วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 29, 2025
หน้าแรกHighlight“เงินบาท”เปิดตลาดแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ลุ้น“ถ้อยแถลงเฟด-ผลประชุม FOMC”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เงินบาท”เปิดตลาดแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ลุ้น“ถ้อยแถลงเฟด-ผลประชุม FOMC”

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.69 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” ตลาดหุ้นสหรัฐฯพลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ย หลังสหรัฐฯเลื่อนการปรับขึ้นภาษีนำเข้าในอัตรา 50% กับสินค้าจากยุโรป ลุ้นถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงรายงานการประชุม FOMC ล่าสุด

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.69 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 32.74 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 32.68-32.82 บาทต่อดอลลาร์) แม้ว่าในช่วงแรกเงินบาทจะทยอยอ่อนค่าลง เข้าใกล้โซนแนวต้าน 32.85 บาทต่อดอลลาร์ ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการย่อตัวลงบ้างของราคาทองคำ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย Conference Board ในเดือนพฤษภาคม ที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 98 จุด ดีกว่าที่ตลาดประเมินไว้แถวระดับ 87 จุด ท่ามกลางความหวังการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯกับบรรดาประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะจีน

นอกจากนี้ บรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯก็ทยอยกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังบอนด์ยีลด์ระยะยาวของสหรัฐฯทยอยย่อตัวลงบ้าง ทว่า การย่อตัวลงบ้างของบอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ กลับเป็นปัจจัยที่จำกัดการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ขณะเดียวกันก็ช่วยหนุนให้ราคาทองคำสามารถทยอยรีบาวด์สูงขึ้น (นอกเหนือจากปัจจัยเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ร้อนแรงขึ้น และช่วยหนุนความต้องการถือทองคำ) โดยเฉพาะในช่วงเช้าของตลาดการเงินเอเชีย ทำให้เงินบาทก็พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามอานิสงส์การรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯพลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) หลังทางการสหรัฐฯเลื่อนการปรับขึ้นภาษีนำเข้าในอัตรา 50% กับสินค้าจากยุโรป ขณะเดียวกันรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ก็ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯยังได้อานิสงส์จากการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯซึ่งหนุนให้บรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวขึ้นแรง อาทิ Tesla +6.9%, Nvidia +3.2% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด พุ่งขึ้น +2.05%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้น +0.33% ท่ามกลางความหวังต่อแนวโน้มการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯกับยุโรป นอกจากนี้การย่อตัวลงบ้างของบอนด์ยีลด์ระยะยาวฝั่งยุโรป ก็พอช่วยหนุนให้บรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth รีบาวด์สูงขึ้นบ้าง ส่วนหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมทหารยังคงได้แรงหนุนจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงร้อนแรงอยู่

ในส่วนตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายความกังวลต่อแนวโน้มเสถียรภาพการคลังของทางการสหรัฐฯลงบ้าง ขณะเดียวกัน ความพยายามในการช่วยประคองตลาดบอนด์ของทางการญี่ปุ่น ที่ล่าสุดส่งสัญญาณชะลอการออกบอนด์ระยะยาว ก็มีส่วนช่วยกดดันให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวของญี่ปุ่นปรับตัวลดลง และภาพดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวของสหรัฐฯย่อตัวลงบ้าง โดยล่าสุด บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯได้ทยอยปรับตัวลดลงสู่โซน 4.45% อนึ่ง เราประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯยังเสี่ยงผันผวนสูงได้บ้าง หากผู้เล่นในตลาดกลับมามีความกังวลต่อแนวโน้มเสถียรภาพการคลังของสหรัฐฯมากขึ้น ทว่า เราคงย้ำมุมมองเดิมว่า หากบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้น ก็จะเปิดโอกาสในการทยอยเข้าซื้อสะสม (Buy on Dip) ได้

ทางด้านตลาดค่าเงินนั้น เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด ทว่า จังหวะย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ และแรงขายทำกำไรการรีบาวด์ของเงินดอลลาร์ ได้จำกัดการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 99.5 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 99.2-99.6 จุด)

ส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ทว่า ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.2025) ก็สามารถทยอยรีบาวด์สูงขึ้นและสามารถทรงตัวเหนือโซน 3,330 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ ท่ามกลางการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ และสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ร้อนแรงขึ้นในช่วงนี้ หนุนความต้องการถือครองทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงรายงานการประชุม FOMC ล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วงราว 01.00 น. ของเช้าวันพฤหัสฯ นี้ ตามเวลาประเทศไทยน นอกจากนี้ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างรายงานดัชนีภาคธุรกิจจากบรรดาเฟดสาขาต่างๆ เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด

ส่วนในฝั่งเอเชีย-แปซิฟิก บรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) อาจพิจารณาลดดอกเบี้ยนโยบาย 25bps สู่ระดับ 3.25% ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ ท่ามกลางแรงกดดันต่อเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะหุ้นเทคฯใหญ่ อย่าง Nvidia ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้ พร้อมทั้งรอติดตาม สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมถึงการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯกับบรรดาประเทศคู่ค้า

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาทคงมุมมองเดิมว่า ราคาทองคำยังถือเป็นปัจจัยเสี่ยง Two-Way risk ที่อาจทำให้เงินบาทสามารถเคลื่อนไหวแข็งค่า หรืออ่อนค่าลงได้ ตามทิศทางราคาทองคำ ดังจะเห็นได้จากในช่วงเช้าของตลาดการเงินเอเชีย ที่เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น หลังราคาทองคำสามารถรีบาวด์สูงขึ้นได้

อย่างไรก็ดี เรามองว่า หากบรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง อีกทั้งผู้เล่นในตลาดก็เริ่มลดความสนใจในธีม Sell US Assets ลงบ้าง ก็อาจจำกัดการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ และทำให้ราคาทองคำยังคงแกว่งตัวในกรอบ Sideways หรืออาจกล่าวได้ว่า ราคาทองคำยังคงอยู่ในช่วงของการพักฐานอยู่ โดยหากราคาทองคำ (XAUUSD) สามารถปรับตัวขึ้นเข้าใกล้โซนแนวต้านก่อนหน้า เช่น โซน 3,350-3,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็อาจหนุนให้เงินบาทสามารถทยอยแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้อีกครั้ง (แนวรับถัดไปของเงินบาทจะอยู่แถว 32.35 บาทต่อดอลลาร์)

แต่หากราคาทองคำย่อตัวลงบ้างจากโซนแนวต้าน หรือจากระดับปัจจุบัน เข้าหาโซนแนวรับแถวโซน 3,200-3,250 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็อาจช่วยหนุนให้เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้ไม่ยาก แต่โดยรวมการอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด โดยมีโซนแนวต้านแถว 32.85 บาทต่อดอลลาร์ และโซนแนวต้านถัดไปในช่วง 33.00 บาทต่อดอลลาร์

โดยรวมเราประเมินว่า เงินบาทอาจยังคงแกว่งตัวในกรอบ Sideways ที่กว้างพอสมควร แต่ก็มีโอกาสเคลื่อนไหวในลักษณะ Sideways Up หรือทยอยอ่อนค่าลงมากขึ้น ตราบใดที่ตลาดการเงินอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมออกมาสดใสดีกว่าคาด และที่สำคัญ ตลาดควรทยอยคลายกังวลแนวโน้มเสถียรภาพการคลังของสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่หนุนธีม Sell US Assets ได้

นอกจากนี้ เราขอเน้นย้ำว่า พฤติกรรมการเคลื่อนไหวของเงินบาทในช่วงนี้ ได้สะท้อนว่า ตลาดค่าเงินยังอยู่ในภาวะผันผวนสูง ทำให้เรายังคงแนะนำผู้เล่นในตลาดว่า ควรใช้กลยุทธ์ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะกลยุทธ์ Options และการพิจารณาใช้ Local Currency เนื่องจากบางสกุลเงิน อย่าง CNYTHB ก็มีความผันผวนที่ต่ำกว่า USDTHB อย่างเห็นได้ชัด มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.50-32.85 บาทต่อดอลลาร์

- Advertisment -spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

ไข 10 ประเด็นร้อน-2 เดือนตึกสตง.ถล่ม

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img