“พูนพงษ์”เผยเงินเฟ้อพ.ย.เพิ่มขึ้น 0.95% สูงสุดในรอบ 3 เดือน แรงหนุนจากราคาน้ำมันดีเซล-อาหาร-เครื่องดื่มปรับตัวสูงขึ้น คาดปีนี้อยู่ที่ 0.5 %แต่ในปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 0.8%
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทยเดือนพฤศจิกายน 2567 เท่ากับ 108.47 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2566 ซึ่งเท่ากับ 107.45 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 0.95 (YoY) สูงสุดในรอบ 3 เดือน จากเดือนตุลาคมอยู่ที่ร้อยละ 0.83 โดยปัจจัยหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดีเซลเป็นผลจากฐานราคาต่ำในปีก่อน และราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวสูงขึ้นจากราคาผลไม้สด เครื่องประกอบอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก
ซึ่งเงินเฟ้อของไทยยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่อันดับ 23 จาก 132 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (บรูไน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม สปป.ลาว)
สาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่สูงขึ้นมาจาก หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.28 (YoY) จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มผลไม้สด (เงาะ มะม่วง กล้วยน้ำว้า แตงโม ทุเรียน ลองกอง) กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำอัดลม กาแฟ (ร้อน/เย็น)) กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร (มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) น้ำตาลทราย) กลุ่มอาหารสำเร็จรูป (ข้าวราดแกง กับข้าวสำเร็จรูป อาหารเช้า)
กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ (ปลานิล ไก่สด กุ้งขาว เนื้อสุกร) และกลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง (ขนมอบ ข้าวสารเหนียว) อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ ผักสด (ผักคะน้า มะนาว มะเขือ ผักกาดขาว ผักชี มะเขือเทศ แตงกวา พริกสด) ไข่ไก่ ไก่ย่าง นมเปรี้ยว ปลาทู น้ำมันพืช และอาหารโทรสั่ง (Delivery) เป็นต้น
หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.70 (YoY) จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน อาทิ น้ำมันดีเซล และน้ำมันเบนซิน นอกจากนี้ ค่าเช่าบ้าน ค่าโดยสารเครื่องบิน ค่าบริการ
ส่วนบุคคล (ค่าแต่งผมบุรุษและสตรี) และค่ารถรับส่งนักเรียน ปรับสูงขึ้นเช่นกัน ขณะที่ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการ
ที่ราคาลดลง อาทิ แก๊สโซฮอล์ 95 ของใช้ส่วนบุคคล (แชมพู สบู่ถูตัว ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว) สิ่งที่เกี่ยวกับ
การทำความสะอาด (น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างห้องน้ำ) และเสื้อผ้า (เสื้อยืดบุรุษและสตรี เสื้อเชิ้ตบุรุษและสตรี) เป็นต้น
อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก) สูงขึ้นร้อยละ 0.80 (YoY) เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากเดือนตุลาคม 2567 ที่สูงขึ้นร้อยละ 0.77 (YoY)
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือนพฤศจิกายน 2567 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2567 ลดลงร้อยละ 0.13 (MoM)
ตามการลดลงของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.42 ปรับลดลงตามราคาผักสดบางชนิด อาทิ ผักกาดขาว ผักชี กะหล่ำปลี มะเขือ มะนาว และพริกสด ผลไม้บางชนิด อาทิ ส้มเขียวหวาน มะละกอสุก กล้วยน้ำว้า
และฝรั่ง รวมทั้งไข่ไก่ และไก่สด
อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ราคาปรับสูงขึ้น อาทิ ข้าวสารเจ้า น้ำมันพืช อาหารโทรสั่ง (Delivery) มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) แตงกวา และถั่วฝักยาว ขณะที่หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.09 ตามการสูงขึ้นของราคาแก๊สโซฮอล์ทุกชนิด น้ำมันเบนซิน ค่าเช่าบ้าน และของใช้ส่วนบุคคล (ครีมนวดผม แป้งทาผิวกาย ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว) สำหรับสินค้าที่ราคาปรับลดลง อาทิ สิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาถูพื้น น้ำยารีดผ้า น้ำยาล้างห้องน้ำ) กางเกงขายาวบุรุษและสตรี เป็นต้น ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เฉลี่ย 11 เดือน (มกราคม – พฤศจิกายน) ของปี 2567 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 สูงขึ้นร้อยละ 0.32 (AoA)
สำหรับแนวโน้มเดือนธันวาคม คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นถึง 1.2-1.3% เนื่องจากเจอสถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ ส่งผลราคาน้ำมันดีเซลทางภาคใต้ปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งราคาผักสดในภาคใต้ราคาลดลงน้อยกว่าภูมิภาคทำให้อัตราเงิเฟ้อสูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ โดยคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 อยู่ระหว่างร้อยละ 0.2 – 0.8 (ค่ากลางร้อยละ 0.5) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน
สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2568 คาดว่าจะอยู่ระหว่างร้อยละ 0.3 – 1.3 (ค่ากลางร้อยละ 0.8) โดยมีปัจจัยที่สนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย (1) เศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปี 2567 ทั้งการขยายตัวของการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงแนวโน้มนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้น (2) ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตรซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2567 และ (3) การใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้นจาก “โครงการเติมเงิน 10,000 บาท”
ขณะที่ปัจจัยที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ประกอบด้วย 1. ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับลดค่าไฟฟ้าและการตรึงราคาก๊าซ LPG
2.ฐานราคาผักและผลไม้สดในปี 2567 อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์เอลนีโญและลานีญา ขณะที่ในปี 2568 คาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะไม่รุนแรงและส่งผลกระทบต่อราคาไม่มากนัก 3. การชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และการจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศ จะส่งผลให้ค่าเช่าบ้านและราคารถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างจำกัด
4. สินค้าสำคัญมีแนวโน้มปรับขึ้นราคาอย่างจำกัด จากปัจจัยด้านต้นทุนสำคัญที่มีแนวโน้มปรับลดลง เช่น อัตราดอกเบี้ย และราคาน้ำมันในตลาดโลก
ทั้งนี้ หากสถานการณ์ในระยะถัดไปเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ กระทรวงพาณิชย์จะมีการทบทวนตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอีกครั้ง
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนพฤศจิกายน 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 53.2 จากระดับ 52.9 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับเพิ่มมาอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค
ในปัจจุบันปรับเพิ่มมาอยู่ที่ระดับ 45.1 จากระดับ 44.8 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)
ปรับเพิ่มมาอยู่ที่ระดับ 58.5 จากระดับ 58.3
สาเหตุของการปรับเพิ่มคาดว่ามาจาก 1. การดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ช่วยส่งเสริมการบริโภคในประเทศ 2.การส่งออกขยายตัวดีตามความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารที่เพิ่มขึ้น และ 3.ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวช่วงปลายปีส่งผลดีต่อภาคธุรกิจบริการและสร้างรายได้เข้าประเทศ อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงยืดเยื้อ และมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกาอาจเพิ่มแรงกดดันต่อสงครามการค้า ประกอบกับหนี้ครัวเรือนของไทยยังอยู่ในระดับสูง เป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป