“สมหมาย ภาษี”อดีตรมว.คลัง เขียนบทความวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยเรื่อง “อนิจจังของประเทศที่ยังไม่สร่างไข้” ชี้ 3 ปัจจัย ที่ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจอยู่ในภาวะถดถอย มีแต่ทรงกับทรุด
เมื่อวันที่ 4 พ.ย.64นายสมหมาย ภาษี อดีตรมว.คลังได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า “อนิจจังของประเทศที่ยังไม่สร่างไข้”ต้องขอย้อนกลับไปต้นปี 2563 ช่วงที่โควิด-19 ได้เริ่มระบาดในประเทศไทยใหม่ๆ ที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กซึ่งเป็นสำนักข่าวใหญ่มากระดับโลก ได้เผยแพร่บทความเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ว่า “ไวรัสโคโรน่า ทำประเทศไทยป่วยหนัก” และไทยที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ในอาเซียนจะเข้าสู่ “ภาวะถดถอย”
บลูมเบิร์กได้ให้ความเห็นไว้อย่างชัดเจนว่า ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์โรคร้ายระบาด เศรษฐกิจไทยก็มีอาการป่วยอยู่แล้วด้วยผลกระทบจากสงครามการค้า ภัยแล้งครั้งใหญ่ เงินบาทแข็งค่า การลงทุนภาครัฐล่าช้า พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายปี 2563 แทนที่จะออกมาในปลายเดือนกันยายน 2562 ได้ล่าช้าไปแล้วถึง 5 เดือน
บลูมเบิร์กชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยนั้นเริ่มล้าหลังเพื่อนบ้านอยู่แล้ว ขณะที่ความวุ่นวายทางการเมืองเป็นตัวฉุดหลัก โดยยังมีปัจจัยลบใหญ่ๆ หลายเรื่องเป็นพื้นฐานรองรับอยู่ ได้แก่สังคมผู้สูงอายุที่โตขึ้นทุกวัน ซึ่งขณะนี้ผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป มีถึง 13 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีการผลิตที่อ่อนแอ การบริโภคที่ไม่มีการเติบโต และหนี้ครัวเรือนที่สูงมาก เห็นไหมครับ มันเป็นความจริงทั้งนั้น
ภาวะของประเทศไทยในปัจจุบัน บัดนี้ประเทศไทยได้เปิดประเทศ เมื่อ 1 พฤศจิกายน นี้ เข้าสู่การสร้างบรรยากาศการเข้าไปดูแลของรัฐบาลอย่างจริงจัง ให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เน้นให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรม โดยยึดการเริ่มต้นฤดูการท่องเที่ยวในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 นี้ เป็นจุดเริ่ม ดูเป็นการเปลี่ยนให้เกิดโมเมนตั้มใหม่ที่เข้าท่าเข้าทางดีมาก
แต่หันไปดูอาการป่วยไข้ของประเทศตามที่บลูมเบิร์กได้กล่าวไว้เมื่อต้นปี 2563 ที่บัดนี้ผ่านไปเกือบ 2 ปีแล้ว อาการป่วยของประเทศไทยมีอะไรดีขึ้นบ้างไหมครับ ประเทศนี้มีอาการป่วยไม่ใช่เพราะโรคเพียงอย่างสองอย่างเท่านั้น แต่เรามีมากโรคเหลือเกินที่ส่อว่าไม่มีอาการดีขึ้น แต่เป็นอาการอนิจจังของประเทศ
นับตั้งแต่การผลิตที่ยังอ่อนแอ การบริโภคที่ไม่มีทางขยายตัวได้เลยถ้าดึงสายให้น้ำเกลือออก การลงทุนก็ยังต้วมเตี้ยม ภาครัฐที่พอทรงตัวได้ก็ต้องใช้ไม้เท้ายันตลอด ภาระหนี้สูงติดเพดานหมดทั้งหนี้ครัวเรือน หนี้ของ SMEs และหนี้สาธารณะของรัฐบาล ยิ่งกว่านั้น ปัญหาการคอร์รัปชั่นมีแต่หนักข้อขึ้น และสุดท้ายด้านการเมืองยังคงวุ่นวาย และมืดมนอนธการ สรุปแล้วสภาพอาการไข้ของไทยยังอยู่ที่ทรงกับทรุด
ประเทศที่พัฒนาแล้วมีแต่เดินหน้า แต่เมื่อหันไปดูประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และประเทศในกลุ่มยูโร รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ประเทศเหล่านี้แม้จะยังคงมีการระบาดของโควิด-19 แต่เขาก็ได้เปลี่ยนสภาพความเป็นอยู่เป็นปกติแล้ว และได้มีความพยายามทำให้เศรษฐกิจของเขาพลิกฟื้นและก้าวเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว
ผลที่ตามมาจากการพลิกฟื้นทางด้านเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในปัจจัยที่สำคัญทางด้านเศรษฐกิจโลกอย่างเห็นได้ชัด นับตั้งแต่สกุลเงินหลักหลักแข็งค่าขึ้น ภาวะเงินเฟ้อเพิ่มสูงเป็นขาขึ้น เมื่อต้นปีนี้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอยู่ที่ 1.4 % แต่เดือนตุลาคมนี้อยู่ที่ 5.4 % ของประเทศกลุ่ม EU ต้นปีอยู่ที่ 0.9 % เดือนตุลาคมนี้อยู่ที่ 3.4 % เป็นต้น อัตราดอกเบี้ยโดยทั่วไปก็สูงขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคมโดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยของเงินดอลลาร์สหรัฐ และสหราชอาณาจักรในช่วงเดียวกันก็ได้ปรับตัวสูงขึ้นถึงกว่าครึ่งเปอร์เซ็นต์แล้ว และราคาน้ำมันดิบของโลกก็เพิ่มสูงขึ้นตลอดตั้งแต่กลางปีนี้จนแตะระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาเรล และทั้งราคาของสินค้าหลักเพื่อการอุตสาหกรรมอีกหลายตัวก็ปรับตัวเป็นขาขึ้นเช่นกัน
ปรากฏการณ์ดังกล่าวข้างต้นนี้ ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกได้ขยับตัวสูงขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย ประเทศที่เศรษฐกิจเข้มแข็งทั้งหลายต่างก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อเร่งฝีเท้าก้าวไปข้างหน้า ปัจจัยทางเศรษฐกิจทุกตัวจึงเป็นขาขึ้น ในขณะที่ประเทศที่ยังไม่สร่างไข้ หรือที่ยังไม่สามารถขยับตัวได้อย่างประเทศไทย แทนที่จะใช้โอกาสที่ผ่านมาพลิกตัวให้ดีขึ้น หรือให้ลุกเดินได้อย่างเขา ยังทำได้ลำบาก อะไรจะเกิดขึ้นน่าจะต้องตระหนักกันให้ถ่องแท้ ไม่ใช่เห็นเปิดประเทศหน่อยก็คุยโวโอ้อวดว่าเราจะโตมากขึ้นตามเขา ก็อยากบอกว่าขอให้มาดูผลกระทบที่จะลากยาวให้ดีว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
ประการแรก การเพิ่มสูงขึ้นของราคาน้ำมันดิบโลกอย่างต่อเนื่องถึง 70 หรือ 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือเพิ่มถึง 50 % จากต้นปีนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปรับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศตาม แม้ว่าจะพยายามใช้เงินกองทุนยันอยู่พอควร แต่ทำได้ไม่นานก็จะเกิดความกดดัน ซึ่งขณะนี้ก็ได้เกิดขึ้นแล้วจากผู้ประกอบการรถบรรทุกขนส่งสินค้า หากเอาไม่อยู่ ผู้ประกอบการด้านอื่นๆ ซึ่งยังหลับไม่ค่อยตื่น ฟื้นตัวยังไม่ค่อยได้กันเลย พวกเขาก็จะรับไม่ไหว ปัญหาและการเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยจากสารพัดทิศก็จะประดังเข้ามาไม่เกินสิ้นปีนี้
ผมเชื่อว่าผลกระทบต่อผู้ประกอบการและประชาชนอันเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันจะแผ่ขยายไปถึงปีหน้าซึ่งจะแก้ไขยาก ไม่เหมือนสมัยท่านนายกยิ่งลักษณ์ สมัยนั้นรัฐบาลยังไม่มีปัญหาด้านการคลังจากการเก็บภาษีต่ำกว่าเป้ามากเหมือนสมัยนี้จึงได้แก้ปัญหาด้วยการลดภาษีสรรพสามิตของราคาน้ำมันลงลิตรละหลายบาท บางชนิดลดลงกว่าครึ่ง แต่ในยุคนี้แม้จะคิดลดภาษีสรรพสามิตของน้ำมันก็ไม่ควรเสียเวลา เช่น น้ำมันดีเซล B10 ซึ่งเก็บภาษีตอนนี้ลิตรละ 5.80 บาท หรือน้ำมันเบนซิน E20 ที่มีราคาหน้าปั๊มลิตรละ 31 บาท ก็มีค่าภาษีรวมอยู่ 5.20 บาท แค่ยังไม่ลดยอดรายได้ภาษีน้ำมันที่เก็บได้ในทุกวันนี้ก็ต่ำกว่าเป้ามากอยู่แล้ว รัฐบาลตอนนี้จึงมีความกดดันจากปัญหาราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้นมากกว่าในอดีตมาก
ประการที่สอง การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของเงินสกุลหลักจะส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทยนั่งไม่ติด ไม่ช้าหรอกเราท่านจะได้เห็นการปรับอัตราดอกเบี้ยทางการที่นิ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.50 ให้สูงขึ้น แต่ตามสภาพของภาวะเศรษฐกิจไทยแบบคนที่ยังมีไข้หนัก ถ้ามีใครจะเถียงว่าไม่หนักแค่ยังไม่สร่างไข้ ก็เป็นที่รู้กันว่าผู้ประกอบการทั้งเล็กและใหญ่ต่างก็ยังทุรนทุรายอยู่ อย่างน้อยจะพอหายใจได้คล่องหน่อยก็อีก 2 ปี แล้วผู้บริหารการเงินของประเทศจะเข้ามาช่วยเหลือได้ไหวหรือ ทั้งนี้ ก็เป็นที่รู้ๆอยู่ว่า ตราบใดที่อัตราดอกเบี้ยระดับนานาชาติเป็นขาขึ้น ประเทศไทยน้อยๆของเราที่มีธนาคารชาติดูแลความมั่นคงด้านการเงินอยู่ จะกล้าคงอัตราดอกเบี้ยของเงินบาทให้ต่ำเท่านี้ไปอีกไม่ได้นานหรอก แล้วเมื่อนั้นบรรดาผู้ประกอบการระดับ SMEs จะลืมตาอ้าปากให้อยู่รอดได้อย่างไรกัน
ประการสุดท้าย การเพิ่มขึ้นของหนี้ของภาครัฐ หรือหนี้สาธารณะ ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ระดับประมาณ 59 % ของ GDP แล้ว และจะเกิน 60 % ภายในปลายปีนี้แน่นอน และในช่วงปี 2565 นับตั้งแต่ต้นปีไป รัฐบาลก็ยิ่งมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มจากวงเงินกู้ที่ได้ผ่านการอนุมัติจากสภาแล้ว ไม่ว่าการกู้จากยอดเงินกู้ชดเชยงบประมาณขาดดุล หรือยอดเงินกู้พิเศษตาม พ.ร.ก. ที่มี 2 ยอด วงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งจะต้องระดมกู้จากตลาดการเงินจากแหล่งในประเทศทั้งหมด โดยการออกพันธบัตรของรัฐบาลไปกู้จากสถาบันการเงินและกองทุนต่างๆ ในประเทศ หรือจากกองทุนต่างประเทศที่อยากลงทุนในตราสารหนี้ไทยเป็นเงินบาท
ในกรณีที่ประเทศไทยยังมีอนิจจังอีกมากในปีนี้ต่อไปถึงปีหน้าและปีโน้นหากอาการไข้ของประเทศยังไม่หมดไป ความกดดันเรื่องเงินกู้ของรัฐบาลซึ่งเป็นปัญหาการคลังของประเทศก็จะยิ่งทับทวีขึ้น การจะลดรายได้โน่นนี่เพื่อเอาใจประชาชน หรือจะลดภาษีน้ำมันลงลิตรละ 2 – 3 บาท ก็จะทำได้ยากเย็นยิ่งขึ้น เพราะกระทรวงการคลังเองก็รู้ตัวดี และได้แถลงออกมาชัดเจนแล้วว่า ปีงบประมาณ 2564 นี้ (สิ้นสุดเดือนกันยายน 2564) การจัดเก็บรายได้แผ่นดินผิดเป้าหรือต่ำกว่าเป้าถึง 15 % ซึ่งเป็นจำนวนที่มากเอาการอยู่ หันไปทางไหนก็หาที่เก็บรายได้เพิ่มไม่ได้ ตัวอย่างเช่น ภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ตอนหลังมีแต่เก็บได้น้อยลง คือปีงบประมาณ 2564 นี้ เก็บได้ 204 ล้านบาท ขณะที่ปี 2563 เก็บได้ 225 ล้านบาท เป็นต้น กล่าวได้ว่าภาวะการคลังของประเทศมีแต่ตายกับห่อเหี่ยวลงทุกวัน
สรุปแล้ว การเปลี่ยนแปลงในตัวปัจจัยพื้นฐานด้านเศรษฐกิจในโลกที่เกิดให้เห็นตั้งแต่ปลายไตรมาสแรกของปีนี้ นับตั้งแต่ราคาน้ำมันดิบที่โน้มสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อก็สูงขึ้น ค่าของเงินสกุลหลักที่แข็งขึ้น และอัตราดอกเบี้ยของสกุลเงินสำคัญที่ขยับเป็นขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปรากฏการณ์ขาขึ้นเหล่านี้ ประเทศไทยที่ยังไม่สร่างไข้คงปรับตัวตามไม่ได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่กลับจะต้องรับผลกระทบในทางลบต่อการฟื้นตัวอย่างแน่นอน
ก็ใคร่จะกระซิบดังๆให้รัฐบาลนี้และรัฐบาลหน้าที่ยังไม่รู้ว่าใครจะมาเป็นผู้นำ จะหนุ่มหรือแก่ไม่สำคัญ แต่อย่ามัวเตือนแต่ประชาชนให้ตั้งการ์ดสูงในเรื่องโควิด-19 อย่างเดียว ตัวรัฐบาลและคนของรัฐบาลก็จำเป็นต้องตั้งการ์ดให้สูงและรัดกุมไว้ในทุกเรื่องด้วย อย่าให้อาการไข้ทรุดไปกว่านี้อีกเลย.