รฟท.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน 14 ธ.ค.ภายใต้หัวข้ออนาคตสถานีหัวลำโพง ประวัติศาสตร์คู่การพัฒนา ยันไม่มีวาระซ่อนเร้น ยึดญี่ปุ่นเป็นต้นแบบการพัฒนารถไฟไทย
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในวัน14 ธ.ค.การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)จะจัดให้มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน(เฮียริ่ง) หัวข้อ “อนาคตสถานีหัวลำโพง ประวัติศาสตร์คู่การพัฒนา”เวลา 14.00น.เพื่อเปิดกว้างให้ผู้ที่สนใจเข้ามาแสดงความคิดเห็นร่วมกัน หากผลออกมาอย่างไร กระทรวงคมนาคมก็จะนำผลการรับฟังความคิดเห็นมาพิจารณาร่วมกัน
ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่มีการทุบสถานีรถไฟหัวลำโพงอย่างเด็ดขาด ส่วนรูปแบบการพัฒนาสถานีรถไฟหัวลำโพงต้องบอกว่าเป็นแนวที่ทางบริษัทลูกของ รฟท. คือ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัดเป็นผู้เสนอแนวคิด
ซึ่งแนวทางการพัฒนาก็ไม่ได้มีการพัฒนาที่สถานีรถไฟหัวลำโพง แห่งเดียว ยังมีพื้นที่ของ รฟท. อีกหลายแปลงที่จะนำมาพัฒนาเช่น พื้นที่ อาร์ซีเอ ,คลองตัน, ศิริราช,บางซื่อ และ หัวหิน เป็นต้น และหากมีการพัฒนาก็ไม่ทิ้งประวัติศาสตร์เดิมยังคงอยู่ แต่เป็นการบริหารพื้นที่ที่มีศักยภาพเท่านั้น เช่น ตัวแบบพื้นที่ของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีการพัฒนาที่ดินเป็นคอมเพล็กซ์ และสร้างรายได้ให้กับจุฬาลงกรณ์
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาก็มีต้นแบบมาจากประเทศญี่น ที่แต่ก่อนรถไฟญี่ปุ่นก็ขาดทุนเหมือนรถไฟบ้านเรา แต่มา ณ วันนี้สามารถแก้ไขปัญหาการขาดทุนและกลับมามีกำไร แถมยังมาลงทุนในบ้านเรา ซึ่งตรงนี้ก็เป็นต้นแบบที่ทำให้เห็นว่า รฟท. สามารถกลับมายืนอยู่ได้แบบยั่งยืน และ ไม่ประสบปัญหาขาดทุนอย่างที่เป็นอยู่
ส่วนการแสดงความคิดเห็นในวันพรุ่งนี้ยืนยันว่า ไม่มีวาระซ่อนเร้นอย่างแน่นอน เป็นการแสดงความคิดเห็นที่เปิดกว้าง หากแสดงความคิดเห็นยังไม่จุใจก็สามารถเปิดใหม่ได้ ต้องบอกว่าสถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นสมบัติของประเทศ ไม่ได้เป็นสมบัติของใคร ขออภัยที่ผ่านมาอาจนำเสนอหวือหวาไปหน่อย ทำให้เกิดข้อสงสัย ยืนยันว่าการพัฒนาเป็นแค่เพียงแนวคิด รัฐบาลนี้ไม่ได้เริ่มทำแน่ แค่เป็นการวางกรอบไว้
สำหรับ การระดมความคิดเห็นจะไม่เกี่ยวกับกำหนดเวลาที่ รฟท. จะให้รถไฟที่วิ่งให้บริการจาก118ขบวน เหลือเพียง ให้รถไฟจำนวน 22 ขบวนเข้าสถานีรถไฟหัวลำโพง เพราะเมื่อถึงวันที่ 23 ธ.ค. รถไฟจำนวน 22ขบวนก็จะยังวิ่งเข้าสถานีหัวลำโพงเช่นเดิม อย่างไรก็ตามได้ให้ กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ไปพิจารณาถึงผลกระทบเกี่ยวกับจราจรทางบก ให้น้อยที่สุด