วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightผู้ว่าธปท.ชี้ศก.ไทยกำลังหดตัวแนะปรับยกระดับเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ผู้ว่าธปท.ชี้ศก.ไทยกำลังหดตัวแนะปรับยกระดับเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ

ผู้ว่าฯแบงก์ชาติระบุโครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาการส่งออก ขณะที่บริบทของโลกเปลี่ยนไปแล้ว   หากไม่เร่งยกระดับเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ จะทำให้เศรษฐกิจไทยโตในอัตราที่ชะลอและหดตัวมากขึ้น

เมื่อวันที่ 18 พ.ย.64  ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย  กล่าวปาฐกถาพิเศษ งานสัมมนาออนไลน์ในโอกาสครบรอบ 40 ปี วารสารการเงินธนาคาร Thailand’s Next Move : Looking Beyond Covid-19 หัวข้อ “Looking Beyond Covid-19 : โจทย์ที่ท้าทายของเศรษฐกิจไทยหลังยุคโควิด 19” ว่า  ในช่วงทศวรรษ 1980 เรียกได้ว่าเป็น “ยุคทอง” ของเศรษฐกิจไทยขยายตัวสูงกว่า 10% ต่อปี โดย Growth story ของไทยที่ชัด คือ มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือ FDI  ในภาคการผลิตเพื่อส่งออก มีการลงทุนใน Eastern seaboard

โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ที่ส่งผลให้ FDI ของไทยโตมากกว่า 100% ต่อปี หรือมีมูลค่ากว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งในตอนนั้นมากกว่าเวียดนาม 500 เท่า ส่วนการส่งออก อยู่ที่ปีละมากกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญ มากกว่าเวียดนาม 10 เท่า

นอกจากนี้ ผลของ Plaza Accord ทำให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นมาก ญี่ปุ่นจึงย้ายฐานการผลิตมาไทย เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน อุตสาหกรรมยานยนต์จึงกลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญ และวิกฤตปี 40 ที่เงินบาทอ่อนค่าอย่างรุนแรง ทำให้การส่งออกในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และการท่องเที่ยว กลายมาเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย โดยเริ่มเห็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสองหลักหรือเพิ่มขึ้นเกิน 10 ล้านคนต่อปี

มาถึงวันนี้ 40 ปีผ่านไป โครงสร้างเศรษฐกิจไทยก็ยังคล้าย ๆ เดิม ยังพึ่งพาการส่งออกในภาคเศรษฐกิจเดิม ๆ คือ ยานยนต์ ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และการท่องเที่ยว ขณะที่บริบทของโลกกลับเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ทำให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของไทยอาจจะไม่แข็งแรงเหมือนเดิม เห็นได้จาก

หนึ่ง การส่งออก ปัจจุบันเวียดนามแซงไทยไปแล้ว โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวสูงกว่าไทย 6 เท่า และปีที่ผ่านมา ส่งออกได้มากกว่าไทยถึง 5 หมื่นล้านเหรียญ นอกจากนี้ การส่งออกของภาคอุตสาหกรรมไทย 60% ยังอยู่ในอุตสาหกรรมโลกเก่า ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ หรือ market capitalization ในปัจจุบัน ก็สะท้อนว่าธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมเกือบ 30% ยังอยู่ในหมวดพลังงาน เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร

นอกจากนี้ สินค้าไทยยังไม่ “eco-friendly” จึงอาจไม่เป็นที่ต้องการของตลาดที่เริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตัวอย่างเช่น รถยนต์สันดาปที่ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตจะถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ที่จะถูกกระทบจากกระแสการลด carbon ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 4 ของการส่งออกรวมของไทย

สอง FDI เวียดนามแซงหน้าไทยไปแล้วเช่นกันตั้งแต่ปี 57 และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา FDI ของเวียดนามสูงกว่าไทยเกือบ 2 เท่า โดย FDI ของไทยที่ลดลงนี้เป็นผลจากความน่าสนใจของไทยที่น้อยกว่าคู่แข่งในภูมิภาค ทั้งด้านต้นทุนและคุณภาพแรงงาน โครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงวัย รวมถึงสิทธิประโยชน์ทางการค้า และ

สาม ภาคการท่องเที่ยว มีโอกาสต้องใช้เวลานาน ที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับไปเท่ากับช่วงก่อนโควิดที่ 40 ล้านคน เพราะพฤติกรรมนักท่องเที่ยวหลังโควิดจะเน้นเรื่องสุขภาพและสุขอนามัย ทำให้นิยมเที่ยวกลุ่มเล็ก รวมทั้งจะใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้น

ดังนั้น การจะหวังพึ่งรายได้การท่องเที่ยวที่มาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สูงย่อมเป็นไปได้ยาก อีกทั้งยังจะก่อให้เกิดปัญหาเรื่อง over-tourism ซึ่งล่าสุด จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันในภาคการท่องเที่ยวของ World Economic Forum ด้านสิ่งแวดล้อม ไทยอยู่ในอันดับที่ 130 จาก 140 ซึ่งสะท้อนผลกระทบที่ชัดเจนจากรูปแบบการท่องเที่ยวเดิม ๆ ในช่วงที่ผ่านมา

ดังนั้น หากไม่เร่งยกระดับเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจเหล่านี้ เราอาจเห็นเศรษฐกิจไทยโตในอัตราที่ชะลอลงเรื่อย ๆ ลองคิดง่าย ๆ ว่า  GDP หรือผลผลิตโดยรวมของประเทศมาจากอะไร ก็มาจากจำนวนแรงงานที่เรามีคูณด้วยผลผลิตของแรงงานนั้นๆ

ถ้าเราดูอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจะมาจากอัตราการเติบโตของแรงงานที่เรามีบวกกับอัตราการเติบโตของผลผลิตของแรงงานนั้น หรือที่เรียกกันว่า labor productivity ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา Labor productivity โตปีละประมาณ 4% แต่ถ้ามองไปใน 10-20 ปีข้างหน้า จำนวนแรงงานของไทยจะลดลงมาเป็นปีละ -1%

หากเราไม่ปรับในเรื่องของประสิทธิภาพแรงงานให้เพิ่มขึ้น ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะเหลือเพียงปีละ 3% ก็คือ -1% บวก 4% และแนวโน้มมองไปข้างหน้า ถ้าไม่มีการลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงานต่างๆ ขณะที่สังคมยิ่งเข้าสู่สังคมสูงวัยไปเรื่อยๆ ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย จะยิ่งชะลอตัวลงจากจำนวนแรงงานจะหดตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img