“สภาฯ” มีมติเอกฉันท์รับหลักการ “ร่างกม.กอช.” เปิดทางหวยเกษียณ สส.สนับสนุนชี้เป็นการกระตุ้นให้คนออมไว้ยามเกษียณ เปิดรับอายุ 15 ปีเก็บดอกผลถึงอายุ 60 ปี ด้าน “รมช.คลัง” เผยขรพ.-พนง.ออฟฟิศ-สูงวัยซื้อได้เงินไม่หาย กลายเป็นเงินออม
วันที่ 2 เม.ย.2568 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาฯ ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานคนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในการประชุม ทั้งนี้ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ… (พ.ร.บ.กอช.) ซึ่งแก้ไข พ.ร.บ.กอช. ปี 2554 เพื่อเปิดทางให้ กอช. ออกและจำหน่ายสลาก กอช. หรือ หวยเกษียณ ทั้งนี้ได้สส.ส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุนการแก้ไขกฎหมาย กอช.ดังกล่าว เนื่องจากมองว่าจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการออม เพื่อไว้ใช้ยามเกษียณได้ รวมทั้งมีข้อเสนอแนะไปยังกรรมาธิการวิสามัญที่น่าสนใจ อาทิ การทบทวนให้การดำเนินการหวยเกษียณนั้นมีความยืดยุ่น
โดยเฉพาะการนำเงินออมจากหวยเกษียณออกมาใช้จ่ายก่อนครบกำหนดการจ่ายคืนที่อายุ 60ปี เพื่อให้สอดคล้องกับปัจจัยการใช้ชีวิตของประชาชนที่มีสิทธิเข้าโครงการ เช่น ใช้การกู้เงินของตนเองออกมาใช้จ่ายตามความจำเป็นต่อการรักษาพยาบาลตนเอง หรือใช้จ่ายในชีวิตเพื่อความมั่นคง เพราะการกำหนดคุณสมบัติผู้ที่สามารถเข้าโครงการหวยเกษียณที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กว่าจะครบกำหนดการได้เงินต้นและดอกผลคืน ที่อายุ 60 ปี เป็นช่วงเวลาที่ยาวนาน นอกจากนั้นแล้วควรพิจารณาเรื่องผลตอบแทน หรือ เพิ่มเงินรางวัล หรือจำนวนรางวัลต่อรอบ ที่ต้องไม่น้อยกว่าสลากกินแบ่งรัฐบาล รวมถึงพิจารณาต่อการนำไปลดหย่อนภาษีได้ เป็นต้น
นอกจากนั้นยังมีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงกฎหมายเพื่อกำหนดการการันตีของผลตอบแทนขั้นต่ำในเงินที่ลงทุน เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของสถาบันการเงิน เพื่อสร้างแรงจูงใจการออมเพิ่มเติม การกำหนดให้มีผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนเพื่อกำกับการนำเงินออมหวยเกษียณไปใช้ลงทุนในกองทุน ซึ่งทุกกองทุนมักมีความเสี่ยง หากไม่มีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา การนำเงินของประชาชนไปลงทุนแม้จะเป็นกองทุนที่ความเสี่ยงต่ำ แต่อาจทำให้เกิดผลกระทบกับเงินของประชาชนได้ เนื่องจากว่ามีการคำนวณเงินที่จะได้จากการซื้อหวยเกษียณ ปีละ 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก นอกจากนั้นยังแสดงความกังวลของการนำเงินไปใช้ที่ไม่โปร่งใส ไม่คุ้มค่า โดยเปรียบกับการใช้เงินกองทุนประกันสังคมไปซื้อตึกมูลค่าสูง
รวมทั้งมีการตั้งข้อสังเกตไปยังรัฐบาลด้วยว่า ให้จัดหลักสูตรการเงิน และการออมให้กับคนไทย ตั้งแต่ระดับประถมวัย รวมถึงการดำเนินการหวยเกษียณต้องควบคู่กับการให้ความรู้เรื่องการทำบัญชีรายรับรายจ่ายครัวเรือเพื่อลดการเป็นหนี้และทำให้รู้จักการออมเพื่อความมั่นคงในวัยเกษียณ นอกจากนั้นแล้วต้องคำนึงถึงการป้องกันไม่ให้เกิดการมอมเมาประชาชนจากการพนันด้วย
เมื่อสส.อภิปรายแล้วเสร็จ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ชี้แจงว่า การกำหนดระยะเวลาการถือครอง การกำหนดหลักเกณฑ์ลดหย่อนภาษี จะนำไปพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ เพื่อให้พ.ร.บ.กอช.มีประโยชน์กับประชาชนมาที่สุด ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล เพื่อสร้างนวัตกรรมทางการเงิน เพื่อให้ประชาชนมีกิน มีใช้ มีเกียรติมีศักดิ์ศรีตามนโยบายของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ส่วนประเด็นคำถามถึงผลตอบแทนเมื่อมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นนว่า ในหลักการจะมีการพิมพ์สลาก 5 ล้านฉบับ จะมีเงินรางวัลสัปดาห์ละ 15 ล้านบาท เมื่อรวม 4 สัปดาห์เท่ากับ 60 ล้านบาท รางวัลหนึ่งปี เท่ากับ 760 ล้านบาท โดยประมาณ ซึ่งคำนวณเป็นค่าตอบแทน 6-7% ต่อการระดมเงินออม แต่หากมีความต้องการซื้อเกิน 5 ล้าน จะมีการพิมพ์สลากเพิ่มขึ้น และเพิ่มเงินรางวัล เช่น มีการออก 10 ล้านฉบับ เงินรางวัลจะเท่ากับ 1,500 ล้านบาทเพื่อรักษาผลตอบแทนที่ 6%-7%
รมช.คลัง กล่าวว่า กอช. ออกสลากขูดแบบดิจิทัล ใบละ 50 บาท เพื่อขายให้กับประชาชนทุกคนที่มีสัญชาติไทย และมีอายุ 15 ปี ขึ้นไป และซื้อได้ไม่เกิน 3,000 บาท ต่อเดือน สามารถซื้อสลากได้ทุกวัน แต่ออกรางวัลทุกวันศุกร์เวลา 17.00 น. ผู้ถูกรางวัลจะได้เงินรางวัลทันทีผ่านพร้อมเพย์ โดยที่เงินค่าซื้อสลากทั้งหมดถูกเก็บเป็นเงินออม แม้ว่าจะถูกรางวัลหรือไม่ก็ตาม โดยรางวัลของ“ทุกวันศุกร์” กำหนดดังนี้ รางวัลที่ 1 จำนวน 1,000,000 บาท จำนวน 5 รางวัล รางวัลที่ 2 จำนวน 1,000 บาท จำนวน 10,000 รางวัล รางวัลพิเศษ (แจ็คพอต) 1 รางวัล (ถ้ามี) หากในงวดใดที่รางวัลออกไม่หมด รางวัลที่ออกไม่หมดนั้นจะถูกทบยอดเป็นรางวัลพิเศษ (แจ็คพอต) ในงวดถัดไปทั้งหมดทันที ส่วนเงินค่าซื้อสลากทั้งหมดจะเป็นเงินออมของผู้ซื้อสลาก ซึ่งจะนำเงินส่งเข้าบัญชีเงินออมรายบุคคลกับ กอช. และเมื่อผู้ออมอายุครบ 60 ปี จะคืนเงินทั้งหมดทุกบาท ทุกสตางค์ที่ซื้อสลากมาทั้งชีวิตบวกกับผลตอบแทนการลงทุนให้กับผู้ออม ขยายสิทธิ์การซื้อ สลาก กอช.ให้แก่ประชาชนที่มีอายุเกิน 60 ปี ด้วย แต่ต้องออมไว้ 5 ปี หลังจากวันที่ซื้อครั้งแรก และสามารถซื้อได้ไม่จำกัดรอบ แต่ทุกรอบต้องออมไว้ 5 ปี
จากนั้นที่ประชุมสภาฯได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ 401 เสียงรับหลักการร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ตั้งกมธ.วิสามัญขึ้น 31 คน พิจารณาแปรญัตติ 15 วัน