สศช.เผยขึ้นภาษี “ทรัมป์” กระทบแผนจัดทำงบประมาณปี 69 ชี้การชะลอตัวเศรษฐกิจโลกอาจทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้น แนะ 3 แนวทางรับมือไม่ให้เศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า รัฐบาลคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโต 2.3-3.3% ตามการประเมินของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งยังไม่รวมผลกระทบจากภาษีของสหรัฐ หากไทยถูกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเพิ่ม 36% แม้จะเลื่อนการบังคับใช้ไป 90 วัน
ซึ่ง สศช.ได้ส่งความเห็นต่อครม. ว่าอาจกระทบแผนจัดทำงบประมาณรัฐ เพราะการจัดทำงบประมาณปี 69 อยู่บนสมมุติฐานเศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.3-3.3% ขยายตัวของเศรษฐกิจต่อเนื่องจาก 2.5% ที่ขยายตัวในปี 2567 แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจมีปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก และมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ
ในขณะที่แรงกดดันด้านการคลังอยู่เกณฑ์สูง และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอาจทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นเร็วกว่าประมาณการในแผนการคลังระยะปานกลาง ซึ่งกำหนดอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ไม่เกิน 70% ของจีดีพี และหากจีดีพีในปีนี้ขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ต้องปรับแผนการคลังระยะปานกลาง
ส่วนแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลช่วงที่เหลือของปีนี้ต้องปรับให้สอดคล้องสถานการณ์ ซึ่งเดิมเตรียมแผนกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกเงิน 10,000 บาทต่อเนื่องจากเฟสที่ 3 ที่จะแจกให้เยาวชน 16-20 ปี จำนวน 2.7 ล้านคน วงเงิน 2.7 หมื่นล้านบาท ต้องทบทวนใหม่ โดยวงเงินที่เหลือในส่วนของงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.3-1.5 แสนล้านบาท
โดยเห็นว่าเมื่อเศรษฐกิจมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่กระทบการส่งออกมาก รัฐบาลจึงต้องทบทวนแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้ภาครัฐมีบทบาทใช้จ่ายมากขึ้นช่วงเศรษฐกิจโลกและการส่งออกชะลอตัว เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค แบ่งเป็น 3 แผน ประกอบด้วย
1.กระตุ้นเศรษฐกิจ เน้นลงทุนโครงการขนาดเล็กที่กระจายลงทุนทั่วประเทศ เพื่อให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจช่วงที่การส่งออกได้รับผลกระทบ โดยนอกจากเม็ดเงิน 1.3-1.5 แสนล้านบาท ที่อยู่ในงบกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2568 ยังมีงบลงทุนของปีงบประมาณ 2569 ที่ต้องเพิ่มสัดส่วนโครงการการลงทุนภาครัฐ
ทั้งนี้ อาจลดสัดส่วนงบกลางลง ซึ่งแนวทางการกระตุ้นการลงทุนลักษณะนี้เป็นแนวทางที่รัฐบาลหลายประเทศใช้เพื่อรับมือวิกฤติเศรษฐกิจ และไทยเคยใช้ช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์และวิกฤติโควิด ซึ่งภาครัฐต้องมีบทบาทช่วงที่เครื่องยนต์การส่งออกถูกกระทบ
2.ผลักดันเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 3-4 ของปี ผ่านกลไกงบประมาณ โดยสำนักงบประมาณรายงานรัฐบาลว่ามีโครงการอยู่ระหว่างผูกพันงบประมาณและทยอยจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งรัฐบาลวางแผนให้เม็ดเงินลงระบบเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง โดยเป็นช่วงที่ผลกระทบจากนโยบายภาษีของทรัมป์จะมีผลชัดเจน ซึ่งคาดว่ามีเม็ดเงิน 1.5-1.6 แสนล้านบาท เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจ
3.กรณีผลกระทบจากภาษีทรัมป์มีผลต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวมาก และกระทบระยะยาวจำเป็นที่ภาครัฐจะกระตุ้นการลงทุนในประเทศเพิ่ม
ทั้งนี้ ใช้รูปแบบการกระตุ้นการลงทุนผ่านโครงการขนาดใหญ่เพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจช่วงที่เศรษฐกิจโลกซบเซา เช่น โครงการรถไฟทางคู่เฟส 2.8 แสนล้านบาท โครงการทางด่วนกระทู้-ป่าตอง วงเงินลงทุน 1.46 หมื่นล้าน โครงการรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยาย ช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 20.5 กิโลเมตร วงเงิน 15,176 ล้านบาท
นายพงศ์นคร โภชากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. กล่าวว่า การขึ้นภาษีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐทั่วโลกส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงจาก 3.2% เหลือ 2.8% และประเทศที่พึ่งการส่งออกอย่างไทยได้รับผลกระทบมาก ซึ่งปี 2568 อาจเห็นจีดีพีติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกันได้ ซึ่งถือเป็นเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) โดย สศค.จะแถลงตัวเลขภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 1 ในวันที่ 28 เม.ย.นี้