บิ๊กบอส Google มั่นใจไทย หลังประกาศลงทุนสร้างโรงงานขนาดใหญ่ Cloud Data Center ที่ชลบุรีคืบหน้าไปมาก คาดอีก 2 ปี พร้อมผลิต ขณะที่นายกฯ แพทองธารจับเข่าคุยชวนลงทุนเพิ่มด้านดิจิทัลและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของ Google ยืนยันไทยพร้อมสนับสนุนการลงทุน
เมื่อวันที่ 23 ม.ค.68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 22 ม.ค.(ตามเวลาท้องถิ่นเมืองดาวอส ช้ากว่าไทย 6 ชั่วโมง และตรงกับเวลาไทย 23.30 น.) ณ ศูนย์ประชุม Congress Center เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พบหารือกับนาง Ruth Porat ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน (President and Chief Investment Officer) บริษัท Google
โดยนายกฯกล่าวว่า ได้ติดตามการลงทุนของกูเกิ้ลทราบว่า มีความก้าวหน้าเป็นอย่างดี โดยหวังว่า นอกเหนือจากการลงทุนระบบ Cloud แล้วกูเกิ้ลจะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตโปร์ดักส์ดิจิทัลด้านอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งรัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุน และอำนวยความสะดวกการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ผู้บริหารระดับสูงของกูเกิ้ล กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทยช่วยสนับสนุน โดยโครงการดาต้าเซ็นเตอร์ ที่จังหวัดชลบุรี อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในอีก 2 ปี ข้างหน้า นอกจากนี้กูเกิ้ลยังมีแผนการขยายการผลิตผลิตภัณฑ์ของกูเกิ้ลในไทย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ผลิต (Supply) บางรายของกูเกิ้ลมีโรงงานในประเทศไทยด้วย นอกจากนี้ กูเกิ้ลยังร่วมกับส่วนราชการของไทย โดยมีการลงนามเอ็มโอยูกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อฝึกทักษะด้านดิจิทัลให้กับเด็กนักเรียนไทย นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการ (SMEs) เข้าร่วมเพิ่มทักษะ upskilled กับกูเกิ้ลซึ่งถือเป็นการยืนยันถึงความมุ่งมั่นของกูเกิ้ลในการลงทุนในไทย
จากนั้นเวลา 16.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นเมืองดาวอส ช้ากว่าไทย 6 ชั่วโมง ที่ศูนย์ประชุม Congress Center เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส น.ส.แพทองธาร พบหารือกับนางคาริน เคลเลอร์-ซุทเทอร์ (Karin Keller-Sutter) ประธานาธิบดีแห่งสมาพันธรัฐสวิส ในโอกาสเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum Annual Meeting 2025 (WEF AM25)
โดยนายกฯ กล่าวถึง การเข้าร่วมการประชุม WEF 2025 ในครั้งนี้ว่า ประเทศไทยโดยพันธมิตรภาครัฐ-เอกชน ร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวัน โดยนำเมนูอาหารไทยที่เป็นที่ยอดนิยมมานำเสนอให้กับผู้ร่วมประชุมและสื่อมวลชน เป็นที่น่าดีใจที่ได้รับเสียงชี่นชม ทั้งนี้ อาหารไทยเป็นหนึ่งในซอฟพาวเวอร์ไทยที่มาจากภูมิปัญญาของคนไทย โดยเกษตรกรและผู้ประกอบการกิจการร้านอาหารและภัตตาคารต่างๆ ร่วมกันสรรค์สร้างจนทำให้อาหารไทยเป็นที่รู้จักทั่วโลก
ด้านประธานาธิบดีแห่งสมาพันธรัฐสวิส กล่าวแสดงความยินดีในความสำเร็จของไทยในการจัดงาน Thailand Reception ในครั้งนี้ รวมถึงความสำเร็จของไทย ในการบรรลุความตกลงการค้าเสรีไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association: EFTA (เอฟต้า) ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์และจะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการขยายตัวการค้า-การลงทุนระหว่างไทย-สวิสด้วย นอกจากนี้ สองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการยกเว้นการตรวจลงตรา และการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสีเขียวของไทย หรือ green transition
จากนั้นนายกฯ ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลง FTA ไทย-EFTA ในวันที่ 23 ม.ค.2568 เวลา 09.00 น. ตามเวลากรุงดาวอส ที่ House of Switzerland) ซึ่งข้อตกลงครั้งนี้ ประกอบด้วย ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ และประเทศไทย ซึ่งจะทำให้การค้าระหว่างไทยกับประเทศกลุ่มนี้ในสหภาพยุโรปมีปริมาณมากขึ้นจากกำแพงภาษีที่ปรับเปลี่ยนลดลงอยู่ในข้อตกลงต่างๆ.