“คณะกรรมการกฤษฎีกา 3 คณะ” มีมติให้ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ไม่ผ่านคุณสมบัติเป็นประธานบอร์ดธปท. ด้าน “คลัง-ธปท.” เดินหน้าคัดเลือกคนใหม่
รายงานข่าวจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแจ้งว่า ในการประชุมร่วมคณะกรรมการกฤษฎีกา 3 คณะ ประกอบด้วยคณะที่ 1 (กฎหมายเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง) คณะที่ 2 (กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน) และคณะที่ 13 (กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการภาครัฐ) เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีความเห็นว่านายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ไม่ผ่านคุณสมบัติการเป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้ดูข้อใดข้อหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่พิจารณาในภาพรวมทั้งหมดแล้วมีความเห็นว่า คุณสมบัติไม่ผ่าน
สำหรับคณะกรรมการ 3 คณะในคณะกรรมการกฤษฎีกา มีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายของคณะต่างๆ นั้น ประกอบด้วย คณะที่ 1 (กฎหมายเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง) ประกอบด้วย 1.นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานรัฐสภา ประธานกรรมการ 2.นายอาษา เมฆสวรรค์ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย 3.นายอารีย์ วงศ์อารยะ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย 4.นายปรีชา วัชราภัย อดีตเลขาธิการ ก.พ. 5.นายสุรชัย ภู่ประเสริฐ อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 6.นายประสพสุข บุญเดช อดีตประธานวุฒิสภา 7.นายดิสทัต โหตระกิตย์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 8.นายทศพร ศิริสัมพันธ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) 9.ม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ อดีตรองประธานศาลฎีกา และ 10.นายกฤษฎา บุญราช อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย
คณะที่ 2 (กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน) ประกอบด้วย 1.นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ 2.คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ อดีตปลัดกระทรวงวัฒนธรรม 3.นายอัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 4.นางโฉมศรี อารยะศิริ อดีตรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 5.นายดิเรก อิงคนินันท์ อดีตประธานศาลฎีกา 6.ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อดีตอัยการสูงสุด 7.นายมนัส แจ่มเวหา อดีตอธิบดีกรมบัญชีกลาง 8.นายประพันธ์ นัยโกวิท อดีตรองอัยการสูงสุด 9.นางพงษ์สวาท นีละโยธิน อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และ 10.นายนพดล เฮงเจริญ อดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด
คณะที่ 13 (กฎหมายเกี่ยวกับการบรหารจัดการภาครัฐ) ประกอบด้วย 1.นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ประธานกรรมการ 2.นายสุเทพ เจตนาการณ์กุล อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 3.พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด อดีตที่ปรึกษา (สบ.10) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 4.นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 5.นายกำชัย จงจักรพันธ์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 6.นางเบญจวรรณ สร่างนิทร อดีตเลขาธิการ ก.พ. 7.นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ อดีตประธานศาลฎีกา 8.พล.ร.อ.ปรีชาญ จามเจริญ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ 9.พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง อดีตจเรตำรวจแห่งชาติ และ 10.นายนัฑ ผาสุข อดีตเลขาธิการวุฒิสภา
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังรอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่งหนังสือตอบกลับมาที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อย่างเป็นทางการ โดยกระทรวงการคลังต้องส่งเรื่องขอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นการดำรงตำแหน่ง ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เป็นตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ เพราะเข้าใจกันมาตลอดว่าการดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ไม่ถือเป็นตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้น เพื่อความมั่นใจเกี่ยวกับคุณสมบัตินายกิตติรัตน์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งดังกล่าวในสมัยรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี จึงขอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นบรรทัดฐานสำหรับการเสนอชื่อผู้มาเป็นประธานบอร์ด ธปท.
รายงานแจ้งว่า กรณีกระแสข่าว คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นว่า การดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ถือเป็นตำแหน่งทางการเมือง ทำให้นายกิตติรัตน์ ขาดคุณสมบัติในการเป็นประธานบอร์ดธปท.นั้น จะต้องเริ่มกระบวนการคัดเลือกใหม่ โดยกระทรวงการคลัง และธปท. ต้องเสนอรายชื่อใหม่ เพื่อให้คณะกรรมการคัดเลือกประธานบอร์ด ธปท. ชุดเดิมที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ เป็นประธาน พิจารณาคัดเลือกในขั้นต่อไป ซึ่งในในระหว่างที่ยังไม่มีประธานบอร์ด ธปท.คนใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทนนายปรเมธี วิมลศิริ ซึ่งหมดวาระไปตั้งแต่เดือนก.ย. 2567 จะไม่มีผลกระทบต่อการทำงานของคณะกรรมการ ธปท. โดยยังสามารถดำเนินการได้ตามปกติ เพราะรองประธานบอร์ดธปท. ซึ่งมีผู้ว่าการ ธปท. โดยตำแหน่ง สามารถทำหน้าที่แทนได้ในระหว่างที่ยังไม่มีประธานบอร์ด ธปท. คนใหม่.