“ชัยชาญ” เผยส่งออกไทยเผชิญความเสี่ยงต่อสงครามทางการค้ารอบใหม่ แนะรับตั้งวอร์รูมรับมือนโยบายทรัมป์ 2.0 วางจุดยืนไทยให้ชัดเจน ขณะที่ “สนั่น”ชง 3 แนวทางแก้ปัญหา ทั่วโลกจับตาผลการเจรจาทรัมป์ -สี จิ้นผิง สัปดาห์นี้
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ส่งออกปีนี้เผชิญต่อสงครามการค้า โดยกรณีมีการเจรจาต่อรองกันจนหาข้อตกลงได้ คาดไตรมาส 1 การส่งออกจะขยายตัว 2-3 % มูลค่า 72,500 ล้านดอลลาร์ หรือเฉลี่ยเดือนละ 24,000-25,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนทั้งปีขยายตัว 1-3% มูลค่า 305,000 ล้านดอลลาร์
โดยการส่งออกไทยจะเริ่มได้รับผลกระทบไตรมาส 2 เพราะเห็นทิศทางการออกนโยบายเป็นไปตามที่สหรัฐประกาศไว้ โดยมีข้อดีที่ยังเจรจาได้ ซึ่งไทยต้องทำงานร่วมกันใกล้ชิดระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเร่งประชุมคณะกรรมร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) รายเดือนหรือรายไตรมาส
ทั้งนี้เห็นว่าภาครัฐต้องรีบตั้ง “วอร์รูมเฉพาะนโยบายทรัมป์ 2.0” ให้เร็วที่สุด และเรียกประชุมทันทีหลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินทางกลับจากสหรัฐ โดยกำหนดกลยุทธ์การทำงานให้เป็นแบบหนึ่งเดียวทั้งภาครัฐเองและเอกชน และวางจุดยืนของไทยให้ชัดเจน โดยเฉพาะแนวทางการเจรจาหลังสหรัฐประกาศมาตรการกับไทย
ส่วนสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนต้องดูว่าจะมีผลกระทบต่อการส่งออก โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเสี่ยงโดนขึ้นภาษีนำเข้าใน 3 กลุ่มคือ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยางพารา ซึ่งควรถอดบทเรียนการขึ้นภาษีกับแคนาดาและเม็กซิโก
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลกระทบจากสงครามการค้ารอบใหม่เริ่มแสดงให้เห็นชัดเจนต่อตลาดโลก ค่าเงินอ่อนค่าลง โดยค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนตัว หุ้นทั่วโลกปรับลดลง และตลาดการเงินเกิดความผันผวน แม้ไทยยังไม่ใช่ประเทศหลักที่ถูกเพ่งเล็งจากสหรัฐ แต่มองว่านโยบายทางภาษีสหรัฐจะมีส่วนกระทบต่อเศรษฐกิจหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะการส่งออกที่ต้องประเมินตัวเลขอีกครั้งหลังจากมีความชัดเจนของมาตรการที่ทรัมป์น่าจะประกาศออกมาหลังวันที่ 1 เม.ย.นี้
ทั้งนี้ สภาหอการค้าฯ จึงมีข้อเสนอเบื้องต้นเพื่อเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ 3 เรื่องสำคัญ คือ
1.การเตรียม TEAM THAILAND+ ที่เป็นคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเร่งศึกษาผลกระทบของไทยต่อนโยบายสหรัฐในทุก Sector และจัดทำเป็น Strategic Plan ของประเทศในการเจรจากับสหรัฐ รวมถึงการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกับสหรัฐผ่านกลไก US Chamber of Commerce
2.ถือโอกาสความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลกนี้ ในการโปรโมทการลงทุนจากบริษัทต่างชาติที่ต้องการย้ายฐานการผลิต โดยเสนอสิทธิประโยชน์ที่จูงใจ
3.เร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ค้างอยู่ โดยเฉพาะไทยและสหภาพยุโรป (EU) เพื่อกระจายตลาดส่งออก ลดการพึ่งพาจีนและสหรัฐและขยายไปภูมิภาคอื่น เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกาและยุโรป
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่มาตรการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจีน 10% เริ่มมีผลบังคับใช้หลังเวลา 00.01 น. วันที่ 4 ก.พ.2567 ตามเวลาในสหรัฐ โดยไม่เลื่อนออกไป 30 วัน เหมือนกรณีแคนาดาและเม็กซิโก รัฐบาลจีนประกาศมาตรการตอบโต้สหรัฐกลับทันที ทั้งมาตรการภาษี 10-15% และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ขณะที่ทั่วโลกจับตาการเจรจาระหว่างทรัมป์ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่คาดว่าจะมีขึ้นในสัปดาห์นี้
กระทรวงการคลังของจีนแถลงเมื่อวันอังคารว่า จีนจะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ 15% กับถ่านหินและก๊าซแอลเอ็นจี และภาษี 10% กับสินค้าในกลุ่มน้ำมันดิบ เครื่องจักรการเกษตร และยานยนต์บางประเภท โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 10 ก.พ.นี้
“การจัดเก็บภาษีเพิ่มเติม 10% ของสหรัฐ ละเมิดกฎขององค์การการค้าโลก (WTO) อย่างร้ายแรง และบ่อนทำลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้าทวิภาคีตามปกติ” ซีเอ็นบีซีรายงานอ้างแถลงการณ์ตอนหนึ่งของกระทรวงการคลังจีน
นอกจากการตอบโต้ด้วยมาตรการทางภาษีแล้ว จีนดำเนินมาตรการตอบโต้ควบคู่อีกหลายด้าน อาทิ สำนักงานบริหารการกำกับดูแลตลาดของจีนได้ประกาศเปิดการสอบสวนบริษัท “กูเกิล อิงค์” ในข้อกล่าวหาการละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาดตลาด