3 แบงก์รัฐเด้งขานรับนโยบายกระทรวงการคลัง ออกมาตรการด่วนช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว ทั้งพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย สูงสุด 12 เดือน เติมทุนฉุกเฉิน ซ่อมแซมฟื้นฟูกิจการ-ต่อเติมบ้าน
นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า จากการเกิดเหตุแผ่นดินไหวในช่วงบ่ายของวันที่ 28 มีนาคม 2568 ธนาคารห่วงใยลูกค้าและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างยิ่ง จึงออกมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถกลับมาเดินหน้าธุรกิจได้ในเร็ววัน ได้แก่
มาตรการ “พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย” สำหรับลูกค้าธนาคารที่ได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อม ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติตามที่ราชการกำหนด เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ด้วยการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย สำหรับกลุ่มเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลา (Term loan) สูงสุดไม่เกิน 12 เดือน สัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) และสินเชื่อแฟคตอริ่ง ขยายระยะเวลาชำระตั๋วสัญญาใช้เงินออกไปอีกสูงสุด 180 วัน และสามารถพักชำระดอกเบี้ยได้
มาตรการ “เติมทุนฉุกเฉิน เพื่อซ่อมแซมฟื้นฟูกิจการ” สำหรับลูกค้าเดิมได้รับผลกระทบทางตรง ที่มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ภัยพิบัติตามที่ราชการกำหนด เพื่อให้มีวงเงินกู้ฉุกเฉิน นำไปฟื้นฟูธุรกิจเฉพาะหน้า วงเงินกู้ 10% ของวงเงินเดิม ขั้นต่ำ 30,000 บาท สูงสุด 200,000 บาท (บุคคลธรรมดา สูงสุด 100,000 บาท และนิติบุคคล สูงสุด 200,000 บาท) อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี ระยะเวลากู้ 3 ปี ปลอดชำระเงินต้น 12 เดือน ไม่ต้องมีหลักประกัน ยกเว้นค่าธรรมเนียม ลดกระบวนการนำส่งเอกสารในการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางตรงเป็นการเร่งด่วน
มาตรการช่วยเหลือครั้งนี้เป็นทางเลือกโดยสมัครใจ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการรับบริการ แจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น สาขาของ SME D Bank ทุกแห่งทั่วประเทศ , LINE Official Account : SME Development Bank และเว็บไซต์ www.smebank.co.th เป็นต้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Call Center 1357
นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส. พร้อมดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลและพร้อมให้ความช่วยเหลือลูกค้าและประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวอย่างเต็มที่ ผ่าน “โครงการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือที่อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัย”จำนวน 2 มาตรการ และ “มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปี 2568” จำนวน 5 มาตรการ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
โครงการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือที่อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัย จำนวน 2 มาตรการ ประกอบด้วย
1.สำหรับลูกค้าปัจจุบัน : ลดเงินงวดและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยพักชำระหนี้นาน 3 เดือน พร้อมลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เหลือ 0% ต่อปี 3 เดือนแรก และเดือนที่ 4 – 12 คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 2.00% ต่อปี พร้อมลดเงินงวดลง 50%ของเงินงวดที่ชำระในปัจจุบัน โดยเมื่อครบระยะเวลาให้ความช่วยเหลือ ลูกค้าสามารถกลับไปใช้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เดิมต่อไป
2.ลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่ : กู้เพิ่มเพื่อซ่อมแซม หรือปลูกสร้างทดแทนหลังเดิม วงเงินกู้สูงสุดต่อราย
ต่อหลักประกันไม่เกิน 2 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเดือนที่ 1 – 3 เท่ากับ 0% ต่อปี พร้อมปลอดชำระเงินงวด, อัตราดอกเบี้ยเดือนที่ 4 – 24 เท่ากับ 2.00% ต่อปี, อัตราดอกเบี้ยปีที่ 3 เท่ากับ MRR-3.30% ต่อปี (3.24% ต่อปี), ปีที่ 4 เท่ากับ MRR-2.40% ต่อปี (4.14% ต่อปี) และปีที่ 5 จนถึงตลอดอายุสัญญา
กรณีลูกค้ารายย่อย เท่ากับ MRR-0.50% ต่อปี, ลูกค้าสวัสดิการ เท่ากับ MRR-1.00% ต่อปี และกู้เพื่อซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ในการอยู่อาศัย เท่ากับ MRR (อัตราดอกเบี้ย MRR ของ ธอส. ปัจจุบัน เท่ากับ 6.545% ต่อปี) ระยะเวลาการกู้ 40 ปี กู้ 1 ล้านบาท ผ่อนชำระเริ่มต้นเพียง 3,100 บาท เท่านั้น พิเศษ!ฟรีค่าธรรมเนียมประเมินราคาหลักประกัน (1,900 – 2,800 บาท) และค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการจำนองไม่เกิน 1% ของวงเงินจำนอง เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนอีกด้วย
มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปี 2568 จำนวน 5 มาตรการ ประกอบด้วย
มาตรการที่ 1 : สำหรับลูกค้าสถานะ NPL ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย ให้ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 6 เดือนโดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือนแรก และไม่ต้องชำระเงินงวด จากนั้นเดือนที่ 7-18 อัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้
มาตรการที่ 2 : สำหรับลูกค้าสถานะ NPL ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือนแรก และผ่อนชำระเงินงวดเพียง 1,000 บาท (ตัดเงินต้นทั้งหมด) จากนั้น เดือนที่ 7-12 อัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน บวกอีก 100 บาท และเมื่อผ่อนชำระครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกค้ากลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้
มาตรการที่ 3 : สำหรับลูกค้าสถานะบัญชีปกติและสถานะ NPL ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระ โดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือ (พิจารณาเป็นรายกรณี)
มาตรการที่ 4 : สำหรับลูกค้าสถานะบัญชีปกติและสถานะ NPL หากที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลัง และไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น (พิจารณาเป็นรายกรณี)
มาตรการที่ 5 : พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัย ซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติกับบริษัทประกันภัยที่ธนาคารจัดให้ พิจารณาจ่ายค่าสินไหมให้กับลูกค้าที่ประสบภัยทุกราย อย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษโดยผู้เอาประกันสามารถแจ้งความเสียหายโดยใช้ภาพถ่าย จ่ายตามความเสียหายจริงไม่เกิน 20,000 บาท และสำหรับลูกค้าที่มีกรมธรรม์เริ่มความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เพิ่มความคุ้มครองภัยธรรมชาติตามความเสียหายจริงอีกไม่เกิน30,000 บาท ต่อปี (รายละเอียดและเงื่อนไขเป็นไปตามกรมธรรม์)
นอกจากนี้ ลูกค้าปัจจุบันของ ธอส. ยังสามารถเข้าร่วมมาตรการสินเชื่อซ่อม – แต่ง : สำหรับลูกค้าปัจจุบันของ ธอส. ที่ต้องการกู้เพิ่มเพื่อต่อเติม ซ่อมแซม หรือซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ในการอยู่อาศัย มีการทำนิติกรรมสัญญาและผ่อนชำระเงินกู้กับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี วงเงินกู้เดิมภายใต้หลักประกันสูงสุด ไม่เกิน 5 ล้านบาท ประวัติการผ่อนชำระสม่ำเสมอทุกเดือนไม่น้อยกว่า 1 ปี วงเงินให้กู้สูงสุดต่อรายต่อหลักประกัน ไม่เกิน 100,000 บาท ระยะเวลาการกู้สูงสุดนาน 3 ปีอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปีเพียง 1.00% ต่อปี กรณีกู้ 1 แสนบาท ผ่อนชำระเงินงวดเพียง 2,900 บาท เท่านั้น พิเศษ! ฟรีค่าประเมินราคาหลักประกัน 1,900 บาท โดยไม่ต้องจดทะเบียนการจำนองเพิ่มที่สำนักงานที่ดิน
สำหรับลูกค้าที่ประสงค์ขอรับบริการ “โครงการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือที่อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัย” สามารถติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ได้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568 และลูกค้าที่ประสงค์ขอรับบริการ “มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติปี 2568 ” ในมาตรการที่ 1-4 สามารถติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ได้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568 และมาตรการที่ 5 ติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป รวมถึงผู้ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการสินเชื่อซ่อม – แต่ง สามารถยื่นคำขอกู้ได้ที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า EXIM BANK ได้ออกมาตรการด่วน ช่วยเหลือ เยียวยา และแบ่งเบาภาระของลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา โดยสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงการคลัง ด้วยการขยายระยะเวลาชำระหนี้ พร้อมทั้งเพิ่มวงเงินชั่วคราวเพื่อบรรเทาความเสียหาย ช่วยให้ลูกค้า EXIM BANK สามารถดำเนินธุรกิจส่งออกหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกตลอดทั้ง Supply Chain ได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีทางเลือกให้แก่ลูกค้าเลือกใช้ตามความเหมาะสมและจำเป็น ดังนี้
มาตรการช่วยเหลือสำหรับวงเงินกู้ระยะสั้น
- ขยายระยะเวลาตั๋วสัญญาใช้เงิน สูงสุด 180 วัน
- เพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราว สูงสุด 20% ของวงเงินหมุนเวียนเดิม ทั้งนี้ ไม่เกิน 2 ล้านบาท โดยใช้อัตราดอกเบี้ยเดิม
- เปลี่ยนแปลงภาระหนี้ระยะสั้นเป็นภาระหนี้ระยะยาว ผ่อนชำระสูงสุด 3 ปี
มาตรการช่วยเหลือสำหรับวงเงินกู้ระยะยาว
- ขยายระยะเวลาวงเงินกู้ สูงสุด 7 ปี
- ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ปีแรกลง 0.5% หรือจ่ายดอกเบี้ยเพียง 50% ในช่วง 6 เดือนแรก
- พักชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 1 ปี
- Top up วงเงินสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ย Prime Rate (สำหรับลูกค้าทั่วไปและลูกค้า SMEs) ของ EXIM BANK ในปัจจุบันเท่ากับ 6.25% ต่อปี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ EXIM Contact Center โทร. 0 2169 9999 หรือ Inbox Facebook “EXIM Bank of Thailand”