วันจันทร์, ธันวาคม 23, 2024
หน้าแรกHighlight“5 แบงก์ใหญ่-แบงก์ชาติ”สำรองเงินสด รับ“เทศกาลปีใหม่” 2.34 แสนล้านบาท
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“5 แบงก์ใหญ่-แบงก์ชาติ”สำรองเงินสด รับ“เทศกาลปีใหม่” 2.34 แสนล้านบาท

“ธ.กรุงเทพ-ธ.กสิกรไทย-ธ.ไทยพาณิชย์-ธ.กรุงศรีฯ-ธ.กรุงไทย -ธปท.” สำรองเงินสดรับเทศกาลปีใหม่ 234,636 ล้านบาท รองรับการเบิกถอนเงินของลูกค้าและประชาชนทั่วไปผ่านตู้เอทีเอ็ม-สาขาของธนาคารทั่วประเทศ

รายงานข่าวจากธนาคารกสิกรไทย แจ้งว่า ธนาคารฯได้เตรียมสำรองเงินสดสำหรับให้บริการในสาขาและเครื่องเอทีเอ็ม เพื่อรองรับการใช้จ่ายช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลปีใหม่ ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2567-1 มกราคม 2568 รวมทั้งสิ้น 35,900 ล้านบาท โดย แบ่งเป็นการสำรองเงินสดผ่านช่องทางสาขา จำนวน 9,400 ล้านบาท โดยเป็นเงินสำรองสำหรับสาขาในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 4,200 ล้านบาท และสาขาในเขตภูมิภาคจำนวน 5,200 ล้านบาท ทั้งนี้ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมี 790 สาขาทั่วประเทศ

สำหรับการสำรองเงินสดเพื่อเครื่องเอทีเอ็ม (K-ATM) ที่มีอยู่จำนวนกว่า 8,200 เครื่องทั่วประเทศ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 26,500 ล้านบาท แบ่งเป็นการสำรองเพื่อบรรจุเครื่องเอทีเอ็มในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 10,400 ล้านบาท และเอทีเอ็มในเขตภูมิภาคจำนวน 16,100 ล้านบาท 

รายงานข่าวจากธนาคารกรุงไทย แจ้งว่า ได้สำรองเงินสดเพื่อรองรับการใช้จ่ายของลูกค้าและประชาชน ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2567-3 มกราคม 2568 ทั้งการใช้บริการที่สาขาและเครื่อง ATM จำนวน 39,390 ล้านบาท แบ่งเป็นการสำรองในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 6,940 ล้านบาท และเขตภูมิภาค จำนวน 32,450 ล้านบาท โดยสำรองสำหรับสาขาและจุดบริการทั่วประเทศ จำนวน 8,040 ล้านบาท และเครื่อง ATM จำนวน 31,350 ล้านบาท

ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงิน ลดการใช้เงินสด และลดการเดินทางในช่วงเทศกาล ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT และแอปพลิเคชัน เป๋าตัง ที่มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย สามารถทำธุรกรรมได้ตลอด 24 ชั่วโมง ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Krungthai Contact Center 02-111-1111

ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ แจ้งว่า ธนาคารฯสำรองเงินสดจำนวน 29,400 ล้านบาท เพื่อรองรับการใช้จ่ายที่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 อันเนื่องมาจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยแบ่งเป็นเงินสำรองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 10,200 ล้านบาท และในเขตภูมิภาค 19,200 ล้านบาท ทั้งนี้เงินสำรองดังกล่าวจะถูกจัดสรรผ่านตู้เอทีเอ็มจำนวน 22,200 ล้านบาท และผ่านสาขาของธนาคารจำนวน 7,200 ล้านบาท ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ธนาคารมีสาขาทั้งสิ้น 686 สาขา และมีเครื่องเอทีเอ็มรวม 10,398 เครื่อง

ส่วนธนาคารกรุงศรีอยุธยา แจ้งว่า ได้สำรองเงินสดจำนวน 9,946 ล้านบาท เพื่อรองรับการเบิกถอนเงินของลูกค้าและประชาชนทั่วไปผ่านเครื่องกรุงศรี เอทีเอ็ม และสาขาของธนาคารทั่วประเทศ ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ระหว่างวันที่ 26 ธันวาคม 2567-1 มกราคม 2568 ทั้งนี้ แบ่งเป็นเงินสดสำรองสำหรับบริการผ่านเครื่องกรุงศรี เอทีเอ็ม จำนวน 7,038 ล้านบาท และช่องทางสาขาของธนาคารจำนวน 2,908 ล้านบาท โดยปัจจุบันธนาคารมีสาขาจำนวน 531 สาขา และเครื่องกรุงศรี เอทีเอ็ม จำนวน 5,430 เครื่องทั่วประเทศ (ข้อมูลจำนวนเครื่อง/สาขา ณ เดือนพฤศจิกายน 2567)

รายงานข่าวจากธนาคารกรุงเทพ แจ้งว่า ช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ 2568 ตามประกาศคณะรัฐมนตรี ที่ให้มีวันหยุดเพิ่มเติมในวันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม 2567 ทำให้มีวันหยุดยาวติดต่อกัน ระหว่างวันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม 2567-วันพุธที่ 1 มกราคม 2568 นั้น อย่างไรก็ตามในวันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม 2567 สาขาทั่วประเทศของธนาคารยังเปิดทำการตามปกติ และจะหยุดทำการในวันอังคารที่ 31 ธันวาคม 2567-วันพุธที่ 1 มกราคม 2568ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย

โดยธนาคารได้สำรองเงินสดไว้ให้บริการแก่ลูกค้าเพิ่มเติมจากภาวะปกติจำนวน 40,000 ล้านบาท ผ่านช่องทางบัวหลวงเอทีเอ็มที่มีกว่า 8,000 จุดทั่วประเทศ ควบคู่ไปกับช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ที่พร้อมอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง เช่น บริการโมบายแบงก์กิ้ง จากธนาคารกรุงเทพ (Bangkok Bank Mobile Banking) บริการบัวหลวงไอแบงก์กิ้ง (Bualuang iBanking) เครื่องบัวหลวงรับฝากเงินสดอัตโนมัติ (CDM) และบริการบัวหลวงโฟน โทร. 1333 หรือ 0-2645-5555 รวมถึงบริการรับชำระสินค้าและบริการผ่านระบบคิวอาร์โค้ด (QR Code) เป็นต้น

นางบุษกร ธีระปัญญาชัย ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายโครงสร้างพื้นฐานและบริการระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงสิ้นเดือนธันวาคม 2567 และเทศกาลปีใหม่ 2568 จะเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนมีความต้องการใช้ธนบัตรเพิ่มขึ้นจากช่วงปกติ โดยการสำรวจความต้องการการเบิกจ่ายธนบัตรจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งคำนึงถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจ มาตรการภาครัฐ และแนวโน้มการชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า ธนาคารพาณิชย์จะมีความต้องการการเบิกจ่ายธนบัตรจาก ธปท. ในช่วงดังกล่าวประมาณ 80,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า โดย ธปท. ได้เตรียมสำรองธนบัตรชนิดราคาต่างๆ ไว้อย่างเพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นแล้ว เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนจะได้รับบริการที่สะดวกและทั่วถึง

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img