“พิชัย” หารือรัฐมนตรีเศรษฐกิจรัฐบาเดิน-เวือร์ทเทิมแบร์คเยอรมนี ชวนลงทุน Data Center-พลังงาน-อาหาร ในไทย พร้อมเร่งเครื่องเจรจา FTA ไทย-อียู ให้สัมฤทธิ์ผลโดยเร็ว
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมหารือทวิภาคีกับ ดร.นิโคล ฮอฟไมสเตอร์-เคราท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ แรงงาน และการท่องเที่ยวแห่งรัฐบาเดิน-เวือร์ทเทิมแบร์ค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ณ กระทรวงพาณิชย์ โดยรัฐบาเดิน-เวือร์ทเทิมแบร์ค เป็นรัฐสำคัญที่มีจำนวนประชากร และขนาด GDP ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเยอรมนี และมีมูลค่าการค้ากับไทย คิดเป็น 1 ใน 5 ของมูลค่าการค้ารวมระหว่างไทย–เยอรมนี
โดยมีสินค้าศักยภาพ ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน อุปกรณ์ประมวลผลข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล และอุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนแนวทางการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และวิศวกรรมขั้นสูง ซึ่งเยอรมนีมีความเชี่ยวชาญและมีความสนใจที่จะขยายฐานการผลิต รวมทั้ง กลุ่มอุตสาหกรรมหรือบริการเป้าหมายที่สองฝ่ายเห็นประโยชน์ร่วมกัน เช่น ยานยนต์ วิศวกรรมเครื่องจักรกล แผงวงจรไฟฟ้า ระบบจัดเก็บข้อมูล (Data Center) พลังงานทางเลือก และ Soft power โดยเฉพาะในสาขาอาหารและการท่องเที่ยว
โดยรัฐบาเดิน-เวือร์ทเทิมแบร์คเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทที่มีชื่อเสียงระดับโลกซึ่งได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เช่น Daimler (Mercedes-Benz) (ยานยนต์และชิ้นส่วน) Bosch (เทคโนโลยีการขับเคลื่อน ระบบขนส่งอัจฉริยะ อุปกรณ์ไฟฟ้า และเครื่องใช้ในครัวเรือน) Festo (ระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรม เช่น อุปกรณ์ยานยนต์และเซมิคอนดักเตอร์) SAP SE (บริการซอฟต์แวร์) และCarl Zeiss (เลนส์ อุปกรณ์ทัศนศาสตร์ และ MedTech) และมีมูลค่าการค้ากับไทยคิดเป็นร้อยละ 20 ของมูลค่าการค้ารวมไทย-เยอรมนี
ทั้งนี้ได้ขอให้เยอรมนีช่วยสนับสนุนการเจรจา FTA ไทย-อียู ให้สามารถสรุปผลได้โดยเร็ว โดยสองฝ่ายเห็นพ้องว่า FTA ไทย-อียู จะเป็นประโยชน์ต่อการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-เยอรมนี รวมถึงรัฐบาเดิน-เวือร์ทเทิมแบร์คด้วย ซึ่ง FTA ฉบับนี้ จะช่วยขยายโอกาสและยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ สองฝ่ายมีแผนที่จะส่งคณะนักธุรกิจและผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างกัน
นอกจากนี้ได้เชิญชวนให้นักธุรกิจรัฐบาเดิน-เวือร์ทเทิมแบร์คเข้ามาลงทุนในประเทศไทย พร้อมย้ำว่า ไทยยินดีให้การอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนจากรัฐบาเดิน-เวือร์ทเทิมแบร์ค ที่ต้องการเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย
โดยในปี 2566 เยอรมนีถือเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทยในสหภาพยุโรป การค้าระหว่างไทย-เยอรมนี มีมูลค่า 10,737.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการส่งออกจากไทยไปเยอรมนี 4,555.82ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่แผงวงจรไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขณะที่ไทยนำเข้าจากเยอรมนี 6,182.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าที่สำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ และเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์