วันพฤหัสบดี, มกราคม 16, 2025
หน้าแรกHighlightชี้ช่องอุตสาหกรรมทูน่าปี68คาดโต6.2% เตือนให้ระวังกำแพงส่งออกที่ไม่ใช่ภาษี
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ชี้ช่องอุตสาหกรรมทูน่าปี68คาดโต6.2% เตือนให้ระวังกำแพงส่งออกที่ไม่ใช่ภาษี

SCB EIC ประเมินอุตสาหกรรมทูน่าในปี 68 เติบโต 6.2% คาดความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ยืดเยื้อทำให้หลาย ประเทศสต็อกสินค้าอาหารอาหารกระป๋องมากขึ้น เตือนระวังมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี แนะผู้ประกอบใช้เทคโนโลยีทันสมัยสอดรับกับเทรนด์ Digitization

น.ส.โชติกา ชุ่มมี ผู้จัดการกลุ่มธุรกิจสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิต ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) เปิดเผยถึงแนวโน้มอุตสาหกรรมทูน่าในปี 68 ว่า ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากปีนี้ โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องจะขยายตัวที่ 6.2%YOY สอดคล้องกับภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ทยอยฟื้นตัวดีขึ้นนอกจากนี้ การส่งออกที่ดีขึ้นยังเป็นผลจากการเติบโตของความต้องการบริโภคอาหารฮาลาล สะท้อนได้จากมูลค่าการนำเข้าทูน่ากระป๋องจากประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง (Middle East) ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

รวมทั้งอานิสงส์จากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical risks) ที่ยังคงยืดเยื้อและมีแนวโน้มขยายวงกว้างขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวมีส่วนทำให้หลายๆ ประเทศต้องการสต็อกสินค้าอาหารที่สามารถเก็บไว้บริโภคได้นานโดยเฉพาะอาหารกระป๋องเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ในระยะข้างหน้า ความท้าทายหลักที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทูน่าต้องให้ความสำคัญและเตรียมพร้อมรับมือ คือมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) ที่มีแนวโน้มเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานทาสและแรงงานผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมประมง ซึ่งเป็นประเด็นที่ทางการไทยต้องเร่งแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำที่รัฐบาลสหรัฐฯ กำหนด

รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับมาตรการกำกับดูแลการทำประมงอย่างยั่งยืน (Sustainable fishing) พร้อมๆ ไปกับการปรับโมเดลธุรกิจและกลยุทธ์การเติบโตให้สอดรับกับเมกะเทรนด์สำคัญของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทรนด์เรื่องอาหารปลอดภัย และ Healthier Choice เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ใส่ใจสุขภาพของผู้บริโภคยุคใหม่ รวมทั้งการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเพื่อตอบโจทย์เทรนด์ ESG โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “Carbon-neutral tuna products” ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังถูกพูดถึงมากขึ้นในปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายเพื่อลด Carbon footprint ในห่วงโซ่การผลิตทูน่าอย่างครบวงจร เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon neutrality ภายในปี 2050

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ที่ทันสมัยมาปรับใช้ให้มากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับเทรนด์ Digitization และตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการทั้งความทันสมัยและความสะดวกสบาย พร้อมๆ ไปกับลดการพึ่งพาแรงงานคน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก

ส่วนกลยุทธ์การแข่งขันของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทูน่าต้องหันมาให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเพื่อตอบโจทย์เทรนด์ ESG ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดหาวัตถุดิบอย่างรับผิดชอบผ่านการทำประมงอย่างยั่งยืน (Sustainable fishing) รวมไปถึงการปฏิบัติต่อแรงงานในอุตสาหกรรมประมงอย่างเป็นธรรม (Fair labor practice) ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการปรับตัวให้สอดรับกับเมกะเทรนด์เหล่านี้จึงกลายเป็นทั้งทางรอดและโอกาสของธุรกิจ เพราะนอกจากจะเป็นการลดอุปสรรคจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) และปรับตัวให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์และข้อตกลงทางการค้าที่มีแนวโน้มเข้มงวดและซับซ้อนมากขึ้นแล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าและยกระดับศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดโลกได้อีกด้วย

ทั้งนี้หนึ่งในประเด็นหลักที่กำลังถูกพูดถึงมากขึ้นในเวทีโลก คือการปกป้องดูแลสิ่งแวดล้อมโดยการลด Carbon footprint ในห่วงโซ่การผลิตทูน่าอย่างครบวงจร เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon neutrality ภายในปี 2050 ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่ผู้เล่นในอุตสาหกรรมทูน่าของไทยตระหนักถึงความสำคัญเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจและกระบวนการผลิตต่างๆ อาทิ การใช้เทคโนโลยีการผลิตและการจัดการของเสียที่สะอาดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ เป็นต้น แต่หากยังมีการปล่อยคาร์บอนหลงเหลืออยู่ ภาคธุรกิจก็อาจเลือกชดเชยผ่านการทำกิจกรรมที่ไปช่วยลดหรือดูดซับคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศทดแทน เช่น การปลูกป่า การปลูกพืชคลุมดินเพื่อตรึงคาร์บอนในดิน การลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน การซื้อคาร์บอนเครดิต เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทูน่าควรมีการวิจัยและพัฒนาเพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มจากส่วนสูญเสียของกระบวนการผลิต อาทิ การนำผลพลอยได้จากการผลิตทูน่ากระป๋อง (By-products) ไปผลิตเป็นอาหารสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารเปียกสำหรับสุนัขและแมวที่ทำจากปลาชนิดต่าง ๆ รวมทั้งปลาทูน่า หรือแม้แต่การกลั่นและสกัดน้ำมันปลาทูน่าจากเนื้อปลาเพื่อออกผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ ซึ่งนอกจากจะเป็นการขยายไปสู่ธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตดีและมีอัตรากำไรค่อนข้างสูงแล้ว ยังลดความเสี่ยงจากการพึ่งพารายได้จากธุรกิจหลัก (Core business) เพียงทางเดียว อีกทั้งยังช่วยหนุนบทบาทของไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกอาหารสุนัขและแมวอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย

ขณะเดียวกัน การปรับกลยุทธ์การเติบโตเพื่อรับมือกับความท้าทายจากปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ทั้งเรื่องความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจโลก รสนิยมของผู้บริโภคในตลาดที่เปลี่ยนไป หรือแม้แต่ภาวะโลกร้อนและปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประเด็นเหล่านี้คือโจทย์ใหญ่ที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทูน่าจะมองข้ามไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ประกอบการยังต้องเตรียมรับมือกับการแข่งขันในตลาดที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นอีกด้วย ทั้งจากผู้เล่นในอุตสาหกรรมเดียวกันและจากสินค้านวัตกรรมทางเลือกใหม่ ๆ ในตลาด เช่น โปรตีนทางเลือกจากพืช (Plant-based products) หรือ Alternative protein ที่กำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั่วโลกมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน

ภาพรวมอุตสาหกรรมทูน่าไทยในปี 2024 ถือว่าเติบโตได้ค่อนข้างดี ในช่วง 10 เดือนแรกที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของกลุ่มขยายตัว 24.6%YOY เป็นผลจากปริมาณการส่งออกที่เติบโตสูงถึง 35.2%YOY ทั้งนี้คาดว่ามูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องในปีนี้จะสามารถฟื้นกลับไปอยู่สูงกว่าช่วง Pre-COVID ได้
อีกครั้ง สอดคล้องกับภาพรวมการบริโภคในตลาดโลกและประเทศคู่ค้าหลักของไทยที่ทยอยฟื้นตัวดีขึ้น

โดยปริมาณการส่งออกทูน่ากระป๋องที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวได้รับอานิสงส์จากอุปทานปลาทูน่าจับได้ (Tuna catch) ที่เพิ่มขึ้นมากจากผลพวงของภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้อุณหภูมิในมหาสมุทรอุ่นขึ้น (Ocean warming) ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวนอกจากจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและทำให้มหาสมุทรสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว ยังมีผลให้ฝูงปลาทูน่าย้ายถิ่นฐาน (Tuna migration) หนีคลื่นน้ำอุ่นไปรวมตัวกันในบริเวณใดบริเวณหนึ่งของมหาสมุทรเยอะมากเป็นพิเศษ จึงส่งผลดีต่อการทำประมงในบริเวณนั้น

ปัจจุบันไทยยังคงครองแชมป์ประเทศผู้ส่งออกทูน่ากระป๋องอันดับ 1 ของโลก โดยในปีที่ผ่านมา (2023)
มีส่วนแบ่งในตลาดโลกราว 1 ใน 4 ของมูลค่าการส่งออกรวม 1,924.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ทูน่ากระป๋องกลายเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกหลักในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่ช่วยสร้างงานและรายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาลในแต่ละปี อนึ่ง ความสำเร็จดังกล่าว นอกจากจะเป็นผลจากการที่ผู้เล่นไทยปักหมุดอยู่ในอุตสาหกรรมนี้อย่างยาวนาน จนทำให้มีความพร้อมด้านทักษะฝีมือแรงงาน มีเทคโนโลยีการผลิตและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่แข็งแกร่งและครบวงจรแล้ว ไทยยังมีความได้เปรียบในด้านทำเลที่ตั้งในการรับซื้อวัตถุดิบทูน่าจากแหล่งต่าง ๆ ทั่วโลก ยิ่งไปกว่านั้น สินค้าทูน่ากระป๋องของไทยยังมีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลอีกด้วย

ทั้งนี้จากข้อมูลของสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยพบว่า ปัจจุบันมีจำนวนผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมผลิตทูน่ากระป๋องและแปรรูปรวมทั้งสิ้น 46 ราย ซึ่งส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในจังหวัดทางภาคใต้และรอบ ๆ อ่าวไทย ซึ่งเป็นทำเลที่ใกล้แหล่งทำประมงในประเทศหรือใกล้บริเวณท่าเรือที่มีการนำเข้าวัตถุดิบทูน่าจากต่างประเทศเพื่อลดต้นทุนการขนส่งไปยังโรงงาน โดยพบว่าเกือบทั้งหมดเป็นผู้ประกอบการรายกลางและรายใหญ่ ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่ผลิตผลิตภัณฑ์ทูน่าจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัทตัวเอง (Own brand) และกลุ่มที่รับจ้างผลิตภายใต้เครื่องหมายการค้าของลูกค้า (OEM)

อนึ่ง ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมอุปสงค์และอุปทานทูน่ากระป๋องโลกอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างผันผวน จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 และปัญหา Climate change สำหรับด้านอุปสงค์พบว่าในปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19 ระลอกแรกทั่วโลก มูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องของไทยขยายตัว 3.6%YOY ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีก่อนหน้า (2015-2019) ซึ่งอยู่ที่ราว 2.5% ต่อปี

โดยได้รับอานิสงส์จากมาตรการ Lockdown ในหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลให้มีความต้องการสต็อกสินค้าอาหารที่สามารถเก็บไว้บริโภคได้นานเพิ่มขึ้นตามไปด้วยโดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอาหารกระป๋องและทูน่ากระป๋อง ต่อมาในปี 2021 มูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องของไทยได้กลับมาหดตัวรุนแรงที่ -20.6%YOY สอดคล้องกับความต้องการนำเข้าในตลาดโลกที่ลดลงจากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการเร่งซื้อสะสมไปแล้วค่อนข้างมากในช่วงก่อนหน้าทำให้มีสินค้าคงคลังในมือสูง กอปรกับความกังวลเกี่ยวกับโรคระบาดที่เริ่มคลี่คลายลง

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img