ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.68 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”หนุนโดยการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ท่ามกลางความหวังว่า ผู้นำจีนกับสหรัฐฯ จะมีการเจรจาในอนาคตอันใกล้นี้ เกาะติดดัชนีฯ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.68 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 33.82 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นในลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ 33.60-33.87 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังบรรยากาศในตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ เริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลางความหวังว่า ผู้นำจีนกับสหรัฐฯ จะมีการเจรจาในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการทำสงครามการค้า หลังสหรัฐฯได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจากจีน ส่วนทางการจีนล่าสุดก็ได้ประกาศมาตรการตอบโต้การขึ้นภาษีนำเข้าดังกล่าวเช่นกัน
นอกจากนี้ ตลาดการเงินสหรัฐฯยังได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาสดใส และนอกเหนือจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ที่ออกมาแย่กว่าคาด ทั้งยอดคำสั่งซื้อภาคโรงงาน (Factory Orders) ที่หดตัว -0.9%m/m
ส่วนยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ก็อยู่ที่ระดับ 7.6 ล้านตำแหน่ง ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าและแย่กว่าคาดพอสมควร ซึ่งการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯในช่วงหลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ก็มีส่วนหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์และช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมาเช่นกัน
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาสดใส ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดต่างก็มีความหวังว่า ผู้นำสหรัฐฯและจีนอาจมีการเจรจากันในเร็วนี้ ซึ่งอาจนำไปสู่การชะลอมาตรการเก็บภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯได้ประกาศก่อนหน้าได้ ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.72%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้นราว +0.22% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาสดใส อาทิ Ferrari +8.0%, BNP +4.2% อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดยังคงไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก ท่ามกลางความกังวลว่า ยุโรปอาจเผชิญนโยบายกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯได้ในอนาคต
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์นั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.53% แม้จะมีจังหวะปรับตัวขึ้นเข้าใกล้โซน 4.60% ทว่า รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ที่ออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับเพิ่มโอกาสเฟดลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ เป็น 74% ก็มีส่วนกดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯทยอยปรับตัวลดลงได้
อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯยังมีความเสี่ยงที่อาจผันผวนสูงขึ้นได้บ้าง ขึ้นกับแนวโน้มการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 รวมถึงการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หลังรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ทำให้เราคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอจังหวะทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว (เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip) เพื่อให้ได้ Risk-Reward ที่มีความน่าสนใจและคุ้มค่า
ทางด้านตลาดค่าเงินนั้นพบว่า เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง กดดันโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ที่ออกมาแย่กว่าคาด รวมถึงภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ทว่าเงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯในวันศุกร์นี้ อีกทั้งการดำเนินนโยบายการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ส่งผลให้โดยรวมเงินดอลลาร์ปรับตัวลงสู่โซน 108 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 107.9-108.7 จุด)
ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าตลาดการเงินจะทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยง ทว่า การทยอยปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย. 2025) ปรับตัวขึ้นเข้าใกล้ระดับ 2,870 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง ก่อนที่จะเผชิญแรงขายทำกำไรออกมาบ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนค่าของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) เดือนมกราคม รวมถึงยอดการจ้างงานภาคเอกชน โดย ADP ซึ่งอาจพอช่วยสะท้อนถึงแนวโน้มยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ที่จะรายงานในวันศุกร์นี้ได้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ภายใต้ความผันผวนของการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0
ส่วนในฝั่งจีนผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ผ่านรายงานดัชนี Caixin PMI ภาคการบริการ เดือนมกราคม
นอกจากนี้ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน รวมถึงรอติดตามท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้า (รอจับตาว่า ทางการสหรัฐฯจะมีการเจรจากับทางการจีน จนอาจนำไปสู่การชะลอมาตรการเก็บภาษีนำเข้าได้หรือไม่) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้อย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้น หรืออย่างน้อยก็แกว่งตัวในกรอบ Sideways หากประเมินตามกลยุทธ์ Trend Following ตราบใดที่เงินบาทไม่ได้กลับมาอ่อนค่าลงชัดเจน เหนือโซนแนวต้าน 34.10 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา เงินบาทได้รับอานิสงส์จากการทยอยปรับตัวขึ้นของราคาทองคำพอสมควร ซึ่งปัจจุบัน หากประเมินในเชิงเทคนิคัล ราคาทองคำก็เสี่ยงที่จะมีจังหวะย่อตัวลงมาบ้าง โดยการปรับตัวลงของราคาทองคำก็อาจถูกเร่งได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯในช่วงนี้ ทั้งดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ รวมถึงข้อมูลการจ้างงาน ออกมาดีกว่าคาด
อนึ่ง เราคงมุมมองเดิมว่า ตลาดการเงินยังเสี่ยงเผชิญความผันผวนลักษณะ Two-Way Volatility ขึ้นกับความกังวลของผู้เล่นในตลาดต่อการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ซึ่งในช่วงระยะสั้น อาจต้องจับตาท่าทีของทางการสหรัฐฯ ต่อแนวโน้มการขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจากยุโรป ที่อาจกดดันให้เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงได้อย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงแนวโน้มการเจรจาระหว่างผู้นำสหรัฐฯกับผู้นำจีน ซึ่งอาจนำไปสู่การชะลอเก็บภาษีนำเข้าที่ได้ประกาศไปล่าสุด โดยภาพดังกล่าว ก็อาจหนุนให้เงินหยวนจีน (CNY) ทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง ส่งผลดีต่อบรรดาสกุลเงินเอเชียได้ไม่ยาก แต่เรายังไม่ได้มีความหวังต่อการรีบกลับมาเจรจาระหว่างจีนกับสหรัฐฯมากนัก และคงมุมมองเดิมว่า ต้องระวังแนวโน้มที่สหรัฐฯ อาจเดินหน้าทยอยขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจีน ทว่าสิ่งที่อาจพอเป็นไปได้ คือการปรับมาตรการเก็บภาษีนำเข้าใหม่ โดยอาจยกเว้นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อย่าง Smartphone เนื่องจากการประกาศมาตรการภาษีล่าสุดจะกระทบต่อบริษัทสหรัฐฯ อย่าง Apple ได้พอสมควร
อนึ่ง เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในคืนนี้ อย่าง ยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP และดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ เนื่องจากสถิติในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา สะท้อนว่า เงินบาท (USDTHB) เสี่ยงผันผวนโดยเฉลี่ยเกือบ +/-0.20% ภายในช่วง 30 นาที หลังรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.50-33.80 บาทต่อดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ)