คลังเตรียมเสนอครม.เคาะขยายขอบเขตโครงการด้วยการปล่อยเงินกู้ซอฟต์โลนท์ 50,000 ล้านบาทให้นอนแบงก์ แก้หนี้เฟส 2 ด้าน “ขุนคลัง” เตรียมหารือธปท.ให้แบงก์พาณิชย์ผ่อนคลายปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังแจ้งว่า ในเดือนม.ค.นี้ เตรียมเสนอ ครม. ขยายขอบเขตโครงการด้วยการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำพิเศษ (ซอฟต์โลนท์) 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ที่ผ่านเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่ ธปท.กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) หลังจากที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย ออกมาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” ซึ่งเริ่มเปิดให้มีการลงทะเบียนทั้งในกลุ่มประชาชนทั่วไปและ SME ที่เป็น NPL ไม่เกิน 1 ปี
สำหรับการดำเนินมาตรการแก้หนี้กลุ่มของผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินจะได้รับการช่วยเหลือในลักษณะคล้ายลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ
1.ลูกหนี้ที่มีปัญหาการผ่อนชำระ จะช่วยลดภาระการผ่อนชำระเหลือ 70% และลดดอกเบี้ยให้ 10% เช่น จาก 25% เหลือ 15% โดยนอนแบงก์ รับภาระส่วนหนึ่ง และรัฐบาลรับภาระส่วนหนึ่ง
2.ลูกหนี้ที่มีสถานะ NPL ที่มียอดหนี้ต่ำกว่า 5,000 บาท ให้ผ่อนชำระบางส่วนและปิดจบหนี้ โดย Non-Bank รับภาระส่วนหนึ่ง และรัฐบาลรับภาระส่วนหนึ่ง
นอกจากนี้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะช่วยการแก้ปัญหาหนี้ที่ยั่งยืน โดยส่งเสริมประชาชนมีความรู้ทางการเงินและการออม และยกระดับข้อมูลหนี้สินครัวเรือนในระบบให้อยู่ในฐานข้อมูลสินเชื่อเครดิตบูโร (NCB) เพื่อให้ผู้ปล่อยสินเชื่อตรวจสอบว่าผู้ขอสินเชื่อมีภาระหนี้เท่าใด เพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นภาพรวมปัญหาหนี้
ขณะเดียวกันต้องสร้างกลไกลดการก่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ โดยการส่งเสริมการประกอบอาชีพเพื่อทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งทำให้ลูกหนี้กลุ่ม SME ลดภาระการผ่อนชำระ สินเชื่อวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท และยังได้สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อได้
นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินโครงการย่อยอื่นผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ การให้สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการในมาตรการช่วยเหลือพักหนี้ SMEs ที่ได้รับผลกระทบช่วงโควิด
สำหรับสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ช่วยลดปัญหาหนี้นอกระบบและเป็นการปล่อยสินเชื่อให้พ่อค้า แม่ค้า เติมเต็มเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย โดยมียอดอนุมัติการปล่อยสินเชื่อใหม่ 60,000 บัญชีต่อเดือน ซึ่งเดือน ต.ค.2567 อนุมัติสินเชื่อใหม่ 66,000 บัญชี วงเงินรวม 640 ล้านบาท รวมทั้งมีสินเชื่ออนุมัติสะสม ณ เดือน พ.ย.2567 อยู่ที่ 4.7 ล้านบัญชี วงเงินรวม 4.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตพิโกไฟแนนช์รวมแล้ว 1,147 รายใน 75 จังหวัด อย่างไรก็ตาม เชื่อพิโกไฟแนนซ์มีสัดส่วนที่เป็นหนี้ค้างชำระ NPL ประมาณ 23% ซึ่งถือว่าไม่มากนักเมื่อเทียบกับกลุ่มธุรกิจรายใหญ่
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวว่า มาตรการแก้หนี้ระยะต่อไปจะเติมสินเชื่อเข้าสู่ระบบ โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อในพื้นที่ชนบท เบื้องต้นประเมินวงเงินสินเชื่อไว้ที่ 1 ล้านล้านบาท ให้เม็ดเงินดังกล่าวนำไปต่อยอดการลงทุนอย่างเหมาะสม
“ภาวะการปล่อยสินเชื่อของธนาคารอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากแบงก์ประเมินว่าลูกหนี้ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งเมื่อรัฐบาลช่วยดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีขึ้น ก็มองว่าแบงก์ควรจะมีการปล่อยสินเชื่อให้เป็นไปอย่างผ่อนคลายได้มากขึ้น ตามการประเมินขีดความสามารถในการชำระหนี้ อย่างไรก็ตามการผลักดันในเรื่องนี้คงไม่ได้เกิดขึ้นเร็วใน 3-6 เดือนนี้”นายพิชัย กล่าว
ทั้งนี้เมื่อมีมาตรการแก้หนี้คงค้างที่มีอยู่แล้ว จะต้องทำเรื่องการปล่อยสินเชื่อคู่ขนานกันไป ทั้งในส่วนของแบงก์รัฐ และในส่วนของแบงก์พาณิชย์ซึ่งจะต้องมีการหารือกับ ธปท. ต่อไปให้พิจารณาการปล่อยสินเชื่ออย่างผ่อนคลายมากขึ้น ทั้งนี้เตรียมหารือกับหน่วยงานเศรษฐกิจ เช่น ธปท. สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รวมทั้งสถาบันการเงินทั้งสถาบันการเงินของรัฐ และภาคเอกชน เพื่อให้การขับเคลื่อนเป้าหมายเศรษฐกิจไปในทิศทางเดียวกัน