ตลาดเครื่องสำอางโลกปี 66 มีมูลค่า 152,590 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.63 ขณะที่ไทยมูลค่าการส่งออกอยู่ในอันดับที่ 18 ของโลก มูลค่า 2,590 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ชี้ไทยมีศักยภาพในการเป็นผู้นำในเอเชีย ดึงจุดเด่นใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติตีตลาดโลก
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้ศึกษาสถานการณ์การค้าของเครื่องสำอางของตลาดโลกและไทย พร้อมวิเคราะห์แนวโน้มความต้องการเครื่องสำอางในอนาคต เพื่อมุ่งขยายโอกาสในการเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยและผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางในเอเชีย
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า “เครื่องสำอาง” เป็นผลิตภัณฑ์ที่ส่วนใหญ่ใช้เพื่อความสะอาด ปกป้องร่างกาย และเสริมภาพลักษณ์ ด้วยการแต่งกลิ่นหอม อีกทั้งยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่คนทุกเพศทุกวัยใช้จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน สำหรับสถานการณ์การค้าเครื่องสำอางในตลาดโลก (HS 3303-3307, 3401) ในปี 2566 พบว่ามีมูลค่าการส่งออก 152,590 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.63 จากปีที่ผ่านมา
โดยประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด3 อันดับแรกของโลก ได้แก่ ฝรั่งเศส มูลค่า 22,990 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สหรัฐอเมริกา มูลค่า 12,860 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเยอรมนี มูลค่า 11,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในส่วนของการนำเข้าเครื่องสำอางในตลาดโลกมีมูลค่า 145,970 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.95 จากปีที่ผ่านมา โดยประเทศที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุด 3 อันดับแรกของโลก ได้แก่ จีน มูลค่า 18,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สหรัฐอเมริกา มูลค่า 16,140 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเยอรมนี มูลค่า 8,230 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับสถานการณ์การค้าของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางของไทย มีการขยายตัวในทิศทางเดียวกับโลก จากการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวและการเฟื่องฟูของการค้าออนไลน์ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยไทยมีมูลค่าการส่งออกอยู่ในอันดับที่ 18 ของโลก มูลค่า 2,590 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.58 จากปีที่ผ่านมา โดยตลาดที่ไทยมีมูลค่าการส่งออกมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น มูลค่า 342.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ มูลค่า 268.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และออสเตรเลีย มูลค่า 245.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ ไทยเป็นฐานการผลิตเครื่องสำอางที่สำคัญของภูมิภาค โดยมีการส่งออกเป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ ในขณะที่ไทยมีมูลค่าการนำเข้าเครื่องสำอางอยู่ในอันดับที่ 28 ของโลก มูลค่า 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.71 จากปีที่ผ่านมา ซึ่งแหล่งนำเข้าของไทยที่มีมูลค่ามากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ฝรั่งเศส มูลค่า 243.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จีน มูลค่า 173.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ มูลค่า 153.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
โดยในปี 2566 ไทยมีผู้ประกอบการผลิตเครื่องสำอางจำนวน 4,735 ราย หากแบ่งตามขนาดธุรกิจ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย (Micro) และผู้ประกอบการขนาดย่อม (Small) คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 97.95 ของจำนวนผู้ประกอบการที่ผลิตเครื่องสำอางทั้งหมดโดยผลิตเพื่อการส่งออกและจำหน่ายภายในประเทศ ซึ่งการจำหน่ายภายในประเทศมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของปริมาณการจำหน่ายเครื่องสำอางไทยทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องสำอางทั่วโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความต้องการแตกต่างจากเดิม ส่งผลให้เกิดการคาดการณ์แนวโน้มของเครื่องสำอางที่มาแรงในอนาคตไว้ 4 ประการ ได้แก่ 1.ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากสารสกัดธรรมชาติ 2.กลุ่มผลิตภัณฑ์ Anti-aging 3.ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ชาย และ 4.การเสนอผลิตภัณฑ์เฉพาะบุคคลด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ
ทั้งนี้เห็นว่า อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างมาก ได้รับความนิยมทั้งจากผู้บริโภคในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ไทยต้องรักษาฐานความนิยม โดยต้องมีการเสริมจุดแข็ง อาทิ ดึงจุดเด่นเครื่องสำอางไทยที่มีการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ ขจัดจุดอ่อน อาทิ ผลักดันให้เครื่องสำอางไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดโลกมากขึ้น หาโอกาสที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ อาทิ การเพิ่มช่องทาง การขายใหม่ ๆ เช่น ตลาดออนไลน์หรือขายผลิตภัณฑ์ในโรงแรมและที่พัก รวมถึงคำนึงถึงความท้าทาย อาทิ การแข่งขันของสินค้าต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น เพื่อมุ่งพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันและทำให้ไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมเครื่องสำอางในเอเชีย ดังนั้น สนค. จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย ดังนี้
1.ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศของผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะ
พืชพรรณ หรือสมุนไพรไทย เพื่อสร้างอัตลักษณ์ด้านการเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ พร้อมผลักดัน
ให้ผลิตภัณฑ์ไทยเป็นที่รู้จักทั้งจากผู้บริโภคในประเทศและนักท่องเที่ยวและขยายโอกาสในการส่งออกต่อไป
2.สนับสนุนให้ผู้ประกอบการจดสิทธิบัตรสูตรผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมใหม่ รวมถึงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของแบรนด์ โลโก้ และตราสินค้า เพื่อความเป็นเจ้าของในการครอบครองสิทธิในการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ควบคู่กับการป้องกันการละเมิดและการลอกเลียนแบบ
3.ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อย ผ่านการให้คำปรึกษา และแนะนำแนวทางการดำเนินธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม
4.เพิ่มช่องทางการรับรู้ สำหรับการทำการตลาดและการจัดจำหน่าย ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ อาทิ การจัดงานแสดงสินค้าเครื่องสำอางไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสในการเพิ่มยอดขาย พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดการเจรจาทางธุรกิจ (Business Matching) เพื่อสร้างโอกาสในการพบปะ
กับผู้ประกอบการในต่างประเทศ ซึ่งอาจนำไปสู่ความร่วมมือทางการค้าและสามารถกระจายสินค้าไปต่างประเทศ
5.เร่งผลักดันการส่งออกเครื่องสำอางไทยไปสู่ตลาดใหม่ ๆ อาทิ ประเทศแถบตะวันออกกลางซึ่งมีความต้องการเครื่องสำอางคล้ายกับประเทศไทยจากสภาพอากาศที่ใกล้เคียงกัน ควบคู่กับส่งเสริมให้ผู้ประกอบการศึกษาและทำความเข้าใจการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ข้อตกลงทางการค้า (FTA)เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกเครื่องสำอางไทยไปยังประเทศคู่ค้า FTA มากขึ้น
6.ผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางให้ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่การผลิตและเชื่อมโยงเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น
7.สร้างมาตรฐาน/รางวัล ทั้งจากกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ในคุณภาพสินค้า และสร้างความได้เปรียบทางการค้า
8.มุ่งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม รวมถึงศึกษาเทคโนโลยีการผลิตเครื่องสำอางของประเทศผู้นำด้านการส่งออก เพื่อลดการพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ และปรับใช้เทคโนโลยีให้เหมาะกับการผลิตเครื่องสำอางไทย