วันอังคาร, เมษายน 8, 2025
หน้าแรกNEWSตลาดงานทักษะ STEM คึกคัก เปิดรับสมัครกว่า 3 หมื่นตำแหน่ง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ตลาดงานทักษะ STEM คึกคัก เปิดรับสมัครกว่า 3 หมื่นตำแหน่ง

“ทีดีอาร์ไอ” ระบุทักษะแห่งทศวรรษมาแรง ตลาดงานด้าน STEM คึกคัก เปิดรับสมัครกว่า 3 หมื่นตำแหน่ง ไม่กระจุกตัวในเมืองหลวงเหมือนงานอื่น แต่กระจายในจังหวัดเขตอุตสาหกรรม

ทีม Big Data สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดผลวิเคราะห์สถานะความต้องการแรงงาน และทักษะของแรงงานที่นายจ้างต้องการใน “โครงการพัฒนาระบบวิเคราะห์ข้อมูลด้วย Large Language Models (LLMs) เพื่อการใช้ประโยชน์ในการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงฯ” สนับสนุนโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) โดยทำการรวบรวมประกาศรับสมัครงานออนไลน์จาก 23 เว็บไซต์รับสมัครงานในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 (1 ก.ค.-30 ก.ย.) และวิเคราะห์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งพบประกาศรับสมัครงานทั้งสิ้น 227,269 ตำแหน่ง

สำหรับการวิเคราะห์ประกาศรับสมัครงานครั้งล่าสุดในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 นี้ ทีมวิจัยได้มุ่งเน้นการวิเคราะห์ไปที่กลุ่มอาชีพที่มีความต้องการทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM) ซึ่งเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ของประเทศ ซึ่งพบว่ามีประกาศรับสมัครงานในกลุ่มอาชีพ STEM ทั้งหมด 37,417 ตำแหน่ง ซึ่งคิดเป็น 16.5% ของตำแหน่งงานที่เปิดรับทั้งหมด

โดยกลุ่มอุตสาหกรรม 10 อันดับแรกที่มีความต้องการแรงงานด้าน STEM มากที่สุด ประกอบด้วย 1.การขายส่งและขายปลีก 5,873 ตำแหน่ง (21.1%) 2.การผลิต 5,728 ตำแหน่ง (20.6%) 3.วิชาชีพวิทยาศาสตร์และวิชาการ 3,462 ตำแหน่ง (12.4%) 4.การบริหารและบริการสนับสนุน 2,886 ตำแหน่ง (10.4%) 5.ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 2,529 ตำแหน่ง (9.1%) 6.ก่อสร้าง 1,836 ตำแหน่ง (6.6%) 7.การเงินและการประกันภัย 1,409 ตำแหน่ง (5.1%) 8.สุขภาพและสังคมสงเคราะห์ 1,254 ตำแหน่ง (4.5%) 9.อสังหาริมทรัพย์ 774 ตำแหน่ง (2.8%) และ 10.ที่พักแรมและบริการอาหาร 637 ตำแหน่ง (2.3%)

ไอทีซัพพอร์ต-โปรแกรมเมอร์-วิเคราะห์ระบบ-วิศวกรซอฟต์แวร์ เนื้อหอมสุด

เมื่อเจาะลึกประกาศรับสมัครงานกลุ่ม STEM พบว่า งานที่มีประกาศรับสมัครมากที่สุดอันดับที่ 1 คืองานด้านคอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์ 13,683 ตำแหน่ง คิดเป็น 36.6% ของประกาศงานด้าน STEM ทั้งหมด โดยอาชีพที่เปิดรับสมัครมากที่สุดในสายนี้ คือ เจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือและแก้ปัญหาด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Support) นักเขียนโปรแกรม (Programmer) นักวิเคราะห์ระบบ (System Analyst) วิศวกรซอฟต์แวร์ (Software Engineer) และวิศวกรระบบ (System Engineer) ตามด้วยอันดับที่ 2 งานวิศวกรรม เปิดรับสมัคร 10,218 ตำแหน่ง คิดเป็น 27.3% โดยอาชีพที่เปิดรับสมัครมากที่สุด ได้แก่ วิศวกรไฟฟ้า วิศวกรโครงการ วิศวกรโยธา และวิศวกรเครื่องกล

อันดับที่ 3 งานขาย (ด้านเทคนิคและเฉพาะทาง) มีจำนวน 5,602 ตำแหน่ง คิดเป็น 15.0% โดยอาชีพที่เปิดรับสมัครมากที่สุด ได้แก่ วิศวกรฝ่ายขาย (Sales Engineer) ตัวแทนขาย และผู้จัดการฝ่ายขาย และอันดับที่ 4 การดูแลสุขภาพ มีจำนวนตำแหน่งงาน 3,995 ตำแหน่ง คิดเป็น 10.7% โดยอาชีพที่เปิดรับสมัครมากที่สุด ได้แก่ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานวิชาชีพ (Safety Officer) เภสัชกร พยาบาล และเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (Occupational Health and Safety Officer) สำหรับงาน STEM อื่น ๆ ซึ่งรวมถึงตำแหน่งบริหาร อาชีพด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม และครูสอนวิชา STEM มีจำนวนตำแหน่งงานรวมกัน 3,916 ตำแหน่ง คิดเป็น 10.5% ของทั้งหมด

งานด้าน STEM ไม่กระจุกตัวกทม.เหมือนตลาดแรงงานอื่น แต่กระจายในจังหวัดอุตสาหกรรม

เมื่อจำแนกการประกาศรับสมัครงานตามจังหวัดซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานประกอบการ พบว่า จ.ระยองเปิดรับสมัครงานในสาขา STEM ในสัดส่วนที่มากที่สุด คือ  29.4% รองมาคือ จ.พระนครศรีอยุธยา 26.8% , ฉะเชิงเทรา 23.3%, ลำพูน 21.7% และชลบุรี 21.3% ซึ่งทั้งหมดนี้มีสัดส่วนงาน STEM ต่อจำนวนงานทั้งหมดสูงกว่ากรุงเทพมหานครที่มีสัดส่วนเพียง 17.3% ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจังหวัดที่เป็นเขตอุตสาหกรรมมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะด้าน STEM ที่เข้มข้นสูงกว่าในกรุงเทพฯ ซึ่งมีเศรษฐกิจหลากหลายมากกว่า

สำรวจงาน S-Curve ประกาศรับสมัครกว่า 5 หมื่นตำแหน่ง

ขณะเดียวกันทีมวิจัย ยังได้วิเคราะห์งานในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ซึ่งเป็นแผนพัฒนาอุตสาหกรรม 10 กลุ่มตามที่รัฐบาลได้เสนอในปี 2558 เพื่อเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจและยกระดับไทยสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2575 (จำแนกนิยามจากงานวิจัยหลายแหล่ง) พบว่ามีประกาศรับสมัครงานในกลุ่มดังกล่าวจำนวน 52,194 ตำแหน่ง คิดเป็น 23% ของตำแหน่งงานทั้งหมดในไตรมาสนี้

โดยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีจำนวนตำแหน่งงานมากที่สุด คือ 31,689 ตำแหน่ง คิดเป็น 60.7% ของกลุ่ม ตามมาด้วยอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร 6,184 ตำแหน่ง (11.8%) และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 5,188 ตำแหน่ง (9.9%) อุตสาหกรรมดิจิทัลอยู่ในอันดับที่ 4 ด้วย 3,906 ตำแหน่ง (7.5%)

ในขณะที่อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเครื่องจักรเพื่อการอุตสาหกรรม มีจำนวนตำแหน่งงานระหว่าง 1,000-1,500 ตำแหน่ง คิดเป็น 2.7%, 2.6%, 2.2% และ 2.0% ตามลำดับ ส่วนอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพมี 208 ตำแหน่ง (0.4%) และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพมีน้อยที่สุดเพียง 68 ตำแหน่ง (0.1%)

เมื่อวิเคราะห์การประกาศรับสมัครงานในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve พบว่างานที่ประกาศรับสมัครมากที่สุดคือ การจัดการ 8,613 ตำแหน่ง (16.5%) การขายและงานที่เกี่ยวข้อง 6,845 ตำแหน่ง (13.1%) การเตรียมอาหารและการบริการ 6,470 ตำแหน่ง (12.4%) สนับสนุนงานออฟฟิศและงานธุรการ 6,098 ตำแหน่ง (11.7%) ธุรกิจและการเงิน 5,151 ตำแหน่ง (9.9%)

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ครองแชมป์สัดส่วนอาชีพ STEM สูงสุดในกลุ่ม S-Curve

ทีมวิจัย ยังได้วิเคราะห์กลุ่มอาชีพ STEM ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve พบว่า มีความต้องการตำแหน่งงาน STEM รวมทั้งสิ้น 7,448 ตำแหน่ง หรือคิดเป็น 14.3% ของตำแหน่งงานทั้งหมดใน S-Curve (52,194 ตำแหน่ง) โดยพบว่าสัดส่วนการจ้างงาน STEM ในแต่ละ S-Curve นั้น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ครองอันดับหนึ่งด้วยสัดส่วน 49.6% (668 ตำแหน่ง จากตำแหน่งงานทั้งหมด 1,346 ตำแหน่ง) รองลงมาคืออุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งมีสัดส่วน 44.8% (1,751 ตำแหน่งจากทั้งหมด 3,906 ตำแหน่ง) ส่วนอันดับสามคืออุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ที่มีสัดส่วน 35.3% แม้จะมีการเปิดรับเพียง 24 ตำแหน่งจาก 68 ตำแหน่ง

เมื่อจำแนกจำนวนประกาศรับสมัครงานตามกลุ่มอาชีพ STEM ที่ปรากฏอยู่ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve พบว่างานด้านคอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์มีความต้องการสูงที่สุดถึง 2,608 ตำแหน่ง (35.0% ของตำแหน่งงาน STEM ทั้งหมด 7,448 ตำแหน่ง) และครองอันดับหนึ่งในอุตสาหกรรมการบิน โลจิสติกส์และดิจิทัล รองลงมาคืองานด้านวิศวกรรมที่มีความต้องการ 1,889 ตำแหน่ง (25.4%) ซึ่งเป็นที่ต้องการสูงสุดในหลายอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น การท่องเที่ยว การแปรรูปอาหาร ยานยนต์ เครื่องจักรเพื่อการอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์ และเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ

ทักษะ SQL-Python-Java ยังเป็นที่ต้องการสูงในสายเทค

ในกลุ่มงานด้านคอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์ ทักษะ SQL (ระบบคำสั่งสำหรับสืบค้นและจัดการฐานข้อมูล) มีความต้องการสูงสุดด้วยจำนวน 280 ตำแหน่ง (11.6% ของตำแหน่งในกลุ่มนี้) ตามมาด้วย Python และ Java ที่มีความต้องการ 254 และ 252 ตำแหน่งตามลำดับ (คิดเป็นประมาณ 10.5% เท่ากัน) ส่วน JavaScript และการจัดการโครงการ มีความต้องการ 228 และ 218 ตำแหน่งตามลำดับ (คิดเป็น 9.5% และ 9.0%)  สะท้อนถึงความต้องการทักษะด้านฐานข้อมูลและการเขียนโปรแกรมในตลาดแรงงานด้านไอทีอย่างชัดเจน

ในกลุ่มงานวิศวกรรม การจัดการโครงการเป็นทักษะที่มีความต้องการมากที่สุด โดยมีประกาศรับสมัครงานถึง 374 ตำแหน่ง (23.0%) รองลงมาคือการใช้โปรแกรม AutoCAD (150 ตำแหน่ง หรือ 9.2%) และทักษะวิศวกรรมไฟฟ้า (133 ตำแหน่ง หรือ 8.2%) ส่วนทักษะด้านวิศวกรรมเครื่องกลและการก่อสร้างมีความต้องการอยู่ที่ 121 และ 119 ตำแหน่ง (7.4% และ 7.3% ตามลำดับ) ข้อมูลนี้บ่งชี้ว่าทักษะการบริหารจัดการโครงการและทักษะเฉพาะทางด้านวิศวกรรมเป็นที่ต้องการสูงในกลุ่มงานวิศวกรรม

ทั้งนี้ทีดีอาร์ไอจะนำเสนอการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานไทยในทุกไตรมาสอย่างต่อเนื่อง โดยคาดหวังว่าจะเป็นข้อมูลช่วยผู้ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน รวมทั้งสถาบันการศึกษา สถาบันฝึกอบรมต่างๆ ผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต และทันต่อเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาวะทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

จุดยืน!! “กาสิโน”

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img