วันศุกร์, พฤษภาคม 2, 2025
หน้าแรกHighlight“เงินบาท”เปิดตลาดเช้าวันนี้“อ่อนค่าลง” จับตารายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เงินบาท”เปิดตลาดเช้าวันนี้“อ่อนค่าลง” จับตารายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.57 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” หลังดอลลาร์แข็ง ท่ามกลางความหวังว่า การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้าจะมีความคืบหน้ามากขึ้น จับตารายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ คืนนี้

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.57 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 33.41 บาทต่อดอลลาร์ (ระดับปิด ณ วันที่ 30 เมษายน) โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา รวมถึงช่วงวันหยุด 1 พฤษภาคม เงินบาท (USDTHB) ทยอยอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในกรอบ 33.28-33.65 บาทต่อดอลลาร์) ตามการทยอยรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ท่ามกลางความหวังว่า การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯกับบรรดาประเทศคู่ค้าจะมีความคืบหน้ามากขึ้น

นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาสดใส ก็มีส่วนหนุนบรรยากาศในตลาดการเงิน และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เงินดอลลาร์ยังได้อานิสงส์จากการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก อย่าง เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คงดอกเบี้ยที่ระดับ 0.50% ตามคาด พร้อมปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจลง ท่ามกลางความกังวลผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ

ทั้งนี้แม้ว่า รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯในช่วงนี้ ส่วนใหญ่จะออกมาแย่กว่าคาด โดยเฉพาะข้อมูลตลาดแรงงาน อย่าง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP แต่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าวกลับไม่ได้กดดันเงินดอลลาร์มากนัก โดยภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินยังคงเป็นปัจจัยหนุนเงินดอลลาร์อยู่ ขณะที่ราคาทองคำก็เผชิญแรงเทขายต่อเนื่อง หลังผู้เล่นในตลาดทยอยลดสถานะถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) โดยการปรับตัวลดลงของราคาทองคำดังกล่าว ก็มีส่วนยิ่งกดดันให้เงินบาททยอยอ่อนค่าลงทะลุโซนแนวต้าน 33.50 บาทต่อดอลลาร์

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาสดใส ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดต่างมีความหวังว่า การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯกับบรรดาประเทศคู่ค้าจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.63%

ในส่วนตลาดบอนด์ แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะออกมาผสมผสาน ทว่า บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯทยอยปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.23% อนึ่ง เราคงมุมมองเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดอาจคาดหวังแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดมากเกินไป (3-4 ครั้ง ในปีนี้) จากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯเสี่ยงชะลอตัวลงหนัก ทำให้เราประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯอาจมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้นบ้าง และคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้จังหวะที่บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้น ในการทยอยเข้าซื้อ เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip เท่านั้น

ทางด้านตลาดค่าเงินนั้นพบว่า เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หนุนโดยภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ที่ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็กดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงเข้าใกล้โซน 146 เยนต่อดอลลาร์ หลังเงินเยนญี่ปุ่นได้ทยอยอ่อนค่าลงจากมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของ BOJ ในวันก่อน ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้น สู่โซน 100.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 99.7-100.4 จุด)

ส่วนของราคาทองคำ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ที่มาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย. 2025) มีจังหวะย่อตัวลงบ้าง ทว่า ราคาทองคำยังพอได้แรงหนุนจากการเข้าซื้อ Buy on Dip ของผู้เล่นในตลาดอยู่ ทำให้ ราคาทองคำสามารถรีบาวด์สู่โซน 3,250 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯในเดือนเมษายน ที่จะทยอยรับรู้ในช่วง 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อาจชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า สู่ระดับ 1.3-1.4 แสนราย ส่วนอัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) อาจทรงตัวที่ระดับ 4.2% ขณะที่อัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) อาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ +3.9%y/y สะท้อนภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯที่ยังดูดีอยู่ แม้จะชะลอตัวลงบ้างก็ตาม และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลตลาดแรงงาน ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามยอดคำสั่งซื้อภาคโรงงาน (Factory Orders) เดือนมีนาคม ซึ่งอาจยังพอได้แรงหนุนจากการเร่งผลิตก่อนเผชิญมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ได้

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซนเดือนเมษายน เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) นอกจากนี้ผู้เล่นในตลาดจะลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท อาจเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways ไปก่อนได้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้น รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯในช่วง 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยเงินบาทอาจแกว่งตัวแถวโซน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว เรามองว่า เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนบ้าง จากการทยอยรีบาวด์สูงขึ้นของราคาทองคำ ซึ่งหากราคาทองคำสามารถรีบาวด์สูงขึ้นต่อได้ ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท

นอกจากนี้บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม อาจหนุนให้บรรดานักลงทุนต่างชาติทยอยเข้าซื้อสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทยเพิ่มเติมได้ อย่างไรก็ดี ตราบใดที่เงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้น ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน และความกังวลต่อนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯที่มีแนวโน้มทยอยคลี่คลายลง ก็อาจยังคงกดดันให้เงินบาทเสี่ยงอ่อนค่าลงต่อได้ไม่ยาก

อีกทั้งในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ เรามองว่า เงินบาทจะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม จากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับบรรดานักลงทุนต่างชาติ ทำให้เงินบาทจะกลับไปแข็งค่าเข้าใกล้โซน 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้อีกครั้งนั้น อาจต้องเห็นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แย่ลงกว่าคาดชัดเจน รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าที่กลับมาตึงเครียดมากขึ้น จนหนุนให้ตลาดปิดรับความเสี่ยงและผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะเข้าถือทองคำ รวมถึงเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย

ทั้งนี้เน้นย้ำว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ โดยสถิติในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมาสะท้อนว่า เงินบาท (USDTHB) อาจมีกรอบการแกว่งตัว +/-1 SD ราว +0.58%/-0.31% ในช่วงหลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว 30 นาที

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.35-33.75 บาทต่อดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ)

- Advertisment -spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

เริ่มแล้ว!!!“RTAF Cyber Operations Contest 2025”

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img