ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.97 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” หลังเงินดอลลาร์ แข็งค่า-บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ดีดปรับตัวขึ้นหลังผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เฟดมีโอกาสชะลอการลดดอกเบี้ยในปีหน้าเหลือ 2 ครั้ง
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.97 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 33.81 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ได้เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง เข้าใกล้โซนแนวต้าน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ (กรอบการเคลื่อนไหว 33.79-34.00 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ซึ่งได้แรงหนุนจากทั้งการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เฟดมีโอกาสชะลอการลดดอกเบี้ยในปี 2025 เหลือราว 2 ครั้ง ตามรายงานข้อมูลดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เดือนพฤศจิกายน ที่ออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ อยู่
นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กอปรกับรายงานข่าวว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจพิจารณาคงดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ ได้กดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่องทะลุระดับ 152.50 เยนต่อดอลลาร์ ขณะเดียวกัน เงินดอลลาร์ก็ได้แรงหนุนบ้าง จากการอ่อนค่าลงเล็กน้อยของเงินยูโร (EUR) หลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) เดินหน้าลดดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 3.00% ตามคาด พร้อมส่งสัญญาณเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมในปี 2025 ตามภาพเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอลง
ส่วนอัตราเงินเฟ้อก็มีแนวโน้มชะลอลงเข้าสู่เป้าหมายของ ECB และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เงินบาทยังถูกกดดันเพิ่มเติม จากการปรับตัวลงหนักของราคาทองคำ (XAUUSD) ราว -40 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ต่างปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ การอ่อนค่าลงของเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้างแถวโซนแนวต้าน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ตามแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ถูกกดดันโดยแรงขายทำกำไรบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Alphabet -1.6%, Nvidia -1.4% ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นจากการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า แม้เฟดจะเดินหน้าลดดอกเบี้ยได้ในการประชุม FOMC เดือนธันวาคมนี้ แต่ในปีหน้า เฟดก็อาจลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้ง ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ลดลง -0.66% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.54%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อตัวลงเล็กน้อย -0.14% กดดันโดยแรงขายหุ้น Inditex -2.8% หลังบริษัทรายงานผลประกอบการที่น่าผิดหวังในวันก่อนหน้า รวมถึงแรงขายหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ อาทิ Rio Tinto -1.6% ตามการปรับตัวลงของราคาแร่โลหะในช่วงนี้ ทว่า ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนบ้าง จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ SAP +1.2%, Hermes +1.2% หลัง ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ลดดอกเบี้ยตามคาด พร้อมส่งสัญญาณเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม ท่ามกลางแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
ในฝั่งตลาดบอนด์นั้นพบว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวสูงขึ้น สู่ระดับ 4.32% หลังรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ที่ออกมาสูงกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เฟดมีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้ง ในปีหน้า อีกทั้งผู้เล่นในตลาดต่างคงกังวลต่อแนวโน้มการขาดดุลงบประมาณ (Budget Deficit) อย่างไรก็ดี เราขอเน้นย้ำว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงนี้ ก็ถือว่า เป็นการเคลื่อนไหวที่เข้าทางกลยุทธ์ Buy on Dip บอนด์ระยะยาวของเรา เนื่องจากเราคงประเมินว่า Risk-Reward ของผลตอบแทนรวม (Total Return) ของบอนด์ระยะยาวนั้นยังมีความน่าสนใจอยู่
ทางด้านตลาดค่าเงินนั้นพบว่า เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ได้แรงหนุนจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้ง ในปีหน้า นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ตามส่วนต่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กับญี่ปุ่นที่กว้างขึ้น รวมถึงการอ่อนค่าลงเล็กน้อยของเงินยูโร (EUR) ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่โซน 107 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 106.5-107.0 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงแรงขายทำกำไรทองคำของผู้เล่นในตลาด ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) พลิกกลับมาปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สู่โซน 2,700-2,710 ดอลลาร์ อีกครั้ง
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ผ่านรายงานผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (BOJ Tankan Survey) ที่จัดทำโดย BOJ ส่วนยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอังกฤษ และยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE)
นอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามความชัดเจนของเป้าหมายการเติบโตเศรษฐกิจและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากทางการจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทิศทางของตลาดการเงินจีน โดยเฉพาะในส่วนของค่าเงินหยวนจีน (CNY) ได้
สำหรับการอ่อนค่าลงของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา (ซึ่งเรายอมรับว่า สวนทางกับสิ่งที่เราประเมินไว้) อาจเริ่มชะลอลงบ้างแถวโซนแนวต้าน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากบรรดาผู้เล่นในตลาดอาจทยอยขายเงินดอลลาร์ในโซนดังกล่าว นอกจากนี้เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง หากราคาทองคำ (XAUUSD) สามารถรีบาวด์ขึ้นจากโซนแนวรับ 2,680 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ส่วนเงินดอลลาร์อาจเผชิญแรงขายทำกำไรจากผู้เล่นในตลาดได้บ้าง หลังดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้โซน 107 จุด และเข้าใกล้จุดสูงสุดของปีนี้ อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดต่างก็คาดหวังแนวโน้มเฟดชะลอการลดดอกเบี้ยในปีหน้าไปพอสมควรแล้ว ทำให้อาจมีความเสี่ยงที่ในสัปดาห์หน้า คาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ยเฟด (Dot Plot) ใหม่ อาจสะท้อนว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจต้องปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด (Repricing Fed’s rate cuts) ซึ่งอาจกดดันทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ได้
อย่างไรก็ดี ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ ทั้งแรงขายสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติที่เริ่มกลับมาเพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้ อีกทั้งเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงพอสมควร ตามการปรับลดความคาดหวังการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในเดือนธันวาคม ซึ่งหากเงินบาทอ่อนค่าลงทะลุโซนแนวต้าน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ ก็อาจอ่อนค่าลงต่อทดสอบโซน 34.20-34.30 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากเงินบาทยังไม่ได้อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านดังกล่าว เราจะยังคงประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสกลับมาทยอยแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หรืออย่างน้อยก็แกว่งตัว Sideways จากกลยุทธ์ Trend-Following
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.90-34.10 บาทต่อดอลลาร์