“สภาฯ” ถก 10 ญัตติด่วนภาษีนำเข้าสหรัฐฯ แทนพิจารณาร่างกม.เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ด้าน “อรรถกร” ห่วงกระทบสินค้าเกษตรฯ “นพดล” ยก 4 ประเด็นแนะรัฐบาลเจรจา ด้าน “ศิริกัญญา” ซัดส่งอุยกูร์กลับจีนเปลี่ยนมิตรเป็นอื่น สนับหนุนรบ.กู้เงินเพิ่มสู้วิกฤติศก.
วันที่ 9 เม.ย.2568 เวลา 11.00 น.ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาฯ ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาฯ คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนแล้ว นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา พรรคกล้าธรรม ได้เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา ขอให้สภาฯศึกษาผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย มาพิจารณาแทนร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร มีสส.อีกหลายคนร่วมเสนอญัตติด่วนในทำนองเดียวกัน รวม 10 ญัตติ ร่วมพิจารณาด้วย ที่ประชุมไม่คัดค้านให้นำมาพิจารณาก่อน
โดยนายอรรถกร กล่าวเสนอญัตติว่า น.ส.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นห่วงการเจรจาของรัฐบาลไทยกับสหรัฐฯจะกระทบต่อเกษตรกร ที่ผ่านมารัฐบาลมักเอาสินค้าเกษตรเป็นเงื่อนไขเจรจา การให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศคู่ค้าอาจส่งผลต่อเกษตรกร ขอให้รัฐบาลคำนึงถึงผลกระทบต่อเกษตรกร คิดถึงหัวอกเกษตรกร เจรจาด้วยความรอบคอบ คำนึงถึงรากเหง้าของประเทศให้เสียดุลมิติทางการเกษตรน้อยที่สุด รวมถึงข้อเรียกร้องการอนุญาตให้นำเข้าสินค้าการเกษตรบางชนิดเข้าประเทศไทย อาจกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรไทยตกต่ำมากกว่าเดิม เราไม่ได้ค้าขายกับสหรัฐฯประเทศเดียว
“ผมมี 4 ข้อเสนอคือ 1.อยากเห็นการเจรจาอย่างรัดกุมให้กระทบต่อเกษตรกรน้อยที่สุด 2.ให้รัฐบาลหาทางลดความเสี่ยง โดยหาประเทศคู่ค้าเพิ่ม ไม่ใช่สหรัฐฯอย่างเดียว 3.มีมาตรการรองรับสินค้าที่จะไหลทะลักจากยุโรปมายังเอเชีย 4.มีมาตรการเยียวยาเกษตรกรที่จะได้รับผลกระทบจากการเจรจาให้ดีที่สุด”นายอรรถกร กล่าว
จากนั้น นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เสนอญัตติด่วนด้วยวาจาของตัวเองว่า โดยกล่าวตอนหนึ่งถึงมิติการเมืองระหว่างประเทศ เรามีพื้นฐานการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศคือ 1.ประโยชน์ของชาติต้องมาก่อน เป็นกฎทองที่จะต้องดำเนินนโยบายต่างประเทศ 2.ประเทศไทยเราเป็นประเทศขนาดกลาง เราจึงจำเป็นต้องมีหลังพิง โดยการใช้กฎหมายระหว่างประเทศและกฎเกณฑ์กติการะหว่างประเทศ ที่ยึดกฎหมายเป็นหลัก ต้องยึดพหุภาคีนิยมมากกว่าการตัดสินใจแต่เพียงลำพัง 3.ความสัมพันธ์ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจทั้งคู่ เราเลือกที่รักมักที่ชังไม่ได้ เราอยากจะรักทั้งสองคน เราต้องดำเนินนโยบายที่มีความสมดุลกับความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศ ไม่มีใครมาบังคับประเทศไทยให้ต้องเลือกข้าง เราต้องดำเนินนโยบายแบบนี้ต่อไป ตนคิดว่า อ่อนนอกแข็งใน คือนโยบายการต่างประเทศของไทย 4.ประเทศไทยจำเป็นต้องเป็นผู้นำ ในการส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งในโลกอย่างแข็งขัน เปลี่ยนเราไม่เลือกข้าง แต่เราเป็นคนส่งเสริมตามบทบาทที่เราพึงเป็น
นายนพดล กล่าวว่า ตนชื่นชมนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างทันการและรอบคอบ ส่วนข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลเชื่องช้า สับสน ไม่รู้ใครจะเป็นคนไปเจรจา ตนยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ล่าช้าในเรื่องนี้ เพราะรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกาขึ้นมาแล้ว โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน และข้าราชการ ผู้เชี่ยวชาญ เข้าร่วม และจากแนวทางที่รัฐบาล ระบุว่า จะใช้แนวทางที่รวดเร็ว และแม่นยำ ตนขอเสนอว่า ควรใช้นโยบายไม่ชักช้า รวดเร็ว และรอบคอบ เพราะควรดำเนินการเรื่องนี้อย่างเป็นเหตุเป็นผล มีชั้นเชิง ดำเนินการตามจังหวะจะโคน
“การเจรจาทั่วไป เราต้องรู้เขาและรู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง ถ้าเรารู้เรา แล้วปล่อยให้เขามารู้ของเราด้วย หรือแบไต๋ รบร้อยครั้งก็แพ้ร้อยครั้ง หลายเรื่องซึ่งเป็นไพ่ในมือของรัฐบาล ไม่สามารถแถลงข่าวรายวัน หรือเสนอในโซเชียลมีเดียได้ และบางครั้งอาจทำให้ฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเห็นว่า รัฐบาลไม่มีแนวทาง หรือไม่มีการดำเนินการใดๆ ซึ่งผมไม่เห็นด้วย ในฐานะที่เคยเป็นรัฐมนตรีและเคยเจรจาระหว่างประเทศมาแล้ว หลายเรื่องเราไม่สามารถเปิดเผยก่อนได้ จึงอยากขอความเป็นธรรมกับรัฐบาลว่า เราไม่ได้ต้องการปกปิดใดๆขอย้ำว่าการเจรจาไม่สามารถสำเร็จได้ในวันเดียว เพราะต้องมีการเจรจาในหลายระดับ และต้องใช้เวลา ผมมองว่า การเจรจาต้องวินวินทั้งสองฝ่าย หรืออย่างน้อยต้องไม่เสียหรือไม่ได้ทั้งหมด และต้องยึดประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก
ด้านน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายว่า การขึ้นกำแพงภาษีสหรัฐสร้างผลกระทบหนักหนารุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกรุนแรงกว่าทุกครั้ง เกิดการตัดราคาสินค้า การหาตลาดใหม่ๆ ทำให้สินค้าต่างๆไหลเข้าประเทศไทย สินค้าไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ 3อันดับแรกคือ อุปกรณ์สื่อสารไวไฟ ฮาร์ดดิสด์ไดร์ฟ แผงโซลาร์เซลล์ ไม่ใช่แค่ผู้ส่งออกได้รับผลกระทบ แต่รวมถึงแรงงานที่เสี่ยงถูกเลิกจ้าง ไม่มีใครคาดการณ์ได้สงครามการค้าโลกจะสิ้นสุดลงเมื่อใด เพราะสหรัฐฯบอกมี 70ประเทศต่อคิวเข้าเจรจาลดกำแพงภาษี ยิ่งมีการตอบโต้มาตรการภาษีไปมาระหว่างสหรัฐฯกับจีน ย่อมส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทย แต่ไพ่ที่เราจะไปเจรจาไม่ได้มีอะไรอัศจรรย์ ใหญ่เบิ้มอย่างที่สหรัฐฯต้องการ แต้มต่อที่เคยมีหายไปทุกวัน ปฏิเสธไม่ได้การส่งชาวอุยกูร์กลับจีน ทำให้มิตรกลายเป็นอื่น ยิ่งมีการแจ้งจับนักวิชาการสหรัฐฯ ข้อหามาตรา112 ไม่ให้ประกันตัว ไม่รู้เขาจะเจรจากับเราหลังมีเรื่องนี้หรือไม่
น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ไม่ได้ติดใจการไม่เร่งรีบเจรจาของรัฐบาลไทยกับสหรัฐ โดยขอรอดูท่าทีก่อน แต่เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเร่งทำควบคู่กับการเจรจาคือ การเยียวยา กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ยิ่งการเจรจากินเวลาต่อเนื่อง ยิ่งกระทบปากท้องประชาชนมากขึ้น จากการคาดการณ์จีดีพีกรณีเลวร้ายที่สุด อาจโตแค่1% สูงสุดไม่เกิน 2.3% รัฐบาลเตรียมมาตรการฉุกเฉินอะไรบ้าง หลายประเทศออกมาตรการเยียวยาผลกระทบ อาทิ เกาหลีและญี่ปุ่นใต้มีแพคเกจเยียวยาภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ ออสเตรเลียให้สินเชื่อเอกชนในการหาตลาดใหม่ๆ การเยียวยาเฉพาะหน้ามีความจำเป็น รัฐบาลต้องรีบทำ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ยังไม่เห็นมาตรการรูปธรรมจากภาครัฐ วันนี้ปัญหาเฉพาะหน้าใหญ่หลวง การลงทุนหยุชะงัก คนกำลังตกงาน ต้องมีมาตรการฉุกเฉินเฉพาะหน้า ระยะกลาง ระยะยาว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไปในเวลาเดียวกัน ขณะนี้งบประมาณการคลังที่เหลืออยู่มีน้อยมาก หนี้สาธารณะใกล้ชนเพดาน เหลือพื้นที่กู้เพิ่มได้อีกในงบประมาณปี 2568 อีก 4-5 แสนล้านบาท
“หากวิกฤติที่จะเผชิญในวันข้างหน้า ที่รัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ถ้าต้องขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะ เพื่อกู้เงินเพิ่ม สภาฯยินดีสนับสนุน ถ้าไม่ได้กู้เพื่อไปแจกเงินอย่างสะเปะสะปะ ถ้ามีแผนชัดเจนเพื่อพยุงเศรษฐกิจ ฟื้นฟูประเทศ ให้กู้เลยเพื่อนำงบมาเยียวยาภาคอุตสาหกรรม แรงงาน ไปปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ให้กู้เลย เพื่อเพิ่มความสามารถแข่งขัน กระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน ขออย่างเดียวอย่ากู้ไปแจก เพื่อเทน้ำลงบ่อทราย ตีเช็กเปล่าให้ตัวเอง หรือกู้โดยไม่มีแผนที่ชัดเจน วันนี้วิกฤติใหญ่หลวง ทั้งลึกและกว้าง กินเวลายาวนาน ต้องจับมือไปก้าวข้ามไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ใช้โอกาสนี้ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ”น.ส.ศิริกัญญา กล่าว