เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ 34 39 บาทต่อดอลลาร์ หลังดอลลาร์แข็งค่า ขานรับตัวเลขยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน -ดัชนี S&P PMI ภาคการผลิต ต่างก็ออกมาดีกว่าคาดเกาะถ้อยแถลงเจ้าหน้าที่เฟด
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.39 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 34.24 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ยังคงเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง จนทะลุโซนแนวต้าน 34.30 บาทต่อดอลลาร์ ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ท่ามกลางบรรยากาศระมัดระวังตัวของตลาดการเงินสหรัฐฯที่ยังคงหนุนความต้องการถือเงินดอลลาร์อยู่ นอกจากนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯโดยรวม ทั้งยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และดัชนี S&P PMI ภาคการผลิต ต่างก็ออกมาดีกว่าคาด
อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า ธนาคารกลางหลักอื่นๆ ทั้งธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่องได้มากกว่า “เฟด” พอสมควร ทำให้ธีม US Exceptionalism ยังคงหนุนเงินดอลลาร์อยู่ พร้อมกดดันให้บรรดาสกุลเงินหลัก อย่าง เงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) อ่อนค่าลงเกือบ -1% ในช่วงคืนที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เงินบาทยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตามการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่สามารถกลับมาแกว่งตัวแถวโซน 2,660 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้โดยรวมเงินบาทยังไม่ได้อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง จนทะลุโซนแนวต้านถัดไป 34.50 บาทต่อดอลลาร์
บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงทยอยขายทำกำไรบรรดาหุ้นเทคฯใหญ่ โดยเฉพาะ Tesla -6.1% ซึ่งเผชิญแรงกดดันจากทั้งข่าวรถกระบะไฟฟ้าระเบิดที่นอกโรงแรม Trump International และรายงานยอดส่งมอบรวมถึงการผลิตรถยนต์ที่ลดลงกว่าคาด อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากการรีบาวด์ขึ้นของ Nvidia +3% และ Meta +2.3% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.22%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้น +0.6% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มพลังงาน อาทิ BP +2.6%, Shell +2.1% ตามการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ที่ได้แรงหนุนจากความหวังการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของทางการจีน นอกจากนี้ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นกลุ่ม Healthcare ทั้ง ASML +1.7% และ Novo Nordisk +2.3%
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์นั้น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ต่างออกมาดีกว่าคาด ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯรีบาวด์สูงขึ้นเข้าใกล้โซน 4.60% ทว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็รอจังหวะทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวอยู่บ้าง โดยเฉพาะในช่วงที่บรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯยังคงระมัดระวังตัวอยู่ ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯย่อตัวลงเล็กน้อย ก่อนที่จะแกว่งตัวแถวโซน 4.56% ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวของบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯยังคงสอดคล้องกับกลยุทธ์ Buy on Dip ของเรา โดยในช่วงนี้ ก่อนที่รัฐบาล Trump 2.0 จะเริ่มดำเนินนโยบายต่างๆ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดก็สามารถรอจังหวะทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวได้ หากบอนด์ยีลด์มีการปรับตัวสูงขึ้นบ้าง เนื่องจากผลตอบแทนรวม (Total Return) ของการถือบอนด์ระยะยาวนั้น ยังมีความน่าสนใจอยู่ ตราบใดที่เฟดไม่ได้กลับมาขึ้นดอกเบี้ย
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตามธีม US Exceptionalism หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯโดยรวมออกมาดีกว่าคาด อีกทั้งผู้เล่นในตลาดยังคงมองว่า บรรดาธนาคารกลางหลักอื่นๆ ทั้ง ECB และ BOE อาจลดดอกเบี้ยได้มากกว่าเฟดพอสมควร กดดันให้เงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) อ่อนค่าลงพอสมควร นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุน ท่ามกลางภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาด ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์สามารถปรับตัวขึ้นสู่โซน 109.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 108.5-109.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง พร้อมกับการปรับตัวขึ้นบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ แต่ภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาด ก็พอช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.2025) สามารถปรับตัวขึ้นสู่โซน 2,670 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำดังกล่าว ก็สามารถช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ในช่วงคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจจะอยู่ที่รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ โดย ISM (ISM Manufacturing PMI) ในเดือนธันวาคม นอกจากนี้ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด (Thomas Barkin) เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรายอมรับว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทเริ่มมีกำลังมากขึ้น ทำให้เงินบาทอาจยังไม่สามารถทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ชัดเจน อย่างที่เราเคยประเมินไว้ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม (ซึ่งต้องเห็นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาดลงบ้าง) อย่างไรก็ดี เราคงมองว่า หากประเมินด้วย ตามกลยุทธ์ Trend-Following เงินบาทก็อาจแกว่งตัว Sideways ตราบใดที่เงินบาทไม่ได้อ่อนค่าลงจนทะลุโซนแนวต้าน 34.50 บาทต่อดอลลาร์อย่างชัดเจน ทั้งนี้โซนแนวรับของเงินบาทก็อาจขยับสูงขึ้นบ้างสู่ช่วง 34.20 บาทต่อดอลลาร์
ในช่วงระหว่างวัน เรามองว่า ควรจับตาทิศทางราคาทองคำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากในช่วงระยะสั้นนี้ การที่เงินบาทไม่ได้อ่อนค่าลงหนัก ส่วนหนึ่งก็มาจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำด้วยเช่นกัน ซึ่งหากราคาทองคำเริ่มย่อตัวลงและกลับเข้าสู่ช่วงการปรับฐานอีกครั้ง ก็อาจกลับมาเป็นปัจจัยที่กดดันเงินบาทเพิ่มเติมได้ โดยเฉพาะในจังหวะที่เงินดอลลาร์ยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี เรามองว่าการปรับตัวขึ้นต่อของเงินดอลลาร์ก็อาจเป็นไปอย่างจำกัดและมีโอกาสที่จะเห็นการย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์ได้ หากประเมินจากปัจจัยเชิงเทคนิคัลที่ยังคงเห็นสัญญาณลักษณะ Bearish Divergence บนดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) พร้อมกับการเกิดภาพ Bullish Divergence บนสกุลเงินหลัก อย่าง เงินยูโร (EUR) ทว่า เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าได้บ้าง จริงหรือไม่นั้น อาจต้องรอลุ้นรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯที่จะทยอยรับรู้ในช่วง 22.00 น.ตามเวลาประเทศไทย โดยหากดัชนี ISM PMI ภาคการผลิต ออกมาตามคาด หรือแย่กว่าคาด ก็อาจช่วยชะลอการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ได้บ้าง ก่อนที่ตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติมในสัปดาห์หน้า ทั้งดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ และข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.20-34.50 บาท/ดอลลาร์