ทนกระแสค้านไม่ไหว หากหยุดก่อสร้างจะทำให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้างทางวิศวกรรมจนยากแก้ไข “ลุงตู่” ไฟเขียว คลายล็อกการก่อสร้าง 4 ประเภทในกทม.-ปริมณฑล อาทิ “โครงการใต้ดินที่มีความลึก-นั่งร้าน-รอการเทปูน-โรงพยาบาลสนาม-สถานพยาบาล” แต่ยังคุมเข้มก่อสร้างขนาดเล็ก
กรณี ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกมาแสดงความเห็นทักท้วงว่า…เหตุใดผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรม จึงปล่อยให้ผู้มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน สั่งให้หยุดก่อสร้างทั้งหมด ทั่วกรุงเทพมหานคร เป็นเวลา 1 เดือน ด้วยความกลัวว่าโรคโควิด-19 จะระบาดในแคมป์คนงานก่อสร้าง โดยมิได้ทักท้วง ตามแนวทางแห่งจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพ ที่ต้องยึดถือไว้ตลอดชีวิต ตามหลักอันเป็นเลิศของวิชาชีพ
ประกอบกับ ผู้ประกอบอาชีพวิศวกรรม เล็งเห็นถึงปัญหาเรื่องการปิดแคมป์คนงานก่อสร้างนั้น อาจทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างอย่างคาดไม่ถึง เพราะบางลักษณะงานจะหยุดงานทันทีไม่ได้ ศบค. ควรเร่งพิจารณา เช่น โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เขตกทม. และปริมณฑล เป็นชั้นดินอ่อน ถ้ากระทบเชิงโครงสร้าง จะเกิดผลตามมา หรือลักษณะงานการไฟฟ้า ที่มีการดันท่อ หรือการก่อสร้างอุโมงค์ เมื่อหยุดงาน จะเกิดปัญหา เรื่องสุญญากาศในชั้นดิน และติดล็อค ดำเนินการต่อไม่ได้ แม้กระทั่ง การสร้างบ่อพักขนาดใหญ่ ถ้างานไม่แล้วเสร็จ จะเกิดปัญหา เกิดอุบัติเหตุตามมาได้
ความคืบหน้าเรื่องนี้มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 (ศบค.) ได้ลงนามเมื่อวันที่ 2 ก.ค.2564 อนุมัติเรื่องการผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้าง ตามที่ศูนย์ปฏิบัติการ (ศปก.) ศบค. ที่มีพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการ ศปก.ศบค.เป็นผู้เสนอ เพื่อผ่อนคลายข้อกำหนดฉบับที่ 25 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2564 ข้อ 2 ซึ่งกำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดปริมณฑล ได้แก่ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม และสมุทรสาครมีคำสั่งปิดสถานที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ประเภทต่าง ๆ และสถานที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับแรงงานก่อนสร้าง รวมทั้งห้ามการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นการชั่วคราวอย่างน้อย 30 วัน
สำหรับมาตรการผ่อนคลายคำสั่งการก่อสร้างในโครงการก่อสร้างบางประเภทตามที่ กทม.เสนอ ได้แก่
1.โครงการก่อสร้าง เช่น โครงการก่อสร้างใต้ดินที่มีความลึก การก่อสร้างชั้นใต้ดินที่ยังไม่ได้เทปูนปิดล้อม หรือ การก่อสร้างอื่น ๆ ซึ่งหากหยุดก่อสร้างทันที หรือ ล่าช้าอาจก่อให้เกิดความเสียหายเชิงโครงสร้างวิศวกรรมจนยากต่อการแก้ไข หรือ เกิดอันตรายแก่ประชาชนที่สัญจรไปมา หรือ ชุมชนโดนรอบโครงการก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการก่อสร้างที่แรงงานก่อสร้างได้รับการจัดสรรวัคซีนแล้ว และให้สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานก่อสร้างเพื่อประโยชน์ในการควบคุมจากสถานที่พักชั่วคราวทั้งกรณีข้ามเขตจังหวัดหรือภายในจังหวัดเพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรคโควิด 19 เช่น การรักษาพยาบาล การควบคุมป้องกันโรค การตรวจสุขภาพ การตรวจวินิจฉัยและการฉีดวัคซีน
2.โครงการก่อสร้างชั่วคราว เช่น นั่งร้าน และแบบรอการเทปูนโดยเฉพาะแผ่นพื้น
3.การก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านการจราจร เช่น ไฟสัญญาณจราจร แบร์ริเออร์กั้นช่องจราจร แผ่นเหล็กปิดงานก่อสร้างบนผิวจราจร
4.การก่อสร้างในสถานที่ก่อสร้างที่มีความเกี่ยวข้องกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ด้านสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาล สถานพยาบาล หรือ สถานที่ก่อสร้างอื่น ๆ ที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรค
โดยให้ผู้ว่ากทม. โดยสำนักการโยธา หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัด โดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อกทม. หรือ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตโครงการก่อสร้างเฉพาะที่เข้าหลักเกณฑ์เป็นรายกรณี และขอให้กทม.และจังหวัดปริมณฑล กำกับและติดตามการดำเนินการก่อสร้างในโครงการก่อสร้างที่มีเหตุจำเป็นที่ได้รับการผ่อนคลายต้องดำเนินการภายใต้มาตรการป้องกันโรคโควิด 19 อย่างเคร่งครัด
ส่วนกรณีการก่อสร้างขนาดเล็กซึ่งไม่ถูกห้ามตามข้อกำหนดฉบับที่ 25 หากผู้ว่ากทม.หรือผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาเห็นว่า หากปล่อยให้การก่อสร้างดังกล่าวดำเนินต่อไปอาจเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เป็นวงกว้างอันจะไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของข้อกำหนดฉบับที่ 25 ให้ผู้ว่ากทม.หรือผู้ว่าราชการจังหวัดอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อพิจารณามีคำสั่งปิดสถานที่ก่อสร้างหรือหยุดการก่อสร้างนั้น
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยและกทม. (ประสานไปยังสำนักงานเขต) และออกข้อกำหนดในรายละเอียดต่อไป อย่างไรก็ตามให้อนุโลมดำเนินการได้ทันที
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ได้ลงนามอนุมัติในหลักการอนุญาตการให้อนุญาตสำหรับการก่อสร้างโครงการก่อสร้างบางประเภทและเคลื่อนย้ายแรงงานในกรณีมีเหตุจำเป็น โดยพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ได้ทำหนังสือถึงนายกฯ เพื่อขอให้พิจารณาอนุมัติในหลักการ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวเป็นการผ่อนปรน สำหรับรายที่มีปัญหาว่าถ้าการหยุดหรือปิดแคมป์จะทำให้เกิดอันตรายหรือไม่ปลอดภัย ก็อนุญาตให้เข้าไปเก็บงานหรือปิดงานได้ ไม่ใช่การก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น การก่อสร้างรถไฟฟ้า แต่ในคำสั่งดังกล่าวของนายกฯ เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดไปใช้อำนาจ ออกคำสั่งในแต่ละจังหวัดอีกครั้ง ซึ่งแต่ละจังหวัดจะไม่เหมือนกัน ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องไปออกคำสั่ง และสำรวจเองว่าในแต่ละจังหวัดมีการก่อสร้างอะไรบ้าง อย่างไรก็ตามจะมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาอีกครั้ง