วันพฤหัสบดี, มกราคม 23, 2025
หน้าแรกHighlightส่งออกปี67มูลค่าทะลุ3แสนล้านดอลลาร์ ขยายตัวพุ่งทะยานสูงสุดเป็นประวัติการณ์
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ส่งออกปี67มูลค่าทะลุ3แสนล้านดอลลาร์ ขยายตัวพุ่งทะยานสูงสุดเป็นประวัติการณ์

“พูนพงษ์” เผย ส่งออก ธ.ค. ขยายตัว 8.7% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ทั้งปี 67 ขยายตัว 5.4 มูลค่ากว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ จับตานโยบายการค้าของสหรัฐฯ คาดกระทบกับบรรยากาศการค้าโลก ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อยาวนานและความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนธันวาคม 2567 มีมูลค่า 24,765.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (853,305 ล้านบาท) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ที่ร้อยละ 8.7 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ร้อยละ 10.4 การนำเข้า มีมูลค่า 24,776.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 14.9 ดุลการค้า ขาดดุล 10.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ภาพรวมการส่งออกทั้งปี 2567 มีมูลค่า 300,529.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขยายตัวร้อยละ 5.4 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 306,809.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 6.3 ดุลการค้าของปี 2567 ขาดดุล 6,280.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“การส่งออกในรูปของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ พุ่งทะยานสู่ระดับ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นครั้งแรก เช่นเดียวกับการส่งออกในรูปของเงินบาทก็มีมูลค่าสูงกว่า 10 ล้านล้านบาท เป็นครั้งแรกเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ การส่งออกในเดือนธันวาคมได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าทุนและวัตถุดิบของไทยในทุกหมวดและยังขยายตัวเกือบทุกตลาดส่งออกสำคัญ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของนโยบายทางการค้าโลกในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ การส่งออกของไทยทั้งปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 5.4 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 5.4”

โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 8.9 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน โดยสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 10.7 และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 6.7 โดยมีสินค้าสำคัญ
ที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 48.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 14 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ มาเลเซีย และเกาหลีใต้) ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 7.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน เนเธอร์แลนด์ และฮ่องกง)

อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 14.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอียิปต์) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 4.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย และเกาหลีใต้)

อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 9.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 15 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ไต้หวัน เยอรมนี ฟิลิปปินส์ และอินเดีย) ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 12.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ออสเตรเลีย เมียนมา และลาว) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 7.8 กลับมาขยายตัวในรอบ 14 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์) และผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 24.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 15 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เนเธอร์แลนด์ ลาว และมาเลเซีย)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ข้าว หดตัวร้อยละ 8.5 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อิรัก และเซเนกัล แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง เยเมน แอฟริกาใต้ และโมซัมบิก) และน้ำตาลทราย
หดตัวร้อยละ 30.0 หดตัวต่อเนื่อง 12 เดือน (หดตัวในตลาดกัมพูชา ลาว ไต้หวัน สิงคโปร์ และจีน แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย มาเลเซีย เกาหลีใต้ เมียนมา และเฟรนช์โปลีนีเซีย) ทั้งนี้ ปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 6.0

ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 11.1 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญ ที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 43.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เยอรมนี สิงคโปร์ และไอร์แลนด์) ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 22.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และมาเลเซีย)

อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 79.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินเดีย สหรัฐฯ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ญี่ปุ่น และเวียดนาม) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 35.6 ขยายตัวต่อเนือง 10 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น จีน และอินโดนีเซีย) เคมีภัณฑ์ ขยายตัวร้อยละ 20.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน อินเดีย สหรัฐฯ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 28.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เวียดนาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อินเดีย และอิตาลี)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 7.2 กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น ซาอุดีอาระเบีย และบราซิล แต่ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ สหรัฐฯ เม็กซิโก อินโดนีเซีย และเวียดนาม) น้ำมันสำเร็จรูป หดตัวร้อยละ 33.7 หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (หดตัวในตลาดลาว เวียดนาม เมียนมา สิงคโปร์ และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในตลาดกัมพูชา จีน อินโดนีเซีย เขตต่อเนื่องราชอาณาจักร และอินเดีย)

เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 28.3 หดตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (หดตัวในตลาดอาร์เจนตินา สหรัฐฯ มาเลเซีย ไต้หวัน และจีน แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ อินเดีย ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด หดตัวร้อยละ 77.9 หดตัวต่อเนื่อง 10 เดือน (หดตัวในตลาดฮ่องกง ญี่ปุ่น สหรัฐฯ จีน และเกาหลีใต้ แต่ขยายตัวในตลาดไต้หวัน มาเลเซีย เยอรมนี เม็กซิโก และสหราชอาณาจักร) ทั้งนี้ ปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว ร้อยละ 5.9

การส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัว ตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น จากความกังวลต่อความไม่แน่ นอนของนโยบายทางการค้าโลกในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้

1.ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 12.0 โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 17.5 จีน ร้อยละ 15.0 ญี่ปุ่น ร้อยละ 0.6 สหภาพยุโรป ร้อยละ 19.1 และ CLMV ร้อยละ 20.7 ขณะที่อาเซียน หดตัวร้อยละ 0.6

2.ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 6.2โดยขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 44.5 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 11.3 แอฟริกา ร้อยละ 8.7 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 12.3 รัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 37.0 และสหราชอาณาจักร ร้อยละ 37.4 ขณะที่ตลาดทวีปออสเตรเลีย หดตัวร้อยละ 15.5 และ 3. ตลาดอื่น ๆ หดตัวร้อยละ 65.3

ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 17.5 (ขยายตัวต่อเนื่อง 15 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และเครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ
ทั้งนี้ ปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 13.7

ตลาดจีน ขยายตัวร้อยละ 15.0 (ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ข้าวและแผงวงจรไฟฟ้า ทั้งนี้ ปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 3.1

ตลาดญี่ปุ่น กลับมาขยายตัวร้อยละ 0.6 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ไก่แปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และเคมีภัณฑ์ ทั้งนี้ ปี 2567 หดตัวร้อยละ 5.3

ตลาดสหภาพยุโรป (27) ขยายตัวร้อยละ 19.1 (ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า ทั้งนี้ ปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 10.2

ตลาดอาเซียน (5) หดตัวร้อยละ 0.6 (หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น น้ำมันสำเร็จรูป ข้าว และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ ทั้งนี้ ปี 2567 หดตัวร้อยละ 0.8

ตลาด CLMV ขยายตัวร้อยละ 20.7 (ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องดื่ม สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น น้ำมันสำเร็จรูป กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และน้ำตาลทราย ทั้งนี้ ปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 12.7

ตลาดเอเชียใต้ ขยายตัวร้อยละ 44.5 (ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ เคมีภัณฑ์ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เม็ดพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูป ทั้งนี้ ปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 13.1

ตลาดทวีปออสเตรเลีย กลับมาหดตัวร้อยละ 15.5 สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเม็ดพลาสติก สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ทั้งนี้ ปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 2.1

ตลาดตะวันออกกลาง ขยายตัวร้อยละ 11.3 (ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ทั้งนี้ ปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 3.8

ตลาดแอฟริกา ขยายตัวร้อยละ 8.7 (ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว และเครื่องยนต์สันดาปภายใน สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ทั้งนี้ ปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 0.5

ตลาดลาตินอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 12.3 (ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายใน และผลิตภัณฑ์พลาสติก ทั้งนี้ ปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 15.2

ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS กลับมาขยายตัวร้อยละ 37.0 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ และน้ำมันสำเร็จรูป สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น
ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ ทั้งนี้ ปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 7.5

ตลาดสหราชอาณาจักร ขยายตัวร้อยละ 37.4 (ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ไก่แปรรูป และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ อาหารสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์พลาสติก ทั้งนี้ ปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 3.0
แนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป

แนวโน้มการส่งออกในปี 2568 กระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งออกทั้งปี 2568 จะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2 – 3
ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะเติบโตใกล้เคียงในระดับปัจจุบัน แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ การย้ายฐานการผลิตมายังกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงไทยมากขึ้น และการเร่งส่งเสริมการใช้ซอฟต์พาวเวอร์ของไทยเชื่อมโยงเข้ากับสินค้าส่งออกเพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้เป็นที่จดจำในระดับโลก ขณะที่มีปัจจัยท้าทายจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งกระทบกับบรรยากาศการค้าโลก ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อยาวนานและความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามสถานการณ์และวางแผนเตรียมความพร้อมร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การค้าไทยเติบโตอย่างยั่งยืน

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img