ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.57 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว” ยอดการจ้างงานภาคเอกชน ของสหรัฐฯ ออกมา เพิ่มขึ้น 1.83 แสนตำแหน่งดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ จับตาผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ คาดหั่นดอกเบี้ย 0.25%
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.57 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 33.49-33.62 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง ตามการรีบาวด์ขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังรายงานข้อมูลยอดการจ้างงานภาคเอกชน โดย ADP ของสหรัฐฯออกมาเพิ่มขึ้น 1.83 แสนตำแหน่ง ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้
อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ก็มีจังหวะย่อตัวลงบ้าง สอดคล้องกับการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ หลัง รายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการของสหรัฐฯในเดือนมกราคม ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 52.8 จุด แย่กว่าที่ตลาดคาดไว้พอสมควร ส่งผลให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างเพิ่มโอกาสที่เฟดอาจเดินหน้าลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้ เป็น 84% นอกจากนี้ราคาทองคำยังได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯหนุนให้ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ใหม่ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง หนุนโดยการรีบาวด์ขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ธีม AI/Semiconductor อย่าง Nvidia +5.2% รวมถึงรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาสดใส ยกเว้นในส่วนของ Alphabet -7.3% ที่รายงานผลประกอบการที่น่าผิดหวัง และมีการเปิดเผยแผนการลงทุนด้าน AI ที่สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้มาก ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาดเพียง +0.39%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้น +0.47% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาสดใส อาทิ Novo Nordisk +4.5% ทว่าตลาดหุ้นยุโรปก็เผชิญแรงกดดันบ้าง ตามการปรับตัวลงของบรรดาหุ้นกลุ่มยานยนต์ หลังมีรายงานว่า Nissan อาจยกเลิกการเจรจาควบควมกิจการกับ Honda กดดันให้ราคาหุ้นบริษัท Renault (ที่เป็นผู้ถือหุ้นสำคัญของ Nissan) -2.6%
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์นั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.43% หลังรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการของสหรัฐฯที่ออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเพิ่มโอกาสเฟดเดินหน้าลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯยังมีความเสี่ยงที่อาจผันผวนสูงขึ้นได้บ้าง ขึ้นกับแนวโน้มการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 รวมถึงการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หลังรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ โดยเฉพาะยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในคืนวันศุกร์นี้ ตามเวลาประเทศไทย ทำให้เราคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอจังหวะทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว (เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip) เพื่อให้ได้ Risk-Reward ที่มีความน่าสนใจและคุ้มค่า
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways โดยมีจังหวะอ่อนค่าลง ตามบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการของสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด ทว่า เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ ส่งผลให้โดยรวมเงินดอลลาร์เคลื่อนไหวแถวโซน 107.6 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 107.3-107.7 จุด)
ส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯจะมีจังหวะปรับตัวลดลงบ้าง หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย. 2025) ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ใหม่ ทว่า บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน รวมถึงแรงขายทำกำไรทองคำ ได้จำกัดการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ทำให้ราคาทองคำยังคงแกว่งตัวแถวโซน 2,880-2,890 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ซึ่งบรรดาผู้เล่นในตลาดและนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ต่างมองว่า BOE จะเดินหน้าลดดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 4.50% ในการประชุมครั้งนี้ (เรามองต่าง ว่า BOE อาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ก่อน หลังอัตราเงินเฟ้อและอัตราการเติบโตของค่าจ้างยังอยู่ในระดับสูง) นอกจากนี้ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ BOE โดยเฉพาะผู้ว่าฯ BOE เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างให้โอกาสราว 36% ที่ BOE จะลดดอกเบี้ยได้ 4 ครั้ง หรือ 100bps ในปีนี้
ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของเวียดนามในเดือนมกราคม อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ยอดการค้าระหว่างประเทศ (Exports & Imports) รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ CPI ส่วนทางฝั่งไทย เราประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) ในเดือนมกราคม จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.32% (+0.10% จากเดือนก่อนหน้า) ตามอานิสงส์จากระดับฐานราคาที่ต่ำในปีก่อนหน้า อีกทั้งราคาสินค้าหมวดอาหารก็มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทว่าปัจจัยกดดันจะมาจากการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมัน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) อาจทรงตัวแถวระดับ 0.80%
และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) พร้อมทั้งรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายของเฟด ภายใต้ความไม่แน่นอนของนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน รวมถึงรอติดตามท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้า (รอจับตาว่า ทางการสหรัฐฯ จะมีการเจรจากับทางการจีน จนอาจนำไปสู่การชะลอมาตรการเก็บภาษีนำเข้าได้หรือไม่) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้อย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้น หรืออย่างน้อยก็แกว่งตัวในกรอบ Sideways หากประเมินตามกลยุทธ์ Trend Following ตราบใดที่เงินบาทไม่ได้กลับมาอ่อนค่าลงชัดเจน เหนือโซนแนวต้าน 34.10 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา เงินบาทได้รับอานิสงส์จากการทยอยปรับตัวขึ้นของราคาทองคำพอสมควร ซึ่งปัจจุบัน หากประเมินในเชิงเทคนิคัล ราคาทองคำก็เสี่ยงที่จะมีจังหวะย่อตัวลงมาบ้าง โดยการปรับตัวลงของราคาทองคำก็อาจถูกเร่งได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ในช่วงนี้ อย่าง ข้อมูลการจ้างงานออกมาดีกว่าคาด
อย่างไรก็ดี เงินบาทก็อาจยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นทะลุโซนแนวรับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ง่ายนัก จนกว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยสำคัญต่อตลาดการเงินในช่วงนี้ ทั้งมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งอาจต้องเห็นการปรับเพิ่มโอกาสเฟดลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง หรือต้องเริ่มเห็นการคาดหวังว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้มากกว่า 2 ครั้ง ซึ่งเรามองว่า กรณีดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน นอกจากนี้ ควรจะต้องเห็นความกังวลนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯที่คลี่คลายลงด้วย ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ ในกรณีที่ผู้นำสหรัฐฯกับผู้นำจีนเริ่มเจรจา เพื่อยุติหรือชะลอมาตรการเก็บภาษีนำเข้าที่ได้ประกาศออกมาในช่วงนี้
แต่หากเงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นทะลุโซนแนวรับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ได้จริง ก็อาจเปิดโอกาสให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นสู่โซน 33.20-33.30 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก ท่ามกลางการปรับสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะในฝั่งผู้เล่นที่มีสถานะ Net Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่าลง)
อนึ่ง เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม BOE และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในคืนนี้ เพราะหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดชัดเจน ส่วน BOE ก็ลดดอกเบี้ยตามคาด และส่งสัญญาณพร้อมลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม ก็อาจหนุนให้เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นได้พอสมควร (ส่วนเงินปอนด์อังกฤษ เสี่ยงอ่อนค่าลงได้) กดดันให้เงินบาทมีโอกาสทยอยกลับมาอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 33.70-33.80 บาทต่อดอลลาร์ได้ นอกจากนี้ยังคงต้องติดตามทิศทางราคาทองคำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเงินบาทได้พอสมควรในระยะนี้
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือสกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ โดยมองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.45-33.75 บาทต่อดอลลาร์