วันศุกร์, พฤศจิกายน 1, 2024
spot_img
หน้าแรกNEWS“บีอีเอ็ม”ตอกเสาเข็มก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ม.ค.68
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“บีอีเอ็ม”ตอกเสาเข็มก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ม.ค.68

“บีอีเอ็ม” วางแผนเข้าพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ส่วนตะวันตก) เดือนม.ค.68 เริ่มประตูน้ำจุดแรก เตรียมรื้อย้ายสะพาน 3 แห่ง

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)แจ้งว่า การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ส่วนตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทาน จะเข้าพื้นที่ตามแผนก่อสร้างงานโยธาในเบื้องต้น ประตูน้ำเป็นจุดแรกในเดือน ม.ค.-ก.พ.68 ส่วนพื้นที่อนุรักษ์เกาะรัตนโกสินทร์ บริเวณงานก่อสร้างสถานีสนามหลวง สถานีศิริราช อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บริเวณถนนผ่านฟ้าลีลาศ คาดว่าใต้ดินอาจจะมีโบราณสถาน หรือวัตถุโบราณ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับกรมศิลปากรที่ต้องวางแผนดำเนินการร่วมกัน พื้นที่ส่วนนี้จะใช้เวลาขุดเจาะเพื่อสำรวจประมาณ 4-6 เดือนหลังจากนี้

สำหรับแนวก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม จะมีการหารือกับกรุงเทพมหานคร เพื่อเตรียมงานรื้อสะพานข้ามแยก โดยต้องรองานออกแบบรายละเอียดก่อนว่าจะดำเนินการรื้อย้ายออกไปเลยหรือก่อสร้างใหม่ เพื่อไม่ให้กระทบต่อฐานรากเดิมของสะพาน รวมทั้งจากการหารือกับกรุงเทพมหานคร มีความเห็นว่าอยากให้ปรับปรุงสะพานบริเวณดังกล่าวด้วย โดยสะพานที่จะมีการรื้อย้าย 3 แห่ง ประกอบด้วย สะพานข้ามแยกประตูน้ำ สะพามข้ามแยกราชเทวี สะพานข้ามแยกถนนสุทธาวาส ตัดถนนจรัญสนิทวงศ์

โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม BEM เอกชนผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้า ได้ลงนามสัญญาจ้าง บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เพื่อดำเนินงานออกแบบ และก่อสร้างงานโยธา (Civil Works Contract) และสัญญาจ้างงานจัดหาระบบรถไฟฟ้า (M&E Works Contract) รวมมูลค่ากว่า 1.1 แสนล้านบาท

ขณะเดียวกัน BEM วางแผนดำเนินงานก่อสร้างงานโยธาส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ กำหนดแล้วเสร็จตามสัญญาภายใน 6 ปี โดย BEM คาดว่าจะเร่งรัดงานดังกล่าวให้แล้วเสร็จก่อนกำหนด เพื่อเปิดให้บริการได้ภายในปี 73 ซึ่งรายละเอียดประกอบด้วย

ปีที่ 1 งานออกแบบและเข้ารื้อย้ายสาธารณูปโภค ขุดสำรวจใต้ดิน เพื่อเตรียมพื้นที่ก่อสร้าง

ปีที่ 2 เริ่มขุดเจาะสถานี และทำผนัง

ปีที่ 3-5 จุดเจาะอุโมงค์ใต้ดิน

ปีที่ 5-6 เก็บรายละเอียดงานก่อสร้าง พร้อมติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและทดสอบระบบ

รายงานข่าวจากบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEMแจ้งว่า จะติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ พร้อมจัดหาขบวนรถเพื่อมาเปิดให้บริการเดินรถส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ภายในสิ้นปี 70 เพื่อเป็นของขวัญให้ประชาชน รวมทั้งจะเร่งรัดงานโยธาส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ให้แล้วเสร็จเร็วกว่ากำหนด

โดยบริษัทฯ คาดการณ์จำนวนผู้โดยสารในปีแรกของการให้บริการช่วงตะวันออก จะมีประมาณ 1.2 แสนคนต่อวัน และเมื่อเปิดตลอดเส้นทางคาดว่าจะมี 3 แสนคนต่อวัน สำหรับค่าโดยสารนั้นจะเริ่มต้นที่ 17-44 บาท โดยรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตลอดแนวเส้นทางช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 35.9 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 27 กิโลเมตร และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 8.9 กิโลเมตร จำนวน 28 สถานี แบ่งเป็นสถานีใต้ดิน 21 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี

โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นที่สถานีบางขุนนนท์ ซึ่งเป็นอุโมงค์ใต้ดินวิ่งไปตามแนวทางรถไฟเดิมไปยังโรงพยาบาลศิริราช บริเวณสถานีศิริราช จากนั้นจึงวิ่งลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาขนานไปกับสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ลอดใต้พื้นที่ถนนราชดำเนิน ผ่านสนามหลวง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วเบี่ยงแนวเส้นทางไปตามแนวถนนหลานหลวงจนถึงแยกยมราช

จากนั้นจะเลี้ยวขวาไปตามถนนเพชรบุรีจนถึงสี่แยกประตูน้ำ เลี้ยวซ้ายลอดใต้ถนนราชปรารภตรงไปถึงสามเหลี่ยมดินแดง แล้วจึงเลี้ยวขวาไปตามถนนดินแดง เลี้ยวซ้ายวิ่งตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต แล้วเลี้ยวขวาผ่านกรุงเทพมหานคร 2 และเบี่ยงขวาลอดผ่านชุมชนประชาสงเคราะห์ ไปยังสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยแนวเส้นทางจะวิ่งขนานไปตามแนวถนนพระรามเก้าไปยังสถานี รฟม. ลอดใต้คลองแสนแสบ ก่อนเลี้ยวซ้ายไปตามถนนรามคำแหง ผ่านแยกลำสาลี ไปจนถึงบริเวณคลองบ้านม้า ก่อนเปลี่ยนแนวทางวิ่งจากอุโมงค์ใต้ดินเป็นทางวิ่งยกระดับ และวิ่งตามแนวถนนรามคำแหงไปจนถึงบริเวณคลองสองที่สถานีมีนบุรี ก่อนสิ้นสุดแนวเส้นทางที่สถานีสุวินทวงศ์ บริเวณสามแยกรามคำแหง-สุวินทวงศ์

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img