“ลูกชายดร.ซุป” วอนรัฐบาลทบทวนมาตรการสั่งปิดร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าและคอมมูนิตี้ มอลล์ “พื้นที่สีแดงเข้ม” ย้ำไม่มีข้อมูลบ่งชี้เป็นสาเหตุของการติดเชื้อมากกว่าร้านข้างนอก “ผู้ประกอบการ-ลูกจ้าง” เดือดร้อนหนัก พร้อมเสนอ 7 มาตรการฝ่าวิกฤติโควิด
เมื่อวันที่ 22 ก.ค.64 นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ (บุตรชาย “ดร.ซุป” ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์) เปิดเผยว่า ขอเรียกร้องให้ “ศบค.” ทบทวนมาตรการสั่งปิดร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าและคอมมูนิตี้ มอลล์ในพื้นที่สีแดงเข้ม เพราะไม่มีการเยียวยาที่เหมาะสม รวมถึงยังไม่มีข้อมูลใดที่บ่งชี้ว่า ร้านอาหารในห้างเป็นสาเหตุของการติดเชื้อได้มากกว่าร้านอาหารข้างนอก โดยมาตรการในครั้งนี้ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องประสบกับปัญหาของค้างสต๊อก การขาดสภาพคล่องทางการเงิน เสี่ยงต่อการปิดกิจการ ส่วนลูกจ้างต้องว่างงานหรือตกงานกะทันหัน ทั้งนี้ขอเสนอ 7 มาตรการแก้วิกฤติขาดแคลนเตียงในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 อย่างเร่งด่วน ถึงรัฐบาลและศบค. ดังนี้
1.เร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกและอนุมัติการนําเข้า Rapid Antigen Test Kits อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ราคาในท้องตลาดถูกลง ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และควรแจกชุดตรวจฟรีถึงบ้าน
2.ปรับเปลี่ยนสถานที่ เช่น โรงเรียนแพทย์ สถานที่ของกองทัพ และพื้นที่ของเอกชน มาเป็นศูนย์พักพิงแยกผู้ติดเชื้อออกมาจากชุมชนแออัด และมีมาตรการดูแลเชิงรุกก่อนส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล
3.เร่งแจกฟ้าทะลายโจรแก่ผู้ป่วยติดเชื้อ ไม่ต้องศึกษาเพิ่มแล้ว เพราะตอนนี้มีการศึกษาวิจัยจำนวนมากที่ออกมายืนยันว่าใช้ยานี้กับผู้ป่วยได้ดีในจำนวนที่เหมาะสม รวมถึงควรเร่งจัดหายา Favipiravir และ Remdesivir ให้เพียงพอ อย่าให้มีคอขวดในการนําเข้าแบบตอนนี้ รวมทั้งควรสนับสนุนให้ผลิตยาดังกล่าวได้อย่างเสรีในประเทศไทย
4.ปลดล็อกการจัดซื้อวัคซีนให้มีความคล่องตัว และโปร่งใสมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดหาวัคซีน mRNA และวัคซีนเทคโนโลยีใหม่ เช่น โนวาแวกซ์ (Novavax) ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ทัพหน้าและประชาชนในพื้นที่วิกฤติ รวมถึงสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนใบยา ของจุฬาฯ ที่เป็นหนึ่งในความหวังสกัดเชื้อกลายพันธุ์อย่างปลอดภัย
5.ปรับปรุงและพัฒนาการสื่อสารให้ชัดเจน ทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย เช่น องค์ความรู้ด้านการกักตัวอยู่บ้าน (Home Isolation) การบริหารจัดการคิวฉีดวัคซีนให้มีความเป็นธรรมและเป็นไปอย่างเหมาะสม
6.เยียวยากลุ่มธุรกิจที่ให้ความร่วมมือปิดกิจการเป็นอย่างดีมาโดยตลอดและได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ฟิตเนส ร้านอาหาร อีเว้นท์ นักดนตรี ธุรกิจกลางคืน/บันเทิงให้เหมาะสม ทันท่วงที โดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ควรจัดหาแหล่งเงินทุนหมุนเวียนที่ไม่มีดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการ พร้อมทั้งพักหนี้ทั้งต้นและดอกอย่างจริงจัง และจัดสรรงบฟื้นฟูเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต ไม่ใช่แค่แจกเงิน เช่น การพัฒนาศักยภาพและทักษะใหม่ๆให้กับประชาชนผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อเพิ่มแรงงานฝีมือ และควรขยายผลโครงการที่ทำไปแล้วและได้ผลตอบรับที่ดี อาทิ โครงการกระจายความรู้ สู่ผู้ประกอบการยุคใหม่ (From Gen Z to be CEO) ของกระทรวงพาณิชย์ที่ท่านรองนายกฯจุรินทร์ได้ริเริ่ม โครงการเรียนจบพบงาน ของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น
7.ต้องช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนให้ได้อย่างจริงจัง โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น การประปาและการไฟฟ้าต้องยอมรับภาระต้นทุนในส่วนนี้ เพื่อช่วยลดค่านํ้าค่าไฟให้กับประชาชนมากกว่าเดิม ภาครัฐต้องลดภาษีและค่าธรรมเนียมทุกชนิด รวมถึงบริษัทโทรคมนาคมต้องปรับลดค่าอินเตอร์เน็ตลงด้วย เพื่อสนับสนุนการทํางานและการศึกษาจากที่บ้าน (Work/Study From Home) โดยรัฐบาลอาจจัดสรรงบมาสนับสนุนด้วยได้