้างสังคมออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับงานอีเว้นท์ เป็นต้น ธุรกิจบริการตัดโลหะ (Coil Center) ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ผลิตภัณฑ์โลหะและชิ้นส่วนโลหะ ลูกกลิ้งสำหรับพิมพ์หรืออัดลาย ฟิล์มพลาสติก เครื่องจักรอัตโนมัติที่มีขั้นตอนออกแบบระบบควบคุมการปฏิบัติงานด้วยสมองกลเอง)
5.ฮ่องกง 40 ราย คิดเป็นร้อยละ 7 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 12,330 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศธุรกิจบริการให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับคุณสมบัติ วิธีการใช้และการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสินค้าประเภทยารักษาโรคและวัคซีนที่ใช้สำหรับสัตว์ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัยธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ผลิตภัณฑ์โลหะและชิ้นส่วนโลหะ ชิ้นส่วนสำหรับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ Printed Circuit Board Assembly (PCBA))
ธุรกิจบริการให้ใช้แอปพลิเคชันเพื่อสมัครและติดตามผลการขอสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ถือได้ว่าการเข้ามาประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทยช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมข้างต้นมีส่วนช่วยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับทักษะการขุดเจาะวางท่อในแนวราบด้วยวิธีการที่ไม่รบกวนผิวดิน องค์ความรู้เกี่ยวกับมาตราการความปลอดภัยชีวภาพในระดับฟาร์ม องค์ความรู้เกี่ยวกับการทำงานของแพตฟอร์มเช่าซื้อ องค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการใช้ การตรวจสอบ ติดตั้ง และซ่อมแซมเครื่องมือแพทย์อัลตราซาวด์ เป็นต้น
ทั้งนี้หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ปี 2567 เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 101 ราย คิดเป็นร้อยละ 23 (เดือน ม.ค. – ส.ค. 67 อนุญาต 535 ราย / เดือน ม.ค. – ส.ค. 66 อนุญาต 434 ราย) และมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 34,278 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 52 (เดือน ม.ค. – ส.ค. 67 ลงทุน 100,062 ล้านบาท / เดือน ม.ค. – ส.ค. 66 ลงทุน 65,784 ล้านบาท) ขณะที่มีการจ้างงานคนไทยลดลง 1,979 ราย คิดเป็นร้อยละ 44 (เดือน ม.ค. – ส.ค. 67 จ้างงาน 2,505 คน / เดือน ม.ค. – ส.ค. 66 จ้างงาน 4,484 คน) โดยจำนวนนักลงทุนที่เข้ามาสูงสุดยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่นเช่นเดียวกับปีก่อน
สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ช่วง 8 เดือน ของปี 2567 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 163 ราย คิดเป็น 30% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 77 ราย (เพิ่มขึ้น 90%) (เดือน ม.ค. – ส.ค. 67 ลงทุน 163 ราย / เดือน ม.ค. – ส.ค. 66 ลงทุน 86 ราย) และมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC 32,573 ล้านบาท คิดเป็น 33% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 18,290 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 128%) (เดือน ม.ค. – ส.ค. 67 เงินลงทุน 32,573 ล้านบาท / เดือน ม.ค. – ส.ค. 66 เงินลงทุน 14,283 ล้านบาท) เป็นนักลงทุนจาก ญี่ปุ่น 53 ราย ลงทุน 11,749 ล้านบาท จีน 39 ราย ลงทุน 3,901 ล้านบาท ฮ่องกง 15 ราย ลงทุน 5,064 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ 56 ราย ลงทุน 11,859 ล้านบาท
โดยธุรกิจที่ลงทุน เช่น ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม โดยเป็นการออกแบบทางวิศวกรรมสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ธุรกิจบริการออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ประเภทเข็มขัดนิรภัย ถุงลมนิรภัย ธุรกิจบริการซ่อมแซมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (อาทิ ผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อตสาหกรรม ชิ้นส่วนสำหรับยานพาหนะ ชิ้นส่วนสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น) ธุรกิจบริการบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือ ให้บริการ เช่น การวางแผนจัดหาและจัดซื้อชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น