วันศุกร์, เมษายน 25, 2025
หน้าแรกHighlight“คลัง-พาณิชย์”ถกหามาตรการแก้ปัญหา สั้น-กลาง-ยาว“บ.นอมินี”สินค้าสวมสิทธิ์
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“คลัง-พาณิชย์”ถกหามาตรการแก้ปัญหา สั้น-กลาง-ยาว“บ.นอมินี”สินค้าสวมสิทธิ์

“รมว.คลัง-พาณิชย์” ถกหามาตรการแก้ปัญหา “สั้น-กลาง-ยาว” บริษัท “นอมินี” สินค้าสวมสิทธิ์ เน้นเชิงรุก บุกสอบถึงโรงงาน-มาตรฐานคุณภาพสินค้า สร้างความเชื่อมั่นให้สหรัฐฯ ภาพรวมเป็นที่พอใจ หลังจับกุมไปได้แล้วกว่า 852 บริษัท

วันที่ 25 เม.ย.68 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และน.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย แถลงผลการประชุมหารือเรื่องการแก้ไขปัญหาสินค้า และธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ดายนายพิชัย รมว.กระทรวงการคลัง กล่าวว่า การหารือวันนี้มีการกำหนดแผนระยะสั้น, กลาง และยาว โดยจะมีความเข้มงวดการตรวจสอบสินค้าที่เข้ามาสู่ประเทศไทยมากขึ้น โดยจะเน้นตรวจสอบเรื่องสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ซึ่งจะสังเกตได้ว่า สินค้าที่ไม่มีคุณภาพจะมีต้นทุนต่ำ และขายในราคาที่ถูก โดยจะมีมาตรการสำหรับสินค้าที่มาจากประเทศต้นทาง และได้รับการอุดหนุนการช่วยเหลือมาจากประเทศต้นทาง ทำให้ราคาสินค้าถูก และไม่ได้คุณภาพ ซึ่งในอดีตการเข้าไปตรวจใช้เวลาระยะเวลานาน โดยการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในช่วงระยะสั้น จะใช้วิธีการเมื่อรับสินค้าดังกล่าวเข้ามาจะเข้าไปตรวจสอบทันที หากสินค้าชนิดใดไม่สามารถอธิบายแหล่งที่มาต้นทุนได้ และไม่ได้มาตรฐานตามองค์การอาหารและยา หรือ อย.กำหนด หรือคุณภาพไม่ได้ ก็จะสามารถทำการยกเลิกได้ทันท่วงที

รมว.คลัง กล่าวต่อว่า นอกจากนี้จะมีการตรวจสอบสินค้าที่ขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งก็จะเข้าไปตรวจสอบว่า มีการดำเนินการตามข้อบังคับหรือไม่ เพราะสินค้าที่ขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ไม่มีฉลาก และไม่มีใบรับรองมาตรฐาน ซึ่งจะใช้วิธีการแจ้งไปยังเจ้าของแพลตฟอร์ม เพื่อให้ดึงสินค้าดังกล่าวออกจากการขาย ซึ่งหมายความว่า เจ้าของทุกแพลตฟอร์มไม่ว่า จะขายที่ไหนในโลกต้องมาจดทะเบียนอยู่ในประเทศไทย เพื่อให้เป็นคนกลางเชื่อมระหว่างผู้ซื้อ และผู้ขายในไทย ถือจะเป็นมาตรการในระยะสั้นที่จะเร่งทำ ขณะที่การตรวจสอบเรื่อง “นอมินี” โดยจะมีการเข้าไปตรวจสอบสัดส่วนการถือหุ้น ในสัดส่วนของ 49% และก็จะไปตรวจสอบว่า สัดส่วน 51% คือผู้ใดที่ถือว่า เข้าข่ายเป็น “นอมินี” หรือไม่ มีการใส่เม็ดเงินลงทุนจริงหรือไม่ โดยเรื่องนี้จะเป็นการทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย รวมไปถึงต้องมีการตรวจสอบ “นอมินี” เรื่องการถือครองที่ดินด้วย

นายพิชัย กล่าวว่า ส่วนแผนการแก้ไขปัญหาในระยะกลาง และระยะยาว จะต้องมีการไปทบทวนกฎหมายในหลายอย่าง เพื่อทำให้เป็นสากลมากขึ้น ให้มีการควบคุมและกำกับให้ดีขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่า ปัจจุบันนี้ยังมีสินค้า หรือการบริการบางประเภท ที่ไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติดำเนินการ ซึ่งมองว่า วันนี้ควรจะอนุญาตให้ดำเนินการได้แล้ว เพราะจะส่งผลดีกับประเทศไทย ซึ่งจะต้องมีการทบทวนเรื่องเหล่านี้ เพื่อให้ทั่วโลกเห็นว่า ประเทศไทยไม่ได้ปิด แต่ต้องทำให้เป็นสากลมากขึ้น

ขณะที่เรื่องของสินค้า “สวมสิทธิ์” โดยวิธีการเฝ้าระวัง คือ สินค้าที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจับตาดูอยู่ หรือ Watch list ซึ่งมีอยู่ประมาณ 49 ชนิด และยังมีการเพิ่มสินค้าที่ต้องจับตาอีก 16 ชนิด ที่ต้องการให้ใครช่วยเฝ้าระวัง โดยจะมีการเข้าไปตรวจสอบถึงโรงงาน, กระบวนการผลิต และแหล่งที่มาของสินค้า แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดต้องตรวจสอบ Certificate of Origin หรือ CO หรือใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า ที่จะให้กระทรวงพาณิชย์เข้าไปร่วมตรวจสอบเพราะใบรับรองดังกล่าวต้องออกโดยประเทศไทย หรือจะให้สภาหอการค้า และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าร่วมตรวจสอบด้วย ซึ่งเดิมทีสามารถออกใบดังกล่าวได้ในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แต่จะมีการปรับเปลี่ยนให้อยู่กับส่วนกลางที่เดียว เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า สินค้าเหล่านั้นเป็นไปตามกติกา และสามารถส่งต่อได้ เพื่อป้องกันปัญหาสินค้า “สวมสิทธิ์”

เมื่อถามว่าการพิจารณาสินค้าที่สวมสิทธิ์ จำเป็นที่จะต้องมีการตรวจสอบก่อนที่จะมีการไปเจรจากับสหรัฐฯ ใช่หรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า ขณะนี้ไทยเริ่มดำเนินการแล้ว และทางสหรัฐฯ ก็ได้เห็นขั้นตอนวิธีการทำ และมานั่งดูขั้นตอนการทำ ซึ่งหากพึงพอใจก็จะมีการตรวจสอบไปเรื่อย ๆ และในวันหลังก็อาจจะมีการเพิ่มรายการในการตรวจสอบ ดังนั้นจะต้องมีการค่อย ๆ ปรับ แต่ทั้งนี้ทางสหรัฐฯ พอใจในวิธีการสิ่งที่ได้ตรวจสอบเป็นไปตามมาตรฐาน หรือสิ่งที่เขาอยากเห็น และเรื่องนี้เป็นผลดี เพราะการทำเช่นนี้หลักสากล และยุติธรรมกับผู้ค้าทุกฝ่าย เพราะการที่สินค้าออกไป ได้มาตรฐานหรือไม่  และเป็นสินค้าไทยหรือไม่ เพราะในโลกใบนี้คู่ค้า แต่ละประเทศก็มีการพูดคุยกัน ดังนั้นเรื่องทั้งหมดเป็นหลักสากล ไม่ใช่แค่ประเทศไทย ซึ่งหากไม่มีเรื่องนี้ก็ต้องทำอยู่แล้ว

นายพิชัย กล่าวอีกว่า จากการทำงานร่วมกันระหว่าง  2 ประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกา ก็พบว่า ทางสหรัฐฯ ก็พอใจในระดับหนึ่ง และทางสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา หรือ USTR ได้ทำงานร่วมกับศุลกากรของสหรัฐอเมริกา เพื่อจะดูแลเรื่องนี้ และจะมีการตรวจสอบไปถึงเรื่องวีซา ของนักท่องเที่ยวที่มาพำนักอยู่ในประเทศไทยนานเกินควรด้วย หรือถือวีซา ผิดวัตถุประสงค์หรือไม่

ด้าน รมว.กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงการตรวจสอบสินค้าด้อยคุณภาพว่า ได้มีการดำเนินคดีไปแล้วกว่า 29,000 คดี ซึ่งก็จะมีการเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบมากขึ้น  ส่วนการจับกุมบริษัท  “นอมินี” มีการจับกุมไปแล้ว 852 บริษัท ทุนจดทะเบียนกว่า 15,000 กว่าล้านบาท และปัจจุบันพบว่า มี 49,000 กว่าบริษัท ที่ต่างชาติถือหุ้นอยู่ ซึ่งก็ต้องไปตรวจสอบ ว่ามีการถือหุ้นผ่าน ”นอมินี“ หรือไม่ โดยจะได้ดำเนินการแก้ไขในเรื่องนี้

ขณะที่ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักการในการควบคุมสินค้า จะคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคก่อน โดยได้ดำเนินการตามกฏหมายที่มีอยู่ และจะมีการดำเนินการตรวจสอบสินค้าที่นำเข้าจากทุกประเทศอย่างเท่าเทียม และเหมือนกัน โดยจะต้องคำนึงถึงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก. และองค์กรอาหารและยา หรือ อย. รวมไปถึงเรื่องของฉลากที่เป็นสินค้าบางรายการ เช่น อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ที่ต้องระบุวิธีการใช้งาน ซึ่งต้องมีการระบุเป็นภาษาไทย

ส่วนการตรวจสอบสินค้า “สวมสิทธิ์” ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้ออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า หรือ CO ได้มีการหารือร่วมกับทางสหรัฐฯ ซึ่งกระบวนการจะเริ่มตรวจ ตั้งแต่โรงงาน และใบรับรองอย่างเข้มงวด โดยมีการตรวจสอบต้นทุน และมีการหารือกับศุลกากรสหรัฐประจำประเทศไทย ซึ่งทางสหรัฐฯ ได้มาดูกระบวนการ และก็พึงพอใจ โดยจะมีการส่งบัญชีสินค้าที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ ซึ่งได้ทำงานร่วมกัน และมีการสอบถามยังมีประเด็นข้อสงสัยตรงจุดใด ซึ่งได้มีการทำงานมาร่วมกันตลอด และทางสหรัฐฯ ก็พึงพอใจ

- Advertisment -spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img