ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.86 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” หนุนโดยการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลัง”ทรัมป์” เลื่อนกำหนดการขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจากเม็กซิโก-แคนาดาออกไปอีก 30 วัน
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.86 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 34.04 บาทต่อดอลลาร์โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นในลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ 33.81-34.05 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังการเจรจารระหว่างผู้นำของสหรัฐฯ กับเม็กซิโกและแคนาดา เป็นไปอย่างราบรื่นส่งผลให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตัดสินใจเลื่อนกำหนดการขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจากเม็กซิโกและแคนาดาออกไปอีก 30 วัน ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0
นอกจากนี้ การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ยังได้หนุนให้ราคาทองคำ (XAUUSD) รีบาวด์สูงขึ้นเหนือโซน 2,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้อีกครั้ง อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง หลังรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ในเดือนมกราคม ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.9 จุด ดีกว่าที่ตลาดคาด
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงถูกกดดันจากความกังวลผลกระทบจากการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา ทว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯก็เริ่มรีบาวด์สูงขึ้นบ้าง หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศชะลอการเก็บภาษีนำเข้าต่อสินค้าเม็กซิโกและแคนาดา ที่ได้ประกาศก่อนหน้า หลังการเจรจากับผู้นำทั้งสองประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.76%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงกว่า -0.87% ท่ามกลางความกังวลผลกระทบจากการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ล่าสุดทำให้บรรดาหุ้นกลุ่มยานยนต์ และสินค้าแบรนด์เนม ต่างปรับตัวลดลงพอสมควร อาทิ Volkswagen -4.1%, LVMH -1.9% นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มการเงินต่างก็ปรับตัวลงหนักเช่นกัน ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนที่อาจเผชิญแรงกดดันจากนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0
ส่วนตลาดบอนด์นั้นพบว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯเคลื่อนไหวผันผวนในลักษณะ Sideways แม้จะมีจังหวะปรับตัวลงตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ทว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯก็ได้แรงหนุนบ้าง จากรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯที่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงการประกาศชะลอมาตรการเก็บภาษีนำเข้าต่อสินค้าเม็กซิโกและแคนาดาโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้โดยรวมบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯยังคงอยู่แถว 4.56%
ทางด้านตลาดค่าเงินนั้น เงินดอลลาร์พลิกกลับมาทยอยอ่อนค่าลง หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศชะลอการเก็บภาษีนำเข้าต่อสินค้าเม็กซิโกและแคนาดา ทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยคลายกังวลผลกระทบจากการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯบ้าง โดยผู้เล่นในตลาดเพิ่มโอกาสเฟดเดินหน้าลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้ เป็น 62% ส่งผลให้โดยรวมเงินดอลลาร์ปรับตัวลงสู่โซน 108.5 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 108.4-109.5 จุด)
ส่วนของราคาทองคำ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน และการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ได้พอช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย. 2025) รีบาวด์สูงขึ้นเข้าใกล้ระดับ 2,870 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะเผชิญแรงขายทำกำไรกดดันให้ย่อตัวลงบ้าง สู่โซน 2,850 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนค่าของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ผ่านรายงานยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods Orders) ยอดคำสั่งซื้อสินค้าภาคโรงงาน (Factory Orders) และยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ในเดือนธันวาคม พร้อมกับรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด
ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ในช่วงเช้าของวันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ ราว 6.30 น. ตามเวลาประเทศไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Wage Growth) ในเดือนธันวาคม เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน รวมถึงรอติดตามท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้า (รอจับตาว่า ทางการสหรัฐฯจะมีการเจรจากับทางการจีน จนอาจนำไปสู่การชะลอมาตรการเก็บภาษีนำเข้าได้หรือไม่) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้อย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท การทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินบาทจนทะลุโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์อีกครั้ง ทำให้หากประเมินตามกลยุทธ์ Trend Following เงินบาทก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแนวโน้มเป็นการอ่อนค่าลง และเงินบาทมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หรืออย่างน้อยก็แกว่งตัวในกรอบ Sideways ตราบใดที่เงินบาทไม่ได้กลับมาอ่อนค่าลงชัดเจน เหนือโซนแนวต้าน 34.10 บาทต่อดอลลาร์
อย่างไรก็ดี เงินบาทเสี่ยงเผชิญความผันผวนลักษณะ Two-Way Volatility ขึ้นกับความกังวลของผู้เล่นในตลาดต่อการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 โดยหากรัฐบาลสหรัฐฯประกาศเดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจากยุโรป หรือประเทศอื่นๆ (อาจจะเพื่อเป็นการเจรจาต่อรองให้สหรัฐฯบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการแบบที่ทำกับเม็กซิโกและแคนาดา) ก็อาจกดดันให้เงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) เสี่ยงอ่อนค่าลงหนักได้ หนุนให้เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้น ส่วนเงินบาทก็มีโอกาสอ่อนค่าลงทะลุโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ได้อีกครั้ง
ทว่าหากรัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มเจรจากับทางการจีน จนนำไปสู่การชะลอเก็บภาษีนำเข้าที่ได้ประกาศไปล่าสุด ก็อาจหนุนให้เงินหยวนจีน (CNY) ทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง ส่งผลดีต่อบรรดาสกุลเงินเอเชียได้ไม่ยาก แต่เรามองว่า โอกาสเกิดภาพดังกล่าวอาจไม่ง่ายนัก และสิ่งที่ต้องระวังคือ แนวโน้มที่สหรัฐฯอาจเดินหน้าทยอยขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจีน ทว่าสิ่งที่อาจพอเป็นไปได้ คือการปรับมาตรการเก็บภาษีนำเข้า โดยอาจยกเว้นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อย่าง Smartphone เนื่องจากการประกาศมาตรการภาษีล่าสุดจะกระทบต่อบริษัทสหรัฐฯ อย่าง Apple ได้พอสมควร
ทั้งนี้ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเงินบาทได้พอสมควร รวมถึงฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ที่อาจยังมีความผันผวนอยู่ในช่วงนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตามผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯในคืนนี้ อย่าง ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) และยอดคำสั่งซื้อภาคโรงงาน (Factory Orders) ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วงราว 22.00 น. ตามเวลาประเทศไทย เนื่องจากสถิติในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา สะท้อนว่าเงินบาท (USDTHB) เสี่ยงผันผวนโดยเฉลี่ย +/-0.20% ภายในช่วง 30 นาที หลังรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือสกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ โดยมองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.75-34.00 บาทต่อดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ)