“ค่าเงินบาท” เปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.03 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” หลังเงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯเหนือโซน 4.60% กดดันให้เงินเยนญี่ปุ่นพลิกกลับมาอ่อนค่าลง
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.03 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 33.99 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงบ้าง ในลักษณะ Sideways Up (แกว่งตัวในกรอบ 33.93-34.12 บาทต่อดอลลาร์) โดยในช่วงแรกเงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องทะลุโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ เข้าใกล้โซน 33.90 บาทต่อดอลลาร์ ตามจังหวะการย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์และการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ ทว่า การแข็งค่าดังกล่าวของเงินบาทก็อยู่ได้ไม่นาน หลังเงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯเหนือโซน 4.60%
ซึ่งการปรับตัวขึ้นดังกล่าวของบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯยังได้กดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) พลิกกลับมาอ่อนค่าลงใกล้โซน 158 เยนต่อดอลลาร์อีกครั้ง ตามส่วนต่างบอนด์ยีลด์สหรัฐฯกับญี่ปุ่นที่กว้างมากขึ้น นอกจากนี้การปรับตัวขึ้นของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ก็มีส่วนกดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลง รวมถึงกดดันให้เงินบาททยอยอ่อนค่าลงด้วยเช่นกัน
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามจังหวะการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการรีบาวด์ขึ้นบ้างของราคาทองคำ ส่วนนักลงทุนต่างชาติก็ซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะในส่วนหุ้นไทย
สำหรับในสัปดาห์ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ และจีน อย่างรายงานดัชนี PMI ในเดือนธันวาคม อนึ่งในช่วงสิ้นปี-ต้นปี ปริมาณการทำธุรกรรมในตลาดอาจเบาบางลง ทำให้ควรระวังความผันผวนในตลาดการเงิน
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ สหรัฐฯ – สัปดาห์นี้อาจมีรายงานข้อมูลเศรษฐกิจไม่มากนัก ทว่าผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) พร้อมทั้งรอลุ้นรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) เดือนธันวาคม ซึ่งอาจยังคงสะท้อนภาวะการหดตัว (ดัชนี ต่ำกว่า ระดับ 50 จุด) ต่อเนื่องของภาคการผลิตในสหรัฐฯได้ ทว่าผู้เล่นในตลาดอาจไม่ได้กังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯมากนัก แม้ว่าภาคการผลิตจะหดตัว เนื่องจากภาคการบริการยังคงเป็นสัดส่วนใหญ่ของเศรษฐกิจสหรัฐฯไม่น้อยกว่า 70% ทำให้รายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ ที่จะรับรู้ในสัปดาห์ถัดไป อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้มากกว่ารายงานดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตพอสมควร
▪ ยุโรป – แม้ว่าสัปดาห์นี้จะแทบไม่มีรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้อย่างมีนัยสำคัญ ทว่าผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามสถานการณ์การเมืองของฝรั่งเศสและเยอรมนี รวมถึงสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงร้อนแรงอยู่ แม้ว่าจะเป็นช่วง Christmas และช่วงปลายปีก็ตาม
▪ เอเชีย – ประเด็นสำคัญจะอยู่ที่รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของจีน ในเดือนธันวาคม (Official Manufacturing and Services PMIs) รวมถึงดัชนี Caixin PMI ภาคการผลิต ที่จะเน้นบริษัทขนาดเล็ก-กลางเป็นหลัก โดยผู้เล่นในตลาดจะใช้ข้อมูลดังกล่าวในการประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน
▪ ไทย – ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิต รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (Business Sentiment) ในเดือนธันวาคม สำหรับแนวโน้มเงินบาทนั้น เรามองว่าหากในช่วงระยะสั้น เงินดอลลาร์สามารถทยอยอ่อนค่าลงได้บ้าง ในกรณีที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯไม่ได้ออกมาแข็งแกร่งหรือดีกว่าคาดชัดเจน ทำให้เมื่อประเมินร่วมกับปัจจัยเชิงเทคนิคัล ตามกลยุทธ์ Trend-Following เราจึงขอคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นได้ หรืออย่างน้อยแกว่งตัว Sideways ตราบใดที่เงินบาทไม่ได้กลับมาอ่อนค่าลงทะลุโซน 34.20-34.30 บาทต่อดอลลาร์อย่างชัดเจน (โซนแนวต้านถัดไปจะอยู่ในช่วง 34.50 บาทต่อดอลลาร์)
พร้อมย้ำจุดยืนเดิมว่า “Good Bye 35” และอาจเห็นเงินบาททยอยแข็งค่าต่ำกว่าโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ในช่วงก่อนที่รัฐบาล Trump 2.0 จะเริ่มทำงาน ตามที่ได้เขียนไว้ในบทวิเคราะห์เงินบาทเดือนธันวาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เรามองว่าในปี 2025 ที่จะถึงนั้น ตลาดการเงินเสี่ยงเผชิญความผันผวนสูง จากความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 อันจะสร้างความไม่แน่นอนต่อการดำเนินนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เราจึงขอเน้นย้ำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options (สกุลเงินท้องถิ่น) ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทอาจพอได้ลุ้นทยอยแข็งค่าขึ้น หรืออย่างน้อยแกว่งตัว Sideways โดยต้องจับตาทิศทางเงินดอลลาร์ ราคาทองคำ รวมถึงเงินหยวนจีน (CNY) ซึ่งต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลดัชนี PMI ของจีนอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจกลับมาเป็นฝั่งซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทยได้ โดยเฉพาะในฝั่งหุ้น ทว่าฝั่งบอนด์อาจยังเห็นการขายทำกำไรเพิ่มเติม
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น มองว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสย่อตัวลงบ้าง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯไม่ได้ออกมาแข็งแกร่งหรือดีกว่าคาดชัดเจน ทว่าควรจับตาการเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ซึ่งอาจยังช่วยหนุนเงินดอลลาร์ได้ หากบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯปรับตัวขึ้นต่อ พร้อมกดดันเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) เพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.85-34.30 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วงโมงข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.95-34.15 บาทต่อดอลลาร์