บริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด ออกหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง ไม่เห็นด้วยกับงบการเงิน “ดุสิตธานี” และไม่เห็นด้วยให้เลือกตั้งกรรมการที่พ้นวาระจำนวน 4 คน กลับเข้ามาดำรงตำแหน่ง ส่วนความขัดแย้งระหว่าง “ทายาท” ในทรัพย์มรดก ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับบริษัทฯ
เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 68 บริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด ออกแถลงการณ์ชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีการลงมติของบริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด ที่ไม่เห็นด้วยกับงบการเงินของบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) และไม่เห็นด้วยให้เลือกตั้งกรรมการที่พ้นวาระจำนวน 4 คน กลับเข้าดำรงตำแหน่งตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อต่างๆ ในทำนองว่า การที่บริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด ไม่อนุมัติงบการเงินของบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีเมื่อวันที่ 25 เม.ย.68 ที่ผ่านมานั้น เกิดจากความขัดแย้งภายในกลุ่มทายาทของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งโรงแรมดุสิตธานี และความขัดแย้งระหว่างผู้ถือหุ้นของบริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด
นอกจากนี้ ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นวันที่ 28 พ.ค.68 (เลื่อนมาจากการประชุมวันที่ 25 เม.ย.68) บริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด ก็ลงมติไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมการที่ให้เลือกตั้งกรรมการที่ออกตามวาระจำนวน 4 คน กลับเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการต่ออีกวาระหนึ่ง ดังที่ทราบดีอยู่แล้วนั้น
บริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนี้
1.การที่บริษัทฯลงมติไม่เห็นด้วยกับงบการเงิน เป็นการลงมติที่มีเหตุมีผล และเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายในฐานะผู้ถือหุ้น เนื่องจากในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีในครั้งที่ผ่านมานั้น ก่อนวันประชุมบริษัทฯ ได้ส่งคำถามล่วงหน้าให้กับบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับงบการเงินประจำปี 2567 และในวันประชุมดังกล่าว บริษัทก็ได้ส่งคำถามเกี่ยวกับงบการเงินไปอีกครั้งหนึ่ง แต่คณะกรรมการของบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กลับไม่ตอบคำถามที่บริษัทได้สอบถามไปให้
2.บริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด ไม่มีเหตุผลใดที่จะไปทำร้าย หรือทำลายบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) มีแต่จะให้การสนับสนุนให้กิจการเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น
3.การที่บริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด ลงมติไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมการที่ให้เลือกตั้งกรรมการที่ออกตามวาระจำนวน 4 คน กลับเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการต่ออีกวาระหนึ่ง
4.เรื่องความขัดแย้งระหว่างผู้ถือหุ้นของบริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด และความขัดแย้งระหว่างทายาทของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย นั้น เป็นคนละเรื่องกัน โดยขอชี้แจง ดังนี้
4.1 ความขัดแย้งระหว่างผู้ถือหุ้นของบริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด
ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ได้จัดสรรปันส่วนหุ้นให้กับลูกทั้ง 3 คน ดังนั้นกลุ่มนางสินี เทียนประสิทธิ์ และนางสุนงค์ สาลีรัฐวิภาค จึงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เมื่อปี 65 มีมติเปลี่ยนแปลงกรรมการและอำนาจกรรมการ จาก 4 คน เป็น 3 คน ปี 67 ได้มีการจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ให้เปลี่ยนแปลงกรรมการและอำนาจกรรมการ
4.2 ความขัดแย้งระหว่างทายาทของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย
1.หลังจากท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ถึงแก่อนิจกรรม มรดกจึงตกกับทายาททั้งสามคน
ต่อมา เมื่อวันที่ 5 ต.ค.63 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้นายชนินทธ์ นางสินี และนางสุนงค์ ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย และ “ถ้าผู้จัดการมรดกมีหลายคน การทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นต้องถือเอาเสียงข้างมาก”
2.ผู้จัดการมรดกและทายาพของท่านผู้หญิงขนัตถ์ ปิยะอุยะอุย ได้จัดประชุม 6 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค.63 จนถึงวันที่ 3 มี.ค.64 โดยมีการพิจารณาว่า จะจัดแบ่งทรัพย์มรดกออกเป็น 3 กอง แต่ที่ประชุมไม่สามารถตกลงกันได้ จึงยังไม่ได้มีการทำข้อตกลงแบ่งทรัพย์มรดกให้เสร็จสิ้นไป
3.วันที่ 11 เม.ย.66 นายชนินทธ์ ได้ยื่นฟ้องนางสินี และนางสุนงค์ ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ พ.755/25666 โดยกล่าวอ้างว่า นางสินี และนางสุนงค์ ผิดสัญญาข้อตกลงแบ่งทรัพย์มรดก ที่ให้นายชนินทธ์ ได้รับทรัพย์มรดกกองที่ 1 คือ บริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด (ดุสิตธานี) โดยตามคำขอท้ายคำฟ้อง นายชนินทธ์ ขอให้ศาลบังคับให้นางสินี โอนหุ้นบริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด ที่ได้รับมรดกจากท่านผู้หญิงชนัตถ์ จำนวน 626,500 หุ้น และให้โอนหุ้นที่เป็นหุ้นส่วนตัวของนางสินี จำนวน 1,998,265 หุ้น ให้แก่นายชนินทธ์ และขอให้ศาลบังคับให้นางสุนงค์ โอนหุ้นบริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด ที่ได้รับมรดกจากท่านผู้หญิงชนัตถ์ จำนวน 626,500 หุ้น และให้โอนหุ้นที่เป็นหุ้นส่วนตัวของนางสุนงค์ จำนวน 1,625,670 หุ้น ให้แก่นายชนินทธ์ แต่นางสินี และนางสุนงค์ ได้ให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดีว่า ในการประชุมผู้จัดการมรดกและทายาทนั้น ยังตกลงกันไม่ได้ และยังไม่มีข้อตกลงแบ่งทรัพย์มรดกตามที่นายชนินทธ์ อ้าง
ต่อมา เมื่อวันที่ 12 ก.ย.67 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ หมายเลขดำที่ พ.775/256666 คดีหมายเลขแดงที่ พ.2038/2567 ได้มีคำพิพากษายกฟ้องของนายชนินทธ์ฯ โดยวินิจฉัยว่า
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การประชุมผู้จัดการมรดกระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสอง ดำเนินมาถึงเพียงขั้นตอนกำหนดแนวทางและวิธีการแบ่งทรัพย์มรดก ตามที่ระบบในรายงานการประชุมครั้งที่ 2 โดยที่ยังไม่มีข้อตกลงแบ่งทรัพย์มรดก ส่วนการประชุมหลังจากนั้นเป็นเพียงขั้นตอนการตรวจสอบเพื่อกำหนดมูลค่าของกองทรัพย์สิน แต่เกิดความชัดแย้งเสียก่อน ทำให้ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้
ดังนั้น ข้อตกลงที่โจทก์อ้างตามฟ้อง จึงยังไม่เกิดขึ้น โจทก์และจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกยังคงมีหน้าที่ต้องหาข้อสรุปในมูลค่ากิจการของทั้งสามบริษัทและทรัพย์สินอื่นๆ เพื่อบรรลุข้อตกลงให้ได้ก่อน จากนั้นจึงจัดการมรดกร่วมกันให้เสร็จขณะนี้ คดีอยู่ระหว่างนายชนินทธ์ฯ ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์
บริษัทฯ ขอเรียนว่า ในเรื่องความขัดแย้งระหว่างทายาทเกี่ยวกับการแบ่งปันทรัพย์มรดกนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด แต่เป็นเรื่องที่ทายาททั้งสามคนจะต้องไปว่ากล่าวกันเองต่อไป ไม่ว่าโดยการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาล หรือการตกลงประนีประนอมแบ่งปันทรัพย์มรดก ดังนั้น การลงมติของบริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด ในการประชุมผู้ถือหุ้น จึงเป็นการใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นโดยสุจริตเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) และผู้ถือหุ้นโดยรวมอย่างรอบคอบ และเพื่อเป็นทางป้องกันไม่ให้บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ต้องขาดทุนต่อเนื่องต่อไปอีก
บริษัทฯ จึงขอชี้แจงมาเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง