ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.88 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” หลังเงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลง ตามความกังวลเสถียรภาพการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ ในช่วงที่พรรครีพับลิกันกำลังร่าง “Fiscal Bill”
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.88 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 33.07 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ทะลุโซนแนวรับสำคัญ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 32.85-33.09 บาทต่อดอลลาร์) หลังเงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลง ตามความกังวลเสถียรภาพการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ ในช่วงที่บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนฯ พรรครีพับลิกันกำลังเตรียมร่างพรบ.การคลังหรือ Fiscal Bill ใหม่ ซึ่งอาจรวมนโยบายลดหย่อนภาษี (ขยายเวลา Tax Cuts and Jobs Act) โดยการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ยังคงหนุนให้ ราคาทองคำ (XAUUSD) ทยอยปรับตัวสูงขึ้นเข้าใกล้โซน 3,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง นอกจากนี้ความไม่แน่นอนของการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่าน รวมถึงความเสี่ยงที่อิสราเอลอาจโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านจากรายงานข่าวของ CNN และความไม่แน่นอนของการเจรจาสันติภาพรัสเซีย-ยูเครน ก็เป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนการปรับตัวขึ้นราคาทองคำ
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอความชัดเจนของร่าง “Fiscal Bill” จากฝั่งพรรครีพับลิกัน ซึ่งประเด็นดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อเสถียนภาพการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะเดินหน้าขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะบรรดาหุ้นเทคฯใหญ่ อาทิ Alphabet -1.5%, Amazon -1.0% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.39%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นราว +0.73% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาสดใส นอกจากนี้ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่ม Utilities โดยเฉพาะหุ้นธีมพลังงานลม หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ยกเลิกคำสั่งระงับการใช้งานโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งแถบนิวยอร์ก
ในส่วนตลาดบอนด์ ความกังวลต่อแนวโน้มเสถียรภาพการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ ในช่วงที่พรรครีพับลิกันกำลังร่าง “Fiscal Bill” นั้น ได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯมีจังหวะปรับตัวขึ้นทะลุโซน 4.50% อีกครั้ง ทว่าผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็รอทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวอยู่ ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯย่อตัวลงบ้างและแกว่งตัวแถวระดับ 4.49% ทั้งนี้ เราคงคำแนะนำเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯในระดับปัจจุบันถือว่ามีความน่าสนใจอยู่ แม้ว่าในระยะสั้นอาจเผชิญแรงกดดันจากประเด็นงบประมาณและเสถียรภาพการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเราคงแนะนำว่า ควรรอจังหวะทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ระยะยาวสหรัฐฯได้ (เน้น Buy on Dip) โดยเฉพาะในช่วงโซนสูงกว่า 4.50%
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลง ท่ามกลางแรงกดดันจากความกังวลต่อประเด็นเสถียรภาพการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ ขณะเดียวกันบรรดาสกุลเงินหลัก อย่างเงินยูโร (EUR) ก็ได้แรงหนุนจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นยุโรป ซึ่งส่วนทางกับภาวะระมัดระวังตัวในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงสู่โซน 99.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 99.9-100.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ บรรยากาศระมัดระวังตัวของตลาดการเงินสหรัฐฯ ท่ามกลางความกังวลต่อประเด็นเสถียรภาพการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ รวมถึงความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางและรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงร้อนแรงอยู่ ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย. 2025) พุ่งขึ้น +2% สู่ระดับ 3,329 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนเลือกทยอยขายทำกำไรการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ ในเดือนเมษายน เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ล่าสุด ซึ่งอาจส่งสัญญาณต่อแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินในอนาคตของ ECB ได้
ส่วนในฝั่งเอเชีย บรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) อาจตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบาย 25bps สู่ระดับ 5.50% ตามแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงรับมือผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ
และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด พร้อมจับตาความคืบหน้าของการร่าง “Fiscal Bill” ของพรรครีพับลิกัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มเสถียรภาพการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ผู้เล่นในตลาดจะติดตามการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงพัฒนาการของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า
สำหรับการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น เหนือความคาดหมายไปพอสมควร โดยปัจจัยสำคัญที่หนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทยังคงเป็นการปรับตัวขึ้นแรงราว +2% ของราคาทองคำ ที่ได้แรงหนุนจากทั้งประเด็นความกังวลเสถียรภาพการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางและรัสเซีย-ยูเครน ขณะที่เงินดอลลาร์นั้นไม่ได้อ่อนค่าลงไปมาก (ดัชนีเงินดอลลาร์ DXY ย่อตัวลงราว -0.3%) ซึ่งเรามองว่า ประเด็นความเสี่ยงดังกล่าวที่หนุนราคาทองคำในช่วงนี้นั้น จะยังคงอยู่ อย่างน้อยภายในช่วง 1 สัปดาห์นี้ ทำให้ราคาทองคำอาจยังมีโอกาสทยอยปรับตัวสูงขึ้นได้บ้าง และในเชิงเทคนิคัล ราคาทองคำ (XAUUSD) ก็มีโอกาสปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้าน 3,325-3,350 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ซึ่งหากประเมินจากความอ่อนไหว (Sensitivity, Beta) ของเงินบาทกับราคาทองคำ ราว 0.3-0.5 อาจพอประเมินได้ว่า เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นทดสอบโซน 32.50-32.60 บาทต่อดอลลาร์ได้อีกครั้ง
อย่างไรก็ดี เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัดได้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็รอทยอยซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับ โดยเฉพาะในช่วงโซน 32.50-32.60 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอาจเห็นผู้เล่นในตลาดทยอยเพิ่มสถานะ Long USDTHB (มองเงินบาทอ่อนค่าลง) ได้ หากเงินบาทไม่ได้สามารถแข็งค่าขึ้นทะลุโซนแนวรับดังกล่าวได้ชัดเจน นอกจากนี้โฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับบรรดานักลงทุนต่างชาติก็ยังคงมีอยู่ในช่วงนี้
ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังเสี่ยงเผชิญ Two-Way Volatility ขึ้นกับการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ โดยหากราคาทองคำพลิกกลับมาปรับตัวลดลง ก็อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง ทำให้แนวโน้มราคาทองคำควรเป็นปัจจัยที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดในช่วงนี้
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือสกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.75-33.00 บาทต่อดอลลาร์