“สศช.” แจ้งที่ประชุมครม.เตรียมรับมือนโยบายกีดกันทางการค้า-การจัดเก็บภาษีนำเข้า “ทรัมป์” หวั่นส่งผลกระทบต่อตลาดเงิน-ตลาดทุนโลกเกิดความผันผวน
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในการประชุมครม.เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้หารือถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจของไทยจากนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจจะมีผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะในตลาดเงินและตลาดทุน จากมาตรการกีดกันทางการค้า โดยหลังจากนายทรัมป์ ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ประกาศชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 6 พ.ย. ตามเวลาในประเทศไทย ส่งผลถึงดัชนีดอลลาร์ สรอ. (DXY) แข็งค่าขึ้น 1.6% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อ้างอิงอายุ 10 ปีปรับเพิ่มสูงขึ้น 3.8%
ขณะที่ราคาสินทรัพย์สำคัญๆ อาทิ ดัชนี Dow Jones ดัชนี S&P 500 ดัชนี Nasdaq ดัชนี Russell 2000 และ Bitcoin ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นทันที เนื่องจากนักลงทุนคาดหวังว่าจะได้รับผลบวกจากนโยบายของนายทรัมป์ เช่น การปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล การขยายเวลาการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศต่างๆ การลดความเข้มงวดในการกำกับดูแลภาคการเงินในสหรัฐฯ และการสนับสนุนเงินดิจิทัล เป็นต้น
ทั้งนี้แม้ว่านโยบายดังกล่าวมีแนวโน้มจะสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อให้กับเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ช้าลงกว่าที่เคยได้คาดการณ์ไว้ ประกอบกับความกังวลเกี่ยวกับนโยบายการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งผลให้เกิดแรงกดดันต่อสินทรัพย์ของกลุ่มประเทศในภูมิภาคและตลาดเกิดใหม่ในฐานะสินทรัพย์เสี่ยงและผู้ส่งออกสุทธิไปยังสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูล ณ วันที่ 8 พ.ย.67 หรือ 2 วันหลังจากการประกาศผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศในภูมิภาค อาทิ เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ จีน ไต้หวัน อ่อนค่าลงทันทีจากวันที่ 5 พ.ย.โดยเงินบาทของไทยอ่อนค่าลง 1.1%
ด้านดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของหลายประเทศในภูมิภาคปรับตัวลดลง อาทิ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฮ่องกง และเกาหลีใต้ โดยดัชนี SET Index ของไทย ลดลง1.2% ขณะที่ดัชนีหลักทรัพย์ของ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน และ มาเลเซีย ปรับตัวเพิ่มขึ้น
โดยสศช. ประเมินว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตลาดเงินและตลาดทุนดังกล่าวเป็นการตอบรับของนักลงทุนตามนโยบายของนายทรัมป์ ที่ได้เคยหาเสียงไว้ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ดังนั้นในระยะต่อไปจึงจำเป็นจะต้องติดตามความชัดเจนทั้งระดับความเข้มข้นและช่วงเวลาของการดำเนินนโยบายในด้านต่างๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งอาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดเงินตลาดทุนโลก โดยเฉพาะค่าเงินและตลาดหลักทรัพย์ของกลุ่มประเทศในภูมิภาคด้วย