‘สภาพัฒน์’ เผย เศรษฐกิจไทย ปี 67 ที่ผ่านมา GDP โต 2.5% รั้งท้ายอาเซียนอีกปี ส่วนปี 68 คาดโตแค่ 2.8%
วันที่ 17 ก.พ.68 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจแบะสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 67 ที่ผ่านมา จีดีพีไทยโต 2.5% และคาดการณ์ปีนี้ (2568) จีดีพี จะโตได้ 2.8% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว
ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 ในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของไทย ขยายตัว 3.2% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 3% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจทั้งภาคการผลิตและการใช้จ่ายปรับตัวดีขึ้นทุกตัว โดยเฉพาะการลงทุนรวมขยายตัวได้ดีขึ้น
โดยรวมในปี 2567 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.5% เร่งขึ้นจาก 2% ในปี 2566 โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 4.4% , การอุปโภคภาครัฐบาล ขยายตัว 2.5% , การลงทุนภาครัฐขยายตัว 4.8% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนลดลง 1.6% ส่วนมูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์ ขยายตัว 5.8% , อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 0.4% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.3% ของ GDP
สภาพัฒน์ ยังประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดว่าจะขยายตัว อยู่ที่ 2.3 – 3.3% (ค่ากลางของการประมาณการอยู่ที่ 2.8%) ซี่งยังคงไว้ตามประมาณการครั้งก่อน
ทั้งนี้ แม้ดูจะเป็นสัญญาณบวก ว่าประเทศไทยกำลังฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ตัวเลขนี้กลับค่อนข้างน่ากังวล โดยปี 67 เศรษฐกิจไทยโต 2.5% แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม โตถึง 6.4% และคาดว่าในปี 2568 จะเพิ่มขึ้นเป็น 6.6% , ส่วนฟิลิปปินส์เติบโตที่ 6% และปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.2% ทั้งสองประเทศกำลังโตในอัตราที่เกือบจะเป็นสองเท่าของไทย
นอกจากนี้ กัมพูชายังมีอัตราเติบโตที่แข็งแกร่งอยู่ที่ 6% ในทั้งปี 2567 และ 2568 , ส่วนมาเลเซียขยายตัว 5% ในปี 67 และคาดว่าจะลดลงเล็กน้อยเป็น 4.6% ในปีนี้ ขณะที่ สปป.ลาว โต 4.5% และลดลงเล็กน้อยเป็น 4.3% ในปีนี้
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยเติบโตช้ากว่าประเทศอื่น คือ การลงทุนภาคเอกชนที่ยังคงลดลง โดยปี 67 หดตัว 1.6% แม้ว่าภาครัฐจะพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนที่ขยายตัวถึง 4.8% และการใช้จ่ายภาครัฐที่เติบโต 2.5% ก็ตาม
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า ตัวเลขคาดการณ์จีดีพี.ไทยในปีนี้ (68) ที่ 2.8% ได้นับรวมการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทเข้าไปแล้ว แต่ไทยยังมีความเสี่ยงเรื่องความผันผวนการค้าโลก จากมาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจเกิดขึ้นตามมา ซึ่งเป็นความเสี่ยงสำคัญ โดยเฉพาะในครึ่งปีหลัง ซึ่งหากเป้าหมายรัฐบาล จะทำให้จีดีพีโต 3-3.5% ต้องใช้มาตรการต่างๆ เข้ามาเสริมมากขึ้น ทั้งเรื่องของการลงทุน และการบริโภคต่างๆ เช่น กระตุ้นลงทุนภาคเอกชน และกระจายเงินลงทุนภาครัฐ เป็นต้น