”ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ชูโมเดลนำของเหลือทิ้งทางการเกษตรมาสร้างมูลค่าเพิ่มตอบโจทย์ Zero Waste ตามกรอบ BCG Model ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตควบคู่การแก้ป้ญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างยั่งยืน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวทางการนำของเหลือทิ้งทางการเกษตรมาใช้ต่อเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มนับเป็นแนวทางที่ดีตอบโจทย์ Zero Waste และ BCG Economy โดยเฉพาะพลาสติกชีวภาพ เช่น พลาสติกชีวภาพจากเปลือกทุเรียนที่คาดว่าน่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ราว 3,600-7,300 ล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า ภายใต้เงื่อนไขที่สามารถเก็บรวบรวมเปลือกทุเรียนได้ราวร้อยละ 5-10 ของเปลือกทุเรียนทั้งหมดในไทย แต่ประเด็นความท้าทายคงอยู่ที่การรวบรวมของเหลือทิ้งทางการเกษตรที่อาจต้องมีการออกแบบระบบรวบรวม ขนส่ง และจัดเก็บให้สามารถคงสภาพในการนำมาแปรรูปได้ รวมถึงความท้าทายของราคาพลาสติกชีวภาพที่ยังอยู่ในระดับสูง จะเป็นปัจจัยกำหนดความต้องการใช้พลาสติกชีวภาพให้ยังกระจุกตัวอยู่ในผู้บริโภคบางกลุ่ม
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal: SDG) นับเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกต่างหันมาตระหนักมากขึ้น ภาครัฐจึงมีโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่และยกเป็นวาระแห่งชาติในปี 2564 ภายใต้ชื่อ BCG Economy ที่ประกอบไปด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ (B-Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (C-Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (G-Green Economy) ถือเป็น New Growth Engine ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตไปพร้อมกับการแก้ป้ญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างยั่งยืนบนฐานการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสและมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจตามมาอีกมาก
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า BCG Model เป็นรูปแบบที่ดีในการยกระดับสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีสาขาเกษตรและอาหารเป็นตัวชูโรง ด้วยจุดแข็งด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Bio-Based) ซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นน้ำในหลากหลายอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และสถานการณ์โควิด-19 จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อเทรนด์รักสุขภาพและความมั่นคงด้านอาหาร อันจะเป็นตัวเร่งให้ไทยต้องยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณที่สูงขึ้นตามเทรนด์โลก บนฐานการใช้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ (AgriTech)
สำหรับภาคการผลิตตามกรอบ BCG เกษตรในส่วนของต้นน้ำ พบว่า สินค้าเกษตรที่ไทยผลิตได้มีของเหลือทิ้งทางการเกษตรมากถึง 43 ล้านตันต่อปีและเป็นสัดส่วนที่มากพอสมควรเมื่อเทียบกับผลผลิตที่ได้ เช่น รำ/แกลบ เปลือกผลไม้ เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เน้นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด หรือ Zero Waste จะเป็นการตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน (C-Circular) ตามกรอบ BCG Model ได้เป็นอย่างดี จึงเป็นกระบวนการที่สำคัญและขาดไม่ได้ในยุคที่โลกมุ่งหาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันการเกิดวิกฤติขาดแคลนทรัพยากร ตลอดจนช่วยลดปริมาณขยะและผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม
สรุป โมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ ภายใต้ชื่อ BCG Model นับเป็น New Growth Engine ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยมีสาขาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารเป็นตัวชูโรง จากอุปสงค์ที่มีรองรับทั้งในและต่างประเทศตามเทรนด์สุขภาพและความมั่นคงด้านอาหาร
ขณะที่ในฝั่งของอุปทานสินค้าเกษตรต้นน้ำนั้นคงไม่ใช่เรื่องง่ายและยังมีความท้าทายรออยู่อีกมาก ทั้งในแง่ของความพร้อมของตัวผู้ผลิตสินค้าเกษตรเอง และเครื่องมือ AgriTech ที่ใช้ ซึ่งคงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรที่น่าจะมากกว่า 5 ปีในการยกระดับการผลิตเกษตรต้นน้ำให้เป็นไปตามกรอบ BCG อย่างเป็นรูปธรรม และหากมองต่อไปในแง่ของการผลิตสินค้าเกษตรต้นน้ำที่จะก่อให้เกิดของเหลือทิ้งทางการเกษตร ทำให้คำว่า Zero Waste จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ขาดไม่ได้ในกรอบของ BCG ที่น่าจะทำให้เกิดประโยชน์ตลอดซัพพลายเชน เช่น ก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สร้างรายได้หมุนเวียนในท้องถิ่นจากการจ้างคนรวบรวมของเหลือทิ้งทางการเกษตรและรายได้จากการขนส่ง อีกทั้งยังช่วยลดการฝังกลบ/เผาของเหลือทิ้งทางการเกษตรในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก
นอกจากนี้ พลาสติกชีวภาพที่ผลิตขึ้นไม่เพียงแต่จะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เติบโตได้ดีจากตัวเร่งอย่างโควิด-19 แต่ในระยะข้างหน้า ของเหลือทิ้งทางการเกษตรยังมีโอกาสทางธุรกิจที่จะเชื่อมโยงไปยังอุตสาหกรรมอื่นที่มีมูลค่าสูงได้ไม่ยากนัก เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือทางการแพทย์ เป็นต้น