‘สุรเกียรติ์ เสถียรไทย’ ปาฐกถาเปิดเวทีสัมมนาจุฬา กาง 6 ปัจจัยป่วนโลก แนะรัฐบาลตั้งผู้แทนพิเศษเจรจาสหรัฐฯ ระบุต้องเจรจาต้องเป็นเอกภาพ ไม่ให้ผลประโยชน์ของเอกชนขัดกัน ชงผนึกอาเซียนสร้างอำนาจต่อรอง
วันที่ 3 ก.พ.2568 ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดงานสัมมนา Chula Thailand Presidents Summit 2025 นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในหัวข้อ “Future Thailand: The Comprehensive View” ว่าความเสี่ยงในด้านสงครามการค้า หากมีการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าในสหรัฐ ผลต่อประเทศไทย คือ หากสหรัฐขึ้นภาษีสินค้าจีน สินค้าจีนจะต้องกระจายไปต่างประเทศ ทางหนึ่งอาจเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งต้องเตรียมรับมือ ว่าจะต่อต้านหรือเข้าร่วมอย่างไร นอกจากนี้ทิศทางอนาคตของประเทศไทยที่สำคัญจึงเป็นการวางจุดยืนทางการเมือง และยุทธศาสตร์ทั้งภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะการเจรจาร่วมกับสหรัฐ ซึ่งหากภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ และภาคประชาสังคมไม่ร่วมมือกันจะมีความอันตรายมาก เพราะการเจรจาระหว่างสหรัฐจะเป็นการเจรจาข้ามภาค ไม่ได้เป็นเพียงการเจรจาในด้านภาษีอย่างเดียวแล้ว ทำให้ประเทศไทยจะมีความอลหม่านมาก ภาคเอกชนจะแตกกัน เพราะผลประโยชน์ต่างกัน รัฐบาลจะมีปัญหาในการทำงานให้เป็นเอกภาพ เพราะรับผิดชอบกันคนละกระทรวง ซึ่งแต่ละกระทรวงก็มาจากพรรคการเมืองคนละพรรคด้วย
นายสุรเกียรติ์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำคือ แต่งตั้งผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ไปทำหน้าที่ในการเจรจาหารือในแต่ละประเทศและแต่ละเรื่องตามที่ต้องการ ซึ่งเคยทำมาแล้วในอดีต เช่น ด้านพลังงาน สุขภาพต่างๆ ซึ่งแต่ละเรื่องที่ต้องหารือในสหรัฐ มีกรรมาธิการเฉพาะเพื่อดูแลในแต่ละกลุ่ม ประเทศไทยจึงต้องตั้งผู้แทนพิเศษเหล่านี้ในการเข้าไปหารือแต่ละสาย อาทิ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นตัวแทนไปหารือในด้านต่างๆ อย่างการเกษตร เป็นต้น
“การต่อรองข้ามภาคลักษณะแบบนี้ ประเทศไทยต้องจับมือกับประเทศในอาเซียน ใกล้ชิดกันมากขึ้น ประเมินว่าสหรัฐสนใจในด้านใด อาทิ อุยกูร์ ที่สหรัฐไม่อยากให้ส่งกลับ รวมถีงเมียนมา ว่าเราจะสามารถหารือร่วมกันได้อย่างไร โดยมองว่าเราจำเป็นต้องรวมพลังภาครัฐในทุกกรม ทุกเอกชนทั้งหมด หากอำนาจต่อรองของไทยไม่พอก็ไปประเทศเพื่อนบ้านลุ่มแม่น้ำโขง หากไม่พอต้องไปอาเซียนทั้ง 10 ประเทศเลย โดยอนาคตของประเทศคือ ประเทศไทยที่มีความพร้อมต่อความปั่นป่วนเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มีความยืดหยุ่น ล้มเป็นลุกเป็น การปรับตัวเปลี่ยนแปลงทั้งความคิด ผสมผสานได้เร็ว ผู้นำทุกภาคส่วนและองค์กรต้องมีความพร้อมในการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงให้ทันสถานการณ์ ซึ่งทั้งหมดนี้เราต้องการความเป็นผู้นำจากรัฐบาล ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ที่ต้องทำงานร่วมกัน” นายสุรเกียรติ์ กล่าว