“เผ่าภูมิ” เผยบอร์ด Fin Hub เคาะกรอบกฎหมายศูนย์กลางการเงิน ชู 6 ธุรกิจเป้าหมาย ลุยลูกค้าต่างชาติ ใช้ กทม. เป็นฐาน
ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รมว.คลัง เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายและยกร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งศูนย์กลางทางการเงิน ว่า
ที่ประชุมเห็นชอบกรอบแนวทางการจัดตั้งศูนย์กลางทางการเงิน เพื่อยกร่างกฎหมายต่อไป ดังนี้
- ธุรกิจเป้าหมาย ได้แก่ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจระบบการชำระเงินและบริการชำระเงิน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ธุรกิจประกันภัย และธุรกิจอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
- ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมาย ได้แก่ นิติบุคคล และสาขาของนิติบุคคลต่างประเทศ ที่ให้บริการแก่นิติบุคคลหรือบุคคลที่ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย (Non-residents) โดยห้ามชักชวนและให้บริการลูกค้าในประเทศไทย (No Solicitation)
- ขอบเขตการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจที่ระดมทุนจากต่างประเทศเพื่อลงทุนในต่างประเทศ (Out-out) ในระยะแรก และพิจารณาธุรกิจที่เป็นการระดมทุนจากต่างประเทศเพื่อลงทุนในประเทศไทย (Out-in) โดยไม่ให้ขัดกับเงื่อนไข Non-Residents ในระยะต่อไป
- สถานที่ตั้งของผู้ประกอบธุรกิจ ได้แก่ กรุงเทพและปริมณฑล ในระยะแรก
- เงื่อนไขเกี่ยวกับสถานประกอบการ ได้แก่ กำหนดให้มีเงื่อนไขขั้นต่ำในเขตที่กำหนด เช่น เงื่อนไขการจ้างงาน ระยะเวลาการประกอบธุรกิจ การมีสำนักงาน เป็นต้น โดยให้อำนาจ คกก.กำกับและส่งเสริมศูนย์กลางทางการเงินในการกำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์
- ให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางทางการเงิน (One-stop Authority: OSA) ขึ้นใหม่ในรูปแบบหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ โดยหน้าที่ของ OSA ได้แก่ กำหนดแนวทางการส่งเสริมธุรกิจเป้าหมาย และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ทั้งสิทธิประโยชน์ที่เป็นตัวเงิน เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษี เป็นต้น และสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น การให้ Fast Track VISA การอนุมัติใบอนุญาตทำงานคนต่างด่าว (Work Permit) การจ้างงาน เป็นต้น และกำหนดเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง และประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาต และพิจารณาอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต หรือให้ความเห็นชอบ หรือรับจดทะเบียนเพื่อประกอบธุรกิจเป้าหมาย เป็นต้น
- สิทธิประโยชน์ (ข้อเสนอเบื้องต้น) โดยให้เป็นอำนาจของ OSA ต่อไป ได้แก่ นิติบุคคลเข้าข่ายบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ต้องปฏิบัติตาม GloBE Rules ของ Pillar 2 และกรณีนิติบุคคลอื่น สามารถกำหนดอัตราภาษีที่ต่ำว่ากรณีนิติบุคคลที่เป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ได้ โดยอาจกำหนดแบบเป็นลำดับขั้น (Tier) หรืออัตราคงที่ สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อาจพิจารณาเป็นอัตราผ่อนปรน สำหรับภาษีหัก ณ ที่จ่าย เงินปันผลและดอกเบี้ยที่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้โครงการฯ จ่ายให้กับบริษัทแม่ หรือบริษัทในเครือในต่างประเทศ อาจพิจารณาเป็นอัตราผ่อนปรน