วันจันทร์, พฤษภาคม 12, 2025
หน้าแรกHighlightหวั่นสงครามทางการค้าสหรัฐฯ-จีน ฉุดจีดีพีไทยโตเพียง 0.7%
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

หวั่นสงครามทางการค้าสหรัฐฯ-จีน ฉุดจีดีพีไทยโตเพียง 0.7%

Krungthai COMPASS ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ 2568 ลงเหลือ 2.0% จาก 2.7% หลังสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้านานาชาติ และจีดีพีลดลงเหลือ 0.7% ในกรณีที่ได้รับผลกระทบรุนแรง

นายกฤษฏิ์ ศรีปราชญ์ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า จากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าและความเสี่ยงที่สูงขึ้น ซึ่งศูนย์วิจัยได้ ประเมินผลกระทบจากสงครามการค้าต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ออกเป็น 2 สถานการณ์ :

Scenario 1 (S1): ไทยถูกเก็บภาษี 10% (universal tariff) ตั้งแต่ ไตรมาสที่ 2 ปี 2568 หลังจากที่มีการเลื่อนการขึ้นภาษีเต็มรูปแบบออกไป 90 วัน โดยในช่วงครึ่งปีหลังการเจรจากับสหรัฐฯ ประสบผลสำเร็จทำให้ภาษีลดเหลือเพียง universal tariff ที่ 10% จาก 36% ที่มีการรวม reciprocal tariff ขณะที่ Sectoral tariff จะถูกเก็บในสินค้ากลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน และกลุ่มเหล็ก ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 โดยกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ได้รับการยกเว้น ในสถานการณ์นี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 2.0% ลดลงจากการประมาณการเดิมที่ 2.7%

Scenario 2 (S2): ไทยถูกเก็บภาษี 10% (universal tariff) ในช่วง     ไตรมาสที่ 2 ปี 2568 และในช่วงครึ่งปีหลังได้รับผลกระทบเต็มรูปแบบจากการขึ้นภาษี reciprocal tariff ที่ 36% นอกจากนี้ Sectoral tariff จะถูกเก็บในสินค้ากลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน และกลุ่มเหล็ก ตั้งแต่ไตรมาส   ที่ 2 โดยกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์จะได้ถูกจัดเก็บตั้งแต่  ไตรมาสที่ 3 ในสถานการณ์นี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพียง 0.7% ซึ่งลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ซึ่งการประเมินสถานการณ์ข้างต้น สอดคล้องกับมุมมองของ กนง. ที่คาดว่าเศรษฐกิจระยะข้างหน้ามีความเสี่ยงสูงขึ้น จึงปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับ 1.75% โดยคาดกรณีผลกระทบปานกลาง เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 2.0% ขณะที่กรณีผลกระทบรุนแรง เศรษฐกิจอาจขยายได้ 1.3%

แม้ว่าผลกระทบจากสงครามการค้าในครั้งนี้จะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป (slow burn) มากกว่าการเกิด  ผลกระทบทันที (one time shock) เช่นในกรณีโควิด-19 แต่ยังคงส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อ GDP ของไทยในปี 2568 โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังที่เศรษฐกิจอาจชะลอตัวแรงจนอาจเกิดภาวะถดถอยทางเทคนิค (technical recession) นอกจากผลกระทบเฉพาะหน้าที่สำคัญ อาทิ การส่งออกจากภาระภาษีที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และการลงทุนที่จะต่ำกว่าที่คาดไว้เนื่องจากธุรกิจเลื่อนการลงทุนเพื่อรอประเมินสถานการณ์ โดยเฉพาะธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐแล้ว ยังมีผลกระทบระยะถัดไปที่ต้องเตรียมรับมือ ประกอบด้วย

1. แผลเป็นทางเศรษฐกิจ

ผลระยะยาวในรูปแบบของ “แผลเป็นทางเศรษฐกิจ” ดังที่ไทยเคยประสบในช่วงโควิด-19 ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 4 ปีในการทำให้เศรษฐกิจกลับเข้าสู่ระดับก่อนวิกฤติ ในครั้งนี้แม้ว่ารูปแบบของวิกฤติจะแตกต่างกัน แต่ก็ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจสูง โดยเมื่อพิจารณาจากการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ที่ IMF’s WEO เผยแพร่เมื่อเดือนมกราคม 2568 เทียบกับรอบเมษายน 2568 ที่มีผลกระทบจากสงครามการค้าแล้วนั้น พบว่าในระยะ 5 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจไทยอาจสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 1.6 ล้านล้านบาท

2. ผลกระทบต่อ SMEs

ธุรกิจ SMEs ไทยจะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากสงครามการค้าครั้งนี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของสินค้าที่ถูกเก็บภาษี จากข้อมูลโดย ธปท. พบว่า

SMEs ไทยที่คาดว่าได้รับผลกระทบโดยตรงอาจมีจำนวนรวมกันกว่า 4,990 ราย คิดเป็นมูลค่าเพิ่มจากการส่งออกประมาณ 2.2% ของ GDP ซึ่งถือว่ามีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากอัตราภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นจากเฉลี่ย 1.7% เป็น 9.3% โดยธุรกิจกลุ่มนี้แบ่งออกเป็น:

  • กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจาก sectoral tariff: มี SMEs จำนวน 363 ราย ส่วนใหญ่ในกลุ่มที่ส่งออกสินค้ายานยนต์ ชิ้นส่วน เหล็กและอลูมิเนียมไปยังสหรัฐฯ ซึ่งจะถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น 25% จากเดิม 2.4%
  • กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจาก reciprocal tariff: มี SMEs จำนวนมากถึง 4,437 ราย ที่ส่งออกสินค้าหลากหลายประเภท อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ซึ่งจะถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น 10% จากเดิม 2.4%
  • กลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบในอนาคตจาก sectoral tariff: มี SMEs จำนวน 190 ราย ที่ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และโลหะอื่นๆ ซึ่งยังไม่ถูกเก็บภาษีเพิ่มในขณะนี้ แต่มีความเสี่ยงที่จะถูกเก็บภาษีในอนาคตหากสถานการณ์รุนแรงขึ้น

ซึ่ง SMEs โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ในสัดส่วนที่สูง และมี Profit margin ที่ไม่สูงนัก มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากการปรับเภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นมาก โดยเฉพาะกลุ่มกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป อาหารสำเร็จรูปสำหรับสัตว์เลี้ยง และบรรจุภัณฑ์พลาสติก นอกจากนี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าส่งออกของ SMEs ไปยังสหรัฐ ปี 2568 อาจลดลงได้ถึง 38,300 ล้านบาท

ผลกระทบจากสงครามการค้าทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเป็นความเสี่ยงเร่งด่วนที่คล้ายคลึงกับในช่วงวิกฤตโควิด-19 แต่ด้วยลักษณะของผลกระทบที่แตกต่างกันในระยะสั้น มาตรการรับมือ อาทิ :

  • ป้องกันการใช้ไทยเป็นฐานส่งออกสินค้าจากประเทศที่ถูกเก็บภาษีไปยังสหรัฐฯ (transshipment)
  • คุ้มครองตลาดในประเทศจากการทะลักเข้ามาของสินค้าต่างชาติที่ไม่สามารถส่งออกไปยังตลาดหลัก
  • สนับสนุนสภาพคล่องและการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม แผลเป็นทางเศรษฐกิจจากสงครามการค้ามีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปและส่งผลระยะยาวแตกต่างจากโควิด-19 ที่เป็นผลกระทบฉับพลัน ดังนั้น ประเทศไทยควรมองวิกฤตนี้เป็นโอกาสในการปรับเปลี่ยนเชิงยุทธศาสตร์ :

  1. ยกระดับตำแหน่งในห่วงโซ่มูลค่าโลก: ผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตทางเลือกที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือ สำหรับธุกิจที่ต้องการกระจายความเสี่ยง
  2. พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน: เร่งยก ระดับทักษะแรงงาน การพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ
  3. ขยายตลาดและพันธมิตรการค้า: แสวงหาโอกาสในตลาดใหม่และกระชับความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน (align interest) รวมทั้งเร่งรัดการเจรจา FTA
  4. รับมือกับความท้าทายจากจีน: เร่งรัดการปรับสมดุลการค้ากับจีน โดยเน้นย้ำการเป็น free and fair trade

สงครามการค้าครั้งนี้ไม่ใช่เพียงภาวะวิกฤตที่ต้องเยียวยาชั่วคราว แต่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ประเทศไทยต้องใช้เป็นโอกาสในการวางตำแหน่งใหม่ของเศรษฐกิจไทยในบริบทโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและคาดการณ์ได้ยาก เพื่อให้ธุรกิจไทยสามารถปรับตัว เติบโต และแข่งขันได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

- Advertisment -spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img