คลัง-ธปท.-สถาบันการเงินเตรียมตั้งโต๊ะแถลงมาตราการแก้หนี้ของธนาคารพาณิชย์ ในส่วนของหนี้บ้าน รถยนต์ และเอสเอ็มอีวันที่ 11 ธ.ค.นี้
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้ามาตราการแก้หนี้ประชาชนว่า ในวันที่ 11 ธ.ค. 2567 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และผู้บริหารสถาบันการเงินจะร่วมกันแถลงมาตรการแก้หนี้ของธนาคารพาณิชย์ ในส่วนของหนี้บ้าน รถยนต์ และเอสเอ็มอี
โดยรูปแบบของมาตรการแก้หนี้ เช่น หากผู้เข้าร่วมมาตรการเป็นหนี้เสียสินเชื่อบ้าน ในช่วง 3 ปีที่เข้าโครงการ สามารถเลือกชำระค่างวดแบบเต็มจำนวนเดิม หรือเลือกผ่อนครึ่งหนึ่งก็ได้ โดยเงินที่ชำระมาจะนำไปตัดเงินต้น 100% ส่วนรายละเอียดเงื่อนไขจะมีอะไรบ้างนั้นต้องรอวันที่ 11 ธ.ค.นี้
ส่วนการลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Institutions Development Fund หรือ FIDF) เหลือ 0.23% จากเดิม 0.46% เพื่อตั้งกองทุนสำหรับมาตรการแก้หนี้นั้น มองว่าเป็นการออกแบบที่ดีแล้ว เนื่องจากเป็นกลไกที่จะทำให้เกิดการแข่งขันช่วยลูกหนี้ระหว่างสถาบันการเงิน
โดยการลดเงินนำส่งเข้ากองทุนฯ จะให้ยืดเวลาชำระหนี้ FIDF ออกไปอีก ถือเป็นสิ่งที่รัฐจะเสีย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การชำระหนี้ FIDF ใกล้จะครบวงเงินแล้ว ดังนั้นการลดเงินนำส่งเข้ากองทุน เพื่อยืดเวลาใช้หนี้ไป จะทำให้คนหายใจได้ ทำให้เศรษฐกิจหมุน ซึ่งมองในความคุ้มค่าส่วนนี้มากกว่า
ก่อนหน้านี้ นายนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การปรับโครงสร้างหนี้ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น จะได้รับการพักชำระดอกเบี้ยให้ 3 ปี จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มหนี้บ้าน 2.หนี้รถยนต์ และ 3.เอสเอ็มอี โดยทั้ง 3 กลุ่มจะต้องเป็นหนี้เสียอายุไม่เกิน 1 ปี และต้องเป็นหนี้เสียภายใน 31 ต.ค.2567
“ทั้ง 3 กลุ่มมีจำนวนลูกหนี้ที่เข้าข่าย 2.3 ล้านบัญชี มูลหนี้รวม 1.31 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น กลุ่มหนี้บ้าน มีจำนวนลูกหนี้ที่เข้าข่ายจำนวน 4.6 แสนบัญชี มูลหนี้รวม 4.8 แสนล้านบาท กลุ่มหนี้รถยนต์ 1.4 ล้านบัญชี มูลหนี้รวม 3.7 แสนล้านบาท และกลุ่มหนี้เอสเอ็มอี มีลูกหนี้เข้าข่ายจำนวน 4.3 แสนบัญชี มูลหนี้รวม 4.54 แสนล้านบาท”นายเผ่าภูมิ ระบุ
สำหรับอัตราดอกเบี้ยที่พักชำระหนี้ให้เป็นเวลา 3 ปีนั้น ทางกลุ่มสถาบันการเงินจะได้รับการชดเชยด้วยการลดอัตราเงินนำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF) จากธนาคารพาณิชย์ ลงครึ่งหนึ่งเหลือ 0.23% ต่อปีจาก 0.46% ต่อปี เพื่อนำเงินนี้มาช่วยจ่ายดอกเบี้ยแทนทำให้ผู้ที่ชำระหนี้สามารถจ่ายชำระเงินต้น ปัจจุบันสถานการณ์หนี้ครัวเรือนสูง อยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท