วันศุกร์, เมษายน 18, 2025
หน้าแรกHighlight‘เงินบาท’เปิดเช้าวันนี้‘อ่อนค่าลงเล็กน้อย’ ตลาดจับตาผลเจรจาการค้า‘สหรัฐฯ-คู่ค้า’
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘เงินบาท’เปิดเช้าวันนี้‘อ่อนค่าลงเล็กน้อย’ ตลาดจับตาผลเจรจาการค้า‘สหรัฐฯ-คู่ค้า’

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.91 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” สหรัฐฯเตรียมขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจีนอีก 50% ตลาดจับตาผลเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า ว่าจะสามารถช่วยลดอัตราภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ ประกาศล่าสุด

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.91 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 34.82 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยอ่อนค่าลงบ้าง (แกว่งตัวในกรอบ 34.67-34.94 บาทต่อดอลลาร์) โดยค่าเงินบาทเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่ล่าสุด ทางการสหรัฐฯ ได้เตรียมขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจีนอีก 50% ซึ่งจะทำให้อัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีนจะสูงถึง 104%

ซึ่งภาพดังกล่าวได้กดดันให้เงินหยวนจีน Offshore (CNH) อ่อนค่าลงต่อเนื่องชัดเจน สร้างแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาท (ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินหยวนจีน Offshore CNH ราว 71%) นอกจากนี้ เงินบาทยังถูกกดดันเพิ่มเติมจากการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของราคาทองคำ

อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้าง หลังเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงบ้าง ตามการปรับเพิ่มโอกาสเฟดเดินหน้าลดดอกเบี้ย 4-5 ครั้งในปีนี้ ของผู้เล่นในตลาด ท่ามกลางความกังวลผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินยังได้ช่วยหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทยอยแข็งค่าขึ้น ตามความต้องการถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven)

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง หลังทางการสหรัฐฯยังคงยืนกรานเดินหน้านโยบายกีดกันทางการค้าล่าสุด (Reciprocal Tariffs) ที่ได้ประกาศก่อนหน้า นอกจากนี้ ทางการสหรัฐฯยังได้ขู่ขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจีนอีก 50% เพื่อตอบโต้ที่ทางการจีนจะเรียกเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าสหรัฐฯ 34% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ดิ่งลง -1.57%

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้นกว่า +2.72% หลังผู้เล่นในตลาดต่างมีความหวังว่า ทางการสหรัฐฯ อาจเปิดทางให้บรรดาประเทศต่างๆ เข้าเจรจาการค้าเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากนโยบายกีดกันทางการค้าล่าสุด ทว่า ภายหลังทางการสหรัฐฯยังคงยืนกรานเดินหน้าดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าที่ประกาศไว้ ส่งผลให้ สัญญาฟิวเจอร์สตลาดหุ้นยุโรปล่าสุด อาทิ สัญญาฟิวเจอร์สดัชนี DAX เยอรมนี ปรับตัวลดลงกว่า -1.3%

ในส่วนตลาดบอนด์นั้นพบว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯทยอยปรับตัวสูงขึ้น สู่ระดับ 4.34% หลังในช่วงแรกผู้เล่นในตลาดต่างมีความหวังว่า ทางการสหรัฐฯ กับหลายประเทศอาจเดินหน้าการเจรจาการค้า เพื่อลดทอนผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าล่าสุดของรัฐบาลสหรัฐฯ นอกจากนี้ บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯยังถูกกดดันจากความกังวลว่า ผู้เล่นในตลาดอาจมีความสนใจเข้าประมูลบอนด์ 10 ปีลดลง หลังผลประมูลบอนด์ 3 ปี ล่าสุดสะท้อนถึงความต้องการซื้อบอนด์ที่ลดลงจากครั้งก่อนพอสมควร

อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯก็ถูกชะลอลงบ้าง ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ และมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ย 4-5 ครั้งในปีนี้ จากผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0

ทางด้านตลาดค่าเงินนั้นพบว่า เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า เฟดอาจต้องเดินหน้าลดดอกเบี้ย 4-5 ครั้ง ในปีนี้ เพื่อรับมือผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังผู้เล่นในตลาดต่างต้องการถือเงินเยนญี่ปุ่นเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ในช่วงตลาดปิดรับความเสี่ยงและเผชิญความผันผวนสูง ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์ปรับตัวลดลงสู่โซน 102.6 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 102.6-103.4 จุด)

ส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง อีกทั้งเงินดอลลาร์ก็อ่อนค่าลง ทว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และการเลือกถือเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย แทนทองคำ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย. 2025) ทยอยปรับตัวลดลง สู่โซน 3,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด และรายงานการประชุม FOMC ล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) นอกจากนี้ ผลการประมูลบอนด์ 10 ปีสหรัฐฯก็จะเป็นอีกปัจจัยที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม

ส่วนในฝั่งเอเชีย บรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ความกังวลผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลง อาจส่งผลให้ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) และธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ตัดสินใจลดดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 3.50% และ 6.00% ตามลำดับ

ทั้งนี้ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า ว่าจะสามารถช่วยลดอัตราภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯประกาศล่าสุดได้บ้างหรือไม่

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท มีแนวโน้มทยอยอ่อนค่าลงได้ จนกว่าตลาดจะคลายกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ โดยเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก หลังบรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง กดดันให้บรรดานักลงทุนต่างชาติอาจเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทยเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ และเงินหยวนจีน ซึ่งเป็นสองสินทรัพย์ที่เคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินบาทเกิน 70% (30-day Correlation) โดยหากราคาทองคำทยอยรีบาวด์สูงขึ้นได้บ้าง ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท ส่วนในฝั่งเงินหยวนนั้น ต้องจับตาท่าทีของทางการจีน ว่าจะรับมือกับความเสี่ยงที่สหรัฐฯเตรียมจะขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจีนเป็น 104% (20%+34%+50%) อย่างไร นอกจากนี้ เรามองว่าบรรดาผู้เล่นในตลาด อย่างฝั่งผู้ส่งออกอาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจช่วยจำกัดการอ่อนค่าของเงินบาทได้ในระยะสั้น

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือสกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.70-35.00 บาทต่อดอลลาร์

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img