ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 33.54 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” รับแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อสกุลเงินต่างประเทศ โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น หลังการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เกาะติดเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.54 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.45 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาททยอยอ่อนค่าลง (กรอบการเคลื่อนไหว 33.42-33.55 บาทต่อดอลลาร์) ตามการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เข้าใกล้ระดับ 4.08% หลังผู้เล่นในตลาดต่างเพิ่มโอกาสที่ เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤศจิกายน เป็นเกือบราว 20% จาก CME FedWatch Tool ล่าสุด
นอกจากนี้การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯยังได้แรงหนุนจากการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า เฟดอาจไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ยเหมือนที่เคยคาดหวังไว้ โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ไม่ถึง -100bps ในปีหน้า ซึ่งการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ รวมถึงข่าวการเจรจาหยุดยิงระหว่างกลุ่ม Hezbollah กับทางการอิสราเอลยังได้กดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่องสุ่โซนแนวรับ 2,600-2,610 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงทยอยเข้าซื้อทองคำ กดดันให้เงินบาททยอยอ่อนค่าลงเหนือโซน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ได้อีกครั้ง
นอกจากนี้เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อสกุลเงินต่างประเทศ โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น หลังการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงสู่ระดับ 149 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งเมื่อเทียบกับเงินบาทนั้น เงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) ก็อ่อนค่าลงต่ำกว่าระดับ 22.50 บาทต่อ 100 เยน
บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความหวังว่ารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนจะมีแนวโน้มเติบโตที่ดี สอดคล้องกับภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ไม่ได้ส่งสัญญาณชะลอตัวลงหนัก อย่างที่ตลาดเคยกังวลก่อนหน้า ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.71%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.66% หลังแรงขายทำกำไรหุ้นธีม China Recovery เริ่มชะลอลงเนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามการแถลงของทางการจีนในช่วงวันเสาร์นี้ ว่าจะมีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ทั้ง ASML +2.1%, SAP +1.4%
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวสูงขึ้นเข้าใกล้ระดับ 4.08% หลังผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดทั้งในปีนี้ และปีหน้า ทั้งนี้ เราประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นต่อได้บ้าง หากผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยของเฟดเพิ่มเติม ซึ่งผู้เล่นในตลาดก็ควรใช้จังหวะที่บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว (รวมถึงสินทรัพย์ที่อ้างอิงหรือมีการลงทุนในบอนด์ระยะยาว) อีกครั้ง (เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip เพื่อสร้างความได้เปรียบและ Risk-Reward ที่น่าสนใจ)
ทางด้านตลาดค่าเงินนั้น เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น ตามการปรับลดความคาดหวังของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนเพิ่มเติมตามการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ล่าสุดอ่อนค่าลงทะลุโซน 149 เยนต่อดอลลาร์ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 102.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 102.6-102.9 จุด)
ส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ รวมถึงรายงานข่าวการเจรจาหยุดยิงระหว่างกลุ่ม Hezbollah กับทางการอิสราเอลได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลงต่อเนื่องสู่โซน 2,625 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯในเดือนกันยายน ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯจะมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่องสู่ระดับ 2.3% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI อาจทรงตัวแถว 3.2% นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) พร้อมทั้งรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ล่าสุด เพื่อประเมินโอกาสที่ ECB จะสามารถเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีกราว –50bps (หรือราว -25bps) ในอีกสองการประชุมที่เหลือในปีนี้
และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะยังคงรอติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการตอบโต้อิหร่านของทางการอิสราเอล ว่าจะเป็นไปในลักษณะใดและจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันจากตะวันออกกลางหรือไม่
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ sideways ในช่วงก่อนที่ตลาดจะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ โดยเงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าบ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อสกุลเงินต่างประเทศโดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้ง ทองคำและน้ำมันดิบ หลังราคาทองคำและราคาน้ำมันดิบ ได้ทยอยปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และข่าวการเจรจาหยุดยิงระหว่างกลุ่ม Hezbollah กับทางการอิสราเอล (ซึ่งเรามองว่า ทางการอิสราเอลอาจจะยังไม่ยอมรับข้อเสนอในการหยุดยิงได้ ทำให้ยังคงมีความเสี่ยงที่สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางอาจยืดเยื้อ แต่อาจไม่ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น)
นอกจากนี้ยังเห็นแรงขายสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ ที่อาจกดดันเงินบาทได้เพิ่มเติม อย่างไรก็ดี เงินบาทก็อาจไม่ได้อ่อนค่าไปมากนัก ซึ่งต้องจับตาโซนแนวต้าน 33.60 บาทต่อดอลลาร์ โดยผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่าลงในการทยอยขายเงินดอลลาร์เพิ่มเติม โดยเฉพาะฝั่งผู้ส่งออก อีกทั้ง ในช่วงหลังเงินบาทก็เริ่มเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินหยวนจีน (CNY) มากขึ้น ทำให้หากเงินหยวนจีนทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงระหว่างวันได้เช่นกัน
ทั้งนี้ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในช่วงราว 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย เนื่องจากสถิติในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา สะท้อนว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวได้ถึง +/-0.5% ในช่วง 30 นาที หลังรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.35-33.70 บาทต่อดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ)