นักเศรษฐศาสตร์ทีดีอาร์ไอชี้ปี “งูเล็ก” ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ ทำเศรษฐกิจทั่วโลกปั่นป่วน หลังสหรัฐฯ เปิดสงครามการค้า- ตั้งกำแพงภาษี ห่วงสินค้าจีนทะลักเข้าประเทศ แนะรัฐบาล ใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ อย่าเน้นมาตรการระยะสั้น เตรียม “กระสุน” รับมือความไม่แน่นอน
ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และ ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2568 ว่า ปีนี้มีความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาจากสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลก หลังจากที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งคาดการณ์ว่าแนวนโยบายของสหรัฐฯจะทำให้เกิดความไม่แน่นอน และความปั่นป่วนในเศรษฐกิจโลก จากสงครามการค้า ที่สหรัฐฯจะขึ้นภาษีนำเข้า ซึ่งประเทศไทยเองก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย โดยสหรัฐฯเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของไทย มีมูลค่าการส่งออกไปที่สหรัฐฯราวร้อยละ 18 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย
ส่วนการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ เพ่งเล็งไปที่ประเทศที่สหรัฐฯขาดดุลการค้า ซึ่งในปี 2567 ไทยเป็นประเทศในอันดับที่ 12 ที่สหรัฐฯขาดดุลด้วย โดยวิธีการลดขาดดุลของสหรัฐฯมี 2 วิธีคือ การขึ้นภาษีนําเข้ากับสินค้าจากประเทศไทย และอาจจะมีเจรจาขอให้ไทยนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯมากขึ้น ซึ่งสหรัฐฯต้องการขายสินค้าสินค้าเกษตรให้กับไทยมาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหมู แต่ที่ผ่านมาไทยไม่อนุญาตให้นำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯเพราะมีสารเร่งเนื้อแดงเกินมาตรฐานที่ไทยกำหนด ดังนั้นไทยจึงมีความเสี่ยงที่จะถูกบีบให้เปิดการนำเข้าเนื้อหมูและสินค้าสินค้าเกษตรอื่น ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จะส่งผลกับผู้เลี้ยงหมูในประเทศไทย ในขณะเดียวกันจะมีสินค้าจากจีนที่ถูกกำแพงภาษีสหรัฐฯกีดกันจะทะลักเข้าไทยมากขึ้น ส่งผลกระทบกับหลายธุรกิจในประเทศอย่าง เหล็ก ปิโตรเคมี พลาสติก และสิ่งทอ แต่จะเป็นผลดีกับธุรกิจที่นำเข้าวัตถุดิบ ชิ้นส่วน หรือเครื่องจักรจากจีน ที่นำไปต่อยอดผลิตสินค้าและบริการของตนเอง
ด้านแนวนโยบายอเมริกามาก่อน (America First) อาจส่งผลให้สหรัฐฯไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวัน ซึ่งสถานการณ์ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันอาจเพิ่มมากขึ้น และส่งผลต่อค่าระวางเรือขนส่งสินค้า จากญี่ปุ่น และจีนมาไทยแพงขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งบริษัทในไต้หวันหลายแห่งเริ่มกังวลต่อความเสี่ยง จึงโยกย้ายธุรกิจจากไต้หวัน และจีนมาลงทุนในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงไทยมากขึ้น โดยตัวเลขจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พบว่า มีบริษัทต่างชาติหลายประเทศเข้ามาขอลงทุนในไทยผ่านบีโอไอ เนื่องจากมองว่าไทยเป็นพื้นที่ปลอดภัย เพราะวางตัวเป็นกลาง ไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใด เรื่องนี้จึงถือเป็นปัจจัยบวกกับเศรษฐกิจของประเทศ แต่ก็มีความเสี่ยงว่าหากบริษัทจีนย้ายโรงงานมาไทยเพื่อส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯจำนวนมาก ก็อาจทำให้ถูกสหรัฐฯเพ่งเล็ง และกีดกันการนำเข้าเนื่องจากมองว่าเป็นสินค้าของบริษัทจีนได้
ทั้งนี้เห็นว่า แม้เหรียญจะมีสองด้าน แต่ความเสี่ยงที่แทบจะไม่มีด้านบวกเลย คือปัญหาความไม่สงบในตะวันออกกลาง ซึ่งท่าทีของทรัมป์ สนับสนุนอิสราเอล ดังนั้นความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านจะอยู่ต่อไป โดยหากเกิดความไม่สงบขึ้นอาจจะส่งผลให้มีการปิดช่องแคบฮอร์มุซ ที่เป็นเส้นทางขนส่งน้ำมัน ก็จะกระทบต่อราคาพลังงานทั่วโลก
“ปีหน้าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะค่อนข้างผันผวน จึงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดเพราะว่ามีความเสี่ยงมาก และความไม่แน่นอนก็มีหลายอย่าง ซึ่งถ้าเราตระหนัก และรับทราบปัจจัยต่าง ๆ ทางภูมิรัฐศาสตร์ ก็จะทำให้ไทยเตรียมตัวเพื่อรับมือได้”
นอกจากมองว่าเรื่องค่าเงิน และอัตราดอกเบี้ย เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลสำคัญกับระบบเศรษฐกิจโลก โดยหากสหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้าจะทำให้ต้นทุนการผลิตของสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เงินเฟ้อ ในสหรัฐฯลดลงช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงมีแนวโน้มว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจจะลดดอกเบี้ยนโยบายเพียง 2 ครั้ง หรือ 0.5 % จากเดิมที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันว่าตลอดทั้งปีจะลดถึง 4 ครั้ง หรือ 1 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย คาดว่าจะลดลง 0.25% ในปีนี้ ส่วนค่าเงินบาทนั้นประมาณการว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 35 บาทต่อหนึ่งดอลล่าร์สหรัฐฯ และผันผวนระหว่างปี ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงของไทย เนื่องจากไทยพึ่งพาการส่งออกและนําเข้ามาก
“การที่มีสงครามการค้าจะทําให้เศรษฐกิจโลกโตช้าลง ทำให้ไทยไม่ได้รับผลกระทบเฉพาะแค่การส่งออกไปสหรัฐฯเท่านั้น แต่ตลาดส่งออกหลัก ๆ ของไทยทั้งยุโรป ญี่ปุ่น ก็กระทบไปด้วย เพราะเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ก็ชะลอตัวลงเช่นกัน คาดการณ์ในปีนี้การส่งออกไทยอาจจะโตแค่ประมาณ 1- 2 % จากเดิมที่ปี 2567 โต 4-5 % ”
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นในโลกมากมาย สิ่งรัฐบาลจะต้องมีคือ “กระสุน” หรือ เงินงบประมาณ เพราะหากมีวิกฤตอะไรเกิดขึ้น เช่น ราคาน้ำมันพุ่งขึ้น ภัยธรรมชาติ หรือ โรคระบาด จะต้องมีงบประมาณที่จะใช้จ่ายในการช่วยเหลือประชาชน
โดยรัฐบาลอาจไม่ต้องถึงกับมีเงินเก็บ แต่ว่าถ้าเราไม่สร้างหนี้เยอะในวันนี้ ก็แปลว่าในอนาคตเราสามารถที่จะกู้เงินได้เพิ่มถ้าจําเป็น แต่ถ้าวันนี้เรากู้เงินจนเต็มเพดานแล้ว พอมีวิกฤตเกิดขึ้นตอนนั้นรัฐบาลก็จะช่วยประชาชนได้ยาก เพราะฉะนั้นรัฐบาลจะต้องใช้เงินอย่างระมัดระวัง และมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์กับการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน ไม่ใช่มาตรการระยะสั้น เพราะความไม่แน่นอนเหล่านี้ ไม่ได้อยู่กับเราแค่ปีนี้ แต่จะอยู่อย่างน้อย ๆ 4 ปี ตามวาระของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเห็นว่ารัฐควรลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เช่น สัญญาณอินเทอร์เน็ตให้เร็วและแรง เพราะเป็นปัจจัยที่ภาคธุรกิจด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ต้องการ ดังนั้นเห็นว่าหากพัฒนาในเรื่องนี้ได้จะสามารถดึงดูดให้เข้ามาลงทุนในไทยได้ รวมไปถึงการส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาด การยกระดับทักษะแรงงาน และการลดข้อจำกัดในการลงทุน โดยปรับปรุงกฎหมาย และกฎระเบียบการขออนุญาตต่างๆที่ยังมีความซ้ำซ้อนอยู่ ให้เอื้อต่อการลงทุนและการทำธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปได้