วันศุกร์, พฤศจิกายน 1, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight“เงินบาทอ่อนค่า”หลังดอลลาร์แข็งแรง หนุนตลาดหุ้นสหรัฐ-หุ้นยุโรปปรับตัวลง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เงินบาทอ่อนค่า”หลังดอลลาร์แข็งแรง หนุนตลาดหุ้นสหรัฐ-หุ้นยุโรปปรับตัวลง

ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 33.81 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” หลังเงินดอลลาร์แข็งแรงหนุนจากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดผันผวน หลังตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลดลง

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.81 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.75 บาทต่อดอลลาร์โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยอ่อนค่าลง ในลักษณะ Sideways Up (กรอบการเคลื่อนไหว 33.74-33.90 บาทต่อดอลลาร์) โดยในช่วงแรกเงินบาทเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ หลังยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ออกมาดีกว่าคาด ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE เดือนกันยายน ก็อออกมาสูงกว่าคาดเล็กน้อย ทำให้ผู้เล่นในตลาดมีการปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดลงบ้าง

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดผันผวน หลังตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นยุโรป ต่างปรับตัวลดลงจากความผิดหวังต่อรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯยังได้กดดันให้ราคาทองคำ (XAUUSD) ปรับตัวลงหนักราว -50 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะปรับฐาน และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงใกล้โซนแนวต้านที่เราประเมินไว้

อย่างไรก็ดี เงินบาทก็ไม่ได้อ่อนค่าลงต่อเนื่อง ตามแรงขายของผู้เล่นในตลาดบางส่วน อีกทั้งเงินดอลลาร์ก็พลิกกลับมาอ่อนค่าลง ตามแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาด ก่อนที่จะรับรู้ทั้งรายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในวันศุกร์นี้ และผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ซึ่งผลโพลล่าสุดต่างสะท้อน คะแนนความนิยมของผู้ท้าชิงจากทั้งสองพรรคที่สูสีกันมาก

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ถูกกดดันจากแรงขายบรรดาหุ้นเทคฯ ธีม AI/Semiconductor โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Microsoft -6.1%, Meta -4.1% ท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มผลประกอบการของหุ้นธีม AI ที่อาจเผชิญแรงกดดันจากค่าใช้จ่ายการลงทุนด้าน AI ที่สูง ส่วนบรรดาหุ้นกลุ่ม Semiconductor อาทิ Nvidia -4.7% ก็ยังคงเผชิญแรงขายท่ามกลางความกังวลปัญหาบัญชีของหุ้น Super Micro Computer -12% ทำให้โดยรวม ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงหนัก -2.76% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.86%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -1.20% กดดันโดยรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาน่าผิดหวัง และแรงขายบรรดาหุ้นเทคฯ ธีม AI/Semiconductor ตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทว่า ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงานที่รายงานผลประกอบการที่สดใส อาทิ Shell +3.5% อีกทั้งราคาน้ำมันดิบก็เริ่มปรับตัวสูงขึ้นช่วยหนุนบรรดาหุ้นกลุ่มพลังงาน

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯยังคงมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้นทะลุโซน 4.30% ตามการปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของผู้เล่นในตลาด หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่างออกมาดีกว่าคาด อีกทั้งผู้เล่นในตลาดก็ยังคงทยอยปรับสถานะถือครองสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับธีม Trump Trades

อย่างไรก็ดี บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯก็ยังคงไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากโซน 4.30% ไปได้ไกล หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็รอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว นอกจากนี้ในช่วงคืนที่ผ่านมา บรรยากาศในตลาดการเงินที่ยังคงปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ตามแรงเทขายหุ้นเทคฯ ใหญ่ ก็มีส่วนกดดันบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯเช่นกัน

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยเงินดอลลาร์มีจังหวะแข็งค่าขึ้น สอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ออกมาดีกว่าคาด การปรับสถานะถือครองให้สอดคล้องกับธีม Trump Trades และความต้องการถือเงินดอลลาร์ในช่วงตลาดปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ก่อนที่เงินดอลลาร์จะเผชิญแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD

ส่วนเงินยูโร (EUR) และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็มีจังหวะรีบาวด์แข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และมุมมองของผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่ยังเชื่อว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยได้ในเดือนธันวาคม ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 103.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.8-104.2 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ รวมถึงแรงขายทำกำไรทองคำ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลดลงหนักสู่โซน 2,740 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นบ้าง กลับสู่โซน 2,760 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ โดยเฉพาะข้อมูลการจ้างงานเดือนตุลาคม ทั้ง ยอดการจ้างงานยอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อัตราการว่างงาน (Unemployment) และอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) รวมถึงรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) เดือนตุลาคม ซึ่งรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดได้

นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วงราว 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย สำหรับข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ และช่วง 21.00 น. สำหรับรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรม

โดยเราประเมินว่า ในช่วงก่อนรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ดังกล่าว เงินบาทยังคงมีโซนแนวต้านแถว 33.85 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไปจะอยู่แถว 34.00 บาทต่อดอลลาร์) ซึ่งเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบโซนดังกล่าวได้ไม่ยาก หากบรรยากาศปิดรับความเสี่ยงในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นยุโรป ได้กดดันบรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นเอเชียเช่นกัน จนทำให้บรรดานักลงทุนต่างชาติเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ หลังมีรายงานข่าวว่า ทางการอิหร่านกำลังเตรียมโจมตีตอบโต้อิสราเอล ก็อาจทำให้เงินบาทเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมันดิบได้เช่นกัน ทว่า เงินบาทก็ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง หลังราคาทองคำได้ทยอยรีบาวด์ขึ้นจากช่วงคืนก่อนหน้า อีกทั้งผู้เล่นในตลาดบางส่วน อย่างฝั่งผู้ส่งออกต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วงเงินบาทอ่อนค่าลงเข้าใกล้โซนแนวต้านที่เราประเมินไว้ อนึ่ง หากเงินบาทสามารถพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ ซึ่งอาจต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯในคืนนี้ ให้ออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน เราประเมินว่า เงินบาทก็อาจพอมีโซนแนวรับแรกจะอยู่ในช่วง 33.65 บาทต่อดอลลาร์ และมีแนวรับถัดไปแถว 33.50 บาทต่อดอลลาร์

ทั้งนี้ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวอาจมีคุณภาพต่ำกว่าปกติ จากผลกระทบของพายุเฮอริเคนและการประท้วงหยุดงานของ Boeing ในช่วงเดือนตุลาคม ทำให้มีโอกาสที่ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อาจออกมาต่ำกว่าคาดได้พอสมควร (นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมิน ยอดการจ้างงาน +1 แสนตำแหน่ง) หรืออาจเห็นยอดการจ้างงานดังกล่าว “ติดลบ” ได้ ซึ่งในช่วงแรกตลาดอาจจะตอบรับข้อมูลดังกล่าวในเชิงลบหรือกังวลต่อแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯมากขึ้น กดดันให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯปรับตัวลดลงได้พอสมควร ตามการเพิ่มโอกาสเฟดลดดอกเบี้ยต่อเนื่องหรือเร่งลดดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตาม อยากแนะนำให้ประเมินสภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯผ่านยอดการจ้างงานในส่วนของรายงาน Household Survey (Nonfarm Payrolls จะอยู่ในส่วนของ Establishment Survey) ซึ่งจะสะท้อนภาพการจ้างงานได้ดีกว่าในช่วงเผชิญปัจจัยกดดันชั่วคราว อย่าง สภาพอากาศที่แปรปรวน โดยข้อมูลใน Household Survey ที่น่าสนใจ คือ อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate)

ซึ่งเรามองว่า อาจไม่ได้แตกต่างจากข้อมูลในเดือนก่อนหน้ามากนัก เช่นอยู่แถวโซน 4.1%-4.2% ทำให้โดยรวม ผู้เล่นในตลาดก็จะกลับมาเชื่อว่า ตลาดแรงงานสหรัฐฯไม่ได้ชะลอตัวลงหนัก ตาม Nonfarm Payrolls ทำให้มีโอกาสที่เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯอาจรีบาวด์สูงขึ้นได้อย่างรวดเร็วในระยะสั้น เพราะธีม Trump Trades ก็ยังคงอยู่

ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงในตลาด ลักษณะ Two-Way Volatility ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งสหรัฐฯ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงการปรับมุมมองต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางไปมา ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.65-34.00 บาทต่อดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img