วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 24, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight“เผ่าภูมิ”โชว์เสถียรภาพ“เศรษฐกิจไทย” ในเวทีประชุมผู้ว่าการธนาคารโลก-IMF
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เผ่าภูมิ”โชว์เสถียรภาพ“เศรษฐกิจไทย” ในเวทีประชุมผู้ว่าการธนาคารโลก-IMF

“พรชัย” เผย “เผ่าภูมิ” ร่วมประชุมธนาคารโลก-IMF โชว์เสถียรภาพเศรษฐกิจไทย ปรับสมดุลใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ-มาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประจำปี 2567  ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมานายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้าร่วมการประชุมกลุ่มออกเสียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia Voting Group: SEAVG) ของธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF)

โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะผู้ว่าการธนาคารโลก 11 ประเทศสมาชิกเข้าร่วมประกอบด้วย ฟิจิ บรูไนดารุสซาลาม อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา มาเลเซีย เนปาล สิงคโปร์ ตองกา เวียดนาม และไทย และมีผู้ว่าการธนาคารกลางในฐานะผู้ว่าการกองทุนการเงินระหว่างประเทศเข้าร่วม 13 ประเทศ ประกอบด้วย สมาชิก 11 ประเทศข้างต้น ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา

ที่ประชุมได้รับฟังรายงานเกี่ยวกับพัฒนาการของเศรษฐกิจโลกและภูมิภาค ผลการดำเนินงานและนโยบายที่สำคัญของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการให้คำแนะนำเชิงนโยบายและการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ การจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ และปัญหาด้านหนี้สาธารณะ รวมถึงสนับสนุนการระดมทุนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ซึ่งนายเผ่าภูมิ ได้กล่าวขอบคุณธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศสำหรับการสนับสนุนการพัฒนาของไทยและสมาชิก SEAVG อย่างต่อเนื่อง และหวังว่าจะมีโครงการความช่วยเหลือจากธนาคารโลกมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น รวมถึงขอให้ธนาคารโลกช่วยสนับสนุนประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในกลุ่ม SEAVG ในการเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกัน การเตรียมพร้อมและการตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับเศรษฐกิจ การปรับสมดุลของการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐและการมาตรการทางการคลัง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรักษาแรงผลักดันในการเติบโตทางเศรษฐกิจ ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐ การเสริมสร้างการระดมทรัพยากรในประเทศ การจัดการหนี้ และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล

โดยนายเผ่าภูมิฯ ได้ยกตัวอย่างนโยบายของประเทศไทย ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีของรัฐผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและฐานข้อมูลขนาดใหญ่ การขยายฐานภาษีจากนโยบายการจัดเก็บภาษีจากธุรกิจออนไลน์และดิจิทัลแพลตฟอร์มต่าง ๆ ตามกรอบความร่วมมือเกี่ยวกับการป้องกันการโยกย้ายฐานภาษีของกลุ่มบริษัทข้ามชาติขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Cooperation and Development: OECD)

รวมทั้งได้เสนอแนวคิดการลดการยกเว้นการลดหย่อนภาษีที่ไม่จำเป็นเพิ่มเติมในการหารือดังกล่าวด้วย ซึ่งผู้แทนจากธนาคารโลกและ IMF ได้ให้ความเห็นว่าประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีบริบทและความท้าทายที่แตกต่างกันจึงจำเป็นต้องมีการปรับความสมดุลด้านการคลังในระยะเวลาที่ต่างกันให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศ

นอกจากนี้ได้มีการหารือทวิภาคีกับนาง Manuella V. Ferro รองประธานธนาคารโลก ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยและแนวนโยบายที่ประเทศไทยให้ความสำคัญและความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและธนาคารโลก

โดยนายเผ่าภูมิได้เน้นย้ำถึงเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยและแนวนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ตลอดจนนโยบายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและดิจิทัล

โดยรองประธานธนาคารโลกได้แสดงความเชื่อมั่นในพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่ง รวมทั้งเห็นว่านโยบายการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการเงิน นโยบายสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณเพื่อส่งเสริมการออมสำหรับผู้สูงอายุ ตลอดจนการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภาพของภาคการเกษตรจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน รวมทั้งจะเอื้อต่อการขยายตัวของการลงทุนจากต่างชาติในประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งรองประธานธนาคารโลกได้ให้ความสนใจกับนโยบายสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณโดยจะศึกษาตัวอย่างของประเทศไทยต่อไป

นอกจากนี้ นายเผ่าภูมิฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้หารือทวิภาคีกับผู้ว่าการธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan Bank for International Cooperation: JBIC) เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและมุมมองเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่การใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน การลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหารือถึงความร่วมมือระหว่าง JBIC และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย โดยผู้ว่าการ JBIC ได้แสดงความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก และเชื่อมั่นว่านโยบายของภาครัฐจะเอื้อต่อการลงทุนเพื่อการพัฒนาสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและเศรษฐกิจสีเขียวในระยะยาวต่อไป

ทั้งนี้ นายเผ่าภูมิฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้เข้าร่วมการประชุมหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนกับนาง Kristalina Georgieva กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศเพื่อรับฟังรายงานเกี่ยวกับพัฒนาการของเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคอาเซียน โดยได้ประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.8 ในปี 2567 และจะขยายตัวร้อยละ 3.0 ในปี 2568 รวมทั้งได้หารือถึงบทบาทของ IMF ที่จะสนับสนุนประเทศสมาชิกอาเซียนในการรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img