การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจทั่วโลก ประเทศไทยก็เผชิญภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นกัน โดยรัฐบาลได้มีนโยบายให้หน่วยงานภาครัฐเร่งเปิดประมูลโครงการโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อช่วยกระตุ้นการลงทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งกระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีแผนการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการ
สำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม คาดว่าจะเริ่มเห็นการเร่งประมูลในช่วงที่เหลือของปีนี้ไปจนถึงปี 2565 นั้นมีหลายโครงการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุน 101,112 ล้านบาท ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการเร่งสำรวจอสังหาริมทรัพย์ตามแนวสายทางโครงการฯ และจัดทำร่างเอกสารรายละเอียดเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์)
โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ภายในเดือนก.ย. 2564 ได้เอกชนผู้ชนะการประกวดราคาต้นปี 2565 และเริ่มดำเนินการก่อสร้างในเดือนก.ย. 2565 พร้อมกำหนดเปิดให้บริการเดือนธ.ค. 2570
ส่วน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุน 127,012 ล้านบาท เป็นโครงการที่เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนแบบ PPP net cost 30 ปี โดยเอกชนลงทุนงานโยธาช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ และงานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถ บริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาโครงการตลอดสายจากบางขุนนนท์-มีนบุรี โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้ประกวดราคาได้เดือนส.ค. 2564
“กรมทางหลวงเร่งประมูลมอเตอร์เวย์”
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมทางหลวงอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการประกวดราคาโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) จำนวน 6 มูลค่าวงเงินลงทุนรวมกว่า 246,960 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการประกวดราคาได้ในปี 2564-2565 เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่เร่งให้เกิดการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 คลี่คลาย โดยประกอบด้วย
1.โครงการมอเตอร์เวย์ ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 16.4 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 19,700 ล้านบาท โดยใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์มาเป็นงบลงทุนในการก่อสร้าง คาดว่าจะสามารถประกวดราคาได้ในเดือนมิ.ย. 2564
2.โครงการมอเตอร์เวย์ ช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุน 28,360 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ไปเชื่อมกับมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา โดยในปัจจุบันรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) แล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP)
3.โครงการมอเตอร์เวย์เส้นทางนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุน 79,000 ล้านบาท รูปแบบการลงทุนนั้นเป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (Public-Private Partnership : PPP) อยู่ระหว่างการปรับรูปแบบก่อสร้างในช่วงจ.เพชรบุรี การประกวดราคาอาจจะดำเนินการไม่ทันในปีนี้ โดยต้นปี 2565 คาดว่าจะมีความชัดเจนเรื่องรูปแบบการก่อสร้าง และพร้อมดำเนินการประกวดราคา
4.โครงการมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 ยกระดับ ช่วงศรีนครินทร์ – สนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 18 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุน 37,500 ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณา EIA และศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน พร้อมการออกแบบโครงการคาดมีความชัดเจนภายในปีนี้
5.โครงการมอเตอร์เวย์วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก เป็นทางยกระดับ ระยะทาง 70 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุน 78,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างการจัดทำ EIA และศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน
6.โครงการมอเตอร์เวย์ ช่วงมาบตาพุด-สนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุน 4,400 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอขอจัดสรรงบประมาณสำหรับการก่อสร้างและการเวนคืนที่ดิน
“รฟท.ลุยประมูลรถไฟทางคู่128,377ลบ.”
สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ก็เริ่มมีการประมูล โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุน 72,920 ล้านบาท โดยการประมูลนั้นแบ่งออกเป็น 3 สัญญา สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 104 กิโลเมตร สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 135 กิโลเมตร และสัญญาที่ 3 ช่วง ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 84 กิโลเมตร
แหล่งข่าวจากรฟท. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18-19 พ.ค. 2564 ได้เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ และเสนอราคาทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคแล้ว สำหรับขั้นตอนต่อไปคณะกรรมการคัดเลือกจะพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติ ประเมินคุณสมบัติด้านเทคนิค และข้อเสนอด้านราคา โดยจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน คาดว่าจะประกาศผลผู้ชนะการเสนอราคาได้ในวันที่ 9 ก.ค. 2564 และหากไม่มีการยื่นอุทธรณ์ใดๆ จะสามารถลงนามในสัญญาได้ประมาณวันที่ 2 ส.ค. 2564 ทั้งนี้โครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ จะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 6 ปีและสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ในปี 2571
ส่วน โครงการรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุน 55,457 ล้านบาท นั้น ในวันที่ 25 พ.ค.นี้ รฟท. จะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ และเสนอราคาด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) ผ่านเว็บไซต์ของ รฟท. โดยโครงการดังกล่าวแบ่งงานเป็น 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก ระยะทาง 180 กิโลเมตร วงเงิน 27,123 ล้านบาท และสัญญาที่ 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 ระยะทาง 175 กิโลเมตร วงเงิน 28,333 ล้านบาท เบื้องต้นจะประกาศผลผู้ชนะในวันที่ 15 ก.ค. 2564 และลงนามในสัญญาวันที่ 6 ส.ค. 2564 โดยจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี เปิดให้บริการในปี 2569
“กทพ.เร่งประมูลทางด่วน122,148ลบ.”
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า สำหรับ กทพ.อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการประกวดราคา โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง ที่ยังเหลืออยู่ 2 สัญญานั้นประกอบด้วย สัญญา 1 ระยะทาง 6.4 กิโลเมตร จากแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เซ็นทรัลพระราม 2 กรอบวงเงินลงทุน 6,980 ล้านบาท และสัญญาที่ 3 ระยะทาง 5 กิโลเมตร ช่วงโรงพยาบาลบางปะกอก9-ด่านดาวคะนอง กรอบวงเงินลงทุน 6,991 ล้านบาท ขณะนี้ได้ออกประกาศร่างรายละเอียดเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) บนเว็บไซต์ของ กทพ. แล้ว และอยู่ระหว่างพิจารณาปรับ TOR ตามคำแนะนำของผู้ที่เกี่ยวข้องคาดว่าจะสามารถดำเนินการประกวดราคาได้ในช่วงไตรมาส 4/2564
ส่วน โครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต ระยะทาง 3.98 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุน 14,177 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเสนอโครงการให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ในเดือนมิ.ย. 2564 จากนั้นจะตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อจัดทำร่างหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชน (RFP) และเปิดประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) ต่อไป
อย่างไรก็ตาม หลังจากครม. อนุมัติในเดือนมิถุนายนนี้แล้ว คาดว่าจะเปิดขายซองเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนได้ในเดือนต.ค. 2564 จากนั้นจะเข้าสู่โครงการประมูลคัดเลือกเอกชน คาดว่าจะได้ผู้ชนะการประมูล และลงนามในสัญญาได้ช่วงเดือนมิ.ย. 2565 ส่วนการก่อสร้างโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือนั้นจะดำเนินการในระยะแรกก่อน คือ ทางด่วนเกษตรนวมินทร์-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุน 14,000 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในช่วงไตรมาส 4/2564
ขณะที่ โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ระยะทาง 104.7 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุน 80,000 ล้านบาท คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบ EIA แล้ว โดยปัจจุบันการออกแบบรายละเอียดโครงการมีความคืบหน้ากว่า 20% โดยจะเร่งออกแบบรายละเอียดระยะที่ 1 ให้แล้วเสร็จในปีนี้ เพื่อเสนอ ครม. ขออนุมัติโครงการและเปิดประมูลก่อสร้างให้ได้ภายในปี 2564 เริ่มดำเนินการก่อสร้างตามแผนปลายปี 2565 กำหนดเปิดบริการในปี 2568